อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
(การวิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล: Business Analytics and Data Science)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
หลายสัปดาห์ก่อนคณาจารย์ด้านทางคณิตศาสตร์ สถิติศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมศาสตร์แห่งโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า หรือ โรงเรียนนายร้อย จปร. จำนวน 4 ท่านได้กรุณามานัดพบกับผมที่ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพ เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอนและการวิจัยด้านวิทยาการข้อมูล (Data Science) และข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และผมได้ไปช่วยสอนซึ่งอันที่จริงเป็นการไปแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้กับคณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถสูงมากจำนวน 10 กว่าท่านที่เขาชะโงก จังหวัดนครนายก
ผมมีความดีใจว่า คณาจารย์เหล่านี้มีความมุ่งหมายที่จะปรับปรุงหลักสูตรของโรงเรียนนายร้อย จปร. ให้มีการเรียนการสอนด้านวิทยาการข้อมูล โดยเฉพาะการเรียนการสอนทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนนายร้อย จปร. ซึ่งเป็นสาขาวิชาเอก ทำให้ผมทราบว่า โรงเรียนนายร้อยมีสอนถึงแปดสาขาวิชาเอกคือ 1. วิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร 2. วิศวกรรมโยธา 3. วิศวกรรมแผนที่ 4. วิศวกรรมอุตสาหการ 5.วิศวกรรมเครื่องกล 6. สังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา 7. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ 8. วิทยาการคอมพิวเตอร์
แม้จะมีจำนวนอาจารย์ไม่มากนักเพียงสิบกว่าท่านแต่ก็เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถสูงยิ่ง เป็นนายทหารนักวิชาการรุ่นใหม่ที่อยากพัฒนาและนำความรู้ด้านวิทยาการข้อมูลไปพัฒนากองทัพและพัฒนานักเรียนนายร้อยให้จบออกไปทำงานให้กองทัพอย่างมีคุณภาพ ที่ทำให้ดีใจมากคือผมมีความเชื่อว่าสิ่งยิ่งใหญ่ในโลกนี้ล้วนมาจากการเริ่มต้นของคนไม่กี่คนที่ร่วมแรงร่วมใจเป็นอันหนึ่งเดียวกันเช่นนี้
เราพูดถึง ประเทศไทย 4.0 แล้วกองทัพ 4.0 จะมีเทคโนโลยีอะไร อะไรที่ทำเองได้บ้าง พัฒนาวิจัยเอง ไม่ต้องซื้อ หรือทำให้ดีๆ จะทำขายได้หรือไม่?
Data Science นั้นเป็นสหวิทยาการทางด้าน 1. คณิตศาสตร์และสถิติศาสตร์ 2. วิทยาการคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ และ 3. ความรู้ในเนื้อหาสาขาวิชานั้นๆ ที่นำข้อมูลมาวิเคราะห์และสร้างองค์ความรู้ให้นำไปใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ (Actionable knowledge)
ยิ่งโลกสมัยนี้มีข้อมูลใหญ่ (Big Data) ที่มี
1. Volume มีขนาดใหญ่มาก (ซึ่งจริงๆ ไม่สำคัญมากนัก แก้ปัญหาได้ไม่ยาก เพราะคอมพิวเตอร์ทำงานได้ไวและกระจายกันคำนวณได้ไม่ยาก)
2. Velocity มีความเร็วในการไหลเข้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Things) และ Sensor ต่างๆ ตลอดจน Barcode Scanner แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้ท้าทายมากเท่าไหร่
3. Variety ความหลากหลายของข้อมูล ซึ่งสมัยนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะข้อมูลไม่ได้มีเพียงตัวเลขและตาราง มีทั้งข้อความ ภาพ วีดิโอ เสียง คลื่น สื่อสังคม และต่อไปในอนาคตคงมีความซับซ้อนยากมากขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ซึ่งในทางการทหารนั้น ต้องใช้ข้อมูลทุกรูปแบบที่กล่าวถึงนี้
4. Veracity ข้อมูลที่เข้ามามีคุณภาพและความถูกต้องหรือไม่ ยิ่งข้อมูลมาจากหลายๆ แหล่งก็ยากลำบากยิ่ง และ
5. Value ต้องดูว่าข้อมูลที่มีอยู่นั้นมันมีคุณค่ามากน้อยแค่ไหน และจะนำมาวิเคราะห์เพื่อสร้างคุณค่า เป็นความรู้ เป็นนวัตกรรมได้ดีมากน้อยเพียงใด
ถ้าเรานำ 1. คณิตศาสตร์และสถิติศาสตร์ + 2. วิทยาการคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ + 3. ความรู้ในด้านบริหารธุรกิจ ก็จะเกิด สาขาวิชาปัญญาและการวิเคราะห์ธุรกิจ (Business Analytics and Intelligence)
ถ้าเรานำ 1. คณิตศาสตร์และสถิติศาสตร์ + 2. วิทยาการคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ + 3. ความรู้ในด้านชีววิทยา ก็จะเกิดสาขาวิชาชีวสารสนเทศศาสตร์ (Bioinformatics)
คำถามคือ ถ้าเรานำ 1. คณิตศาสตร์และสถิติศาสตร์ + 2. วิทยาการคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ + 3. วิทยาการทหาร (Military sciences) ซึ่งโดยเนื้อแท้ก็เป็นการบูรณาการสหวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในทางการทหารและการรบแล้วจะเกิดสาขาวิชาอะไร ผมเสนอว่าน่าจะเกิดสาขาวิชา Military data science หรือ วิทยาการข้อมูลทางการทหาร ได้
วิทยาการข้อมูลทางการทหาร มีขอบข่ายที่กว้างขวางมาก ตั้งแต่
อาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหญ่ ล้วนแล้วแต่ใช้คอมพิวเตอร์ มีข้อมูลมากมายที่ต้องใช้ในทางการทหาร การตรวจจับความผิดปกติ (Anomaly detection)
ความเคลื่อนไหวของรถยนต์หรือคนที่มีการเคลื่อนไหวผิดปกติมีพิรุธ ต้องอาศัยศาสตร์ที่เรียกว่า image and video analytics ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาการข้อมูล
การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่-เวลา (Spatio-temporal data analysis) ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์สมรภูมิรบ
Internet of Things และ sensor ต่างๆ ล้วนนำมาซึ่งข้อมูลและหากนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ได้จะเป็นประโยชน์ทางการทหารอย่างยิ่ง
การวิเคราะห์ข้อมูลทางเครือข่ายสังคม (Social network analysis) โดยเฉพาะการวิเคราะห์ข้อความและการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Text analytics and natural language processing) น่าจะเอามาใช้ในการข่าว เช่น การศึกษาการเผยแพร่ข่าวลือหรือการเผยแพร่สารที่ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ หรือหากจะนำมาใช้ศึกษาเส้นทางการติดต่อสื่อสารของผู้ก่อการร้ายก็น่าจะมีความเป็นไปได้เช่นกัน
ข้อมูลกำลังพลจากฐานข้อมูลมโหรี หากนำมาวิเคราะห์ด้วย Human resource analytics ก็น่าจะช่วยในการวางแผนกำลังพลและการสืบทอดตำแหน่ง (Succession planning) ได้อีกเช่นกัน
เราอาจจะสามารถนำ Facial recognition มาใช้วิเคราะห์ใบหน้าของผู้ที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้ก่อการร้ายและเทียบกับฐานข้อมูลใบหน้าของผู้ก่อการร้ายได้
เราสามารถติดตั้ง sensor ที่อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ซึ่งมีการใช้งาน หากพบการสั่นหรือความร้อนผิดปกติก็สร้างแบบจำลองการอยู่รอดเพื่อใช้ในการบำรุงรักษายุทโธปกรณ์ในเชิงทำนายที่เรียกว่า Predictive maintenance ได้เป็นต้น
เราสามารถนำความรู้ทางวิทยาการข้อมูล มาศึกษาวิเคราะห์ความคิดของประชาชนได้ ซึ่งหากทำได้ดีจะช่วยให้กิจการพลเรือนและปฏิบัติการทางจิตวิทยา (Psychological operations) ทำได้ดีมากขึ้น
แท้จริงแล้วงานด้านวิทยาการข้อมูลทางการทหาร เป็นงานเสนาธิการ (Strategist) แต่เป็นเสนาธิการที่ไม่ได้นำเสนอยุทธศาสตร์หรือ Quick win จากความรู้สึกส่วนตัวหรือการวิเคราะห์โดยสัญชาตญาณ หากแต่เป็นการวิเคราะห์เพื่อประเมินยุทธศาสตร์มาจากข้อมูลจริง ที่ต้องอาศัยวิทยาการคอมพิวเตอร์ สถิติศาสตร์ คณิตศาสตร์และความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ มาประกอบกัน เป็นการสร้างความรู้ที่นำไปปฏิบัติได้จริง (Actionable knowledge) จากข้อมูลต่างๆ ของกองทัพไทย จะช่วยให้กองทัพมีความทันสมัย ถ้ามีความสามารถสูงมากก็อาจจะสามารถสร้างอาวุธหรืออย่างน้อยซ่อมแซมบำรุงรักษาอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เองในระดับหนึ่งซึ่งจะช่วยทำให้ประหยัดงบประมาณของทางราชการไปได้ และทำให้กองทัพมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผมยังจะไปสอนและแลกเปลี่ยนความรู้กับคณาจารย์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าไปเรื่อยๆ และเชื่อว่าในไม่ช้าน่าจะมีการเรียนการสอนด้านนี้ในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าต่อไปในอนาคต
—————————————————————————-
ที่มา : MGR Online /
Link : https://mgronline.com/daily/detail/9610000012557