เฮอร์มาน คลีเมนโค ที่ปรึกษาคนสำคัญด้านไอทีของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน พูดเมื่อเร็วๆ นี้ว่า รัสเซียสามารถตัดขาดตัวเองออกจากอินเทอร์เน็ตระดับโลกในเวลาเกิดสงคราม รวมทั้งยังกำลังสร้างระบบชื่อโดเมนแบบทางเลือกขึ้นมา
ที่ปรึกษาระดับท็อปทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน พูดชี้เอาไว้ระหว่างการให้สัมภาษณ์คราวหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ว่า รัสเซียนั้นสามารถที่จะตัดขาดตัวเองออกจากอินเทอร์เน็ตระดับโลกได้ในเวลาที่เกิดสงคราม ทั้งนี้เพื่อลดทอนจำกัดจุดอ่อนเปราะบางที่อาจจะถูกฝ่ายตะวันตกเจาะเล่นงาน
“ในทางเทคนิคแล้ว เวลานี้เราพรักพร้อมอยู่แล้วสำหรับการลงมือปฏิบัติการ” รายงานข่าวอ้างคำพูดของที่ปรึกษาผู้มีนามว่า เฮอร์มาน คลีเมนโค (Herman Klimenko) ซึ่งบอกกับสถานีโทรทัศน์ “เอ็นทีวี” (NTV) ของรัสเซียเมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา แต่คลีเมนโคก็กล่าวด้วยว่า ความเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าว แม้กระทั่งว่ายังไม่ถึงขั้นที่มีการปฏิบัติการในเชิงเป็นปรปักษ์ใดๆ ก็ใช่ว่าจะไม่สร้างความเจ็บปวดบาดแผลให้แก่รัสเซีย –ตรงนี้ดูเหมือนเป็นการพูดพาดพิงมุ่งแสดงให้เห็นว่า แดนหมีขาวต้องพึ่งพิงอาศัยการต่อเชื่อมต่างๆ กับอินเทอร์เน็ตระดับโลกถึงขนาดไหน
“ดีเฟนซ์ วัน” (Defense One) เว็บไซต์ของกองทัพสหรัฐฯ คือผู้ที่เขียนถึงเรื่องนี้เอาไว้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.defenseone.com/technology/2018/03/if-war-comes-russia-could-disconnect-internet-yes-entire-country/146572/?oref=d-skybox) โดยบอกด้วยว่า มอสโกกำลังทำงานกันง่วนในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อแสวงหาวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้กองทัพของตนสามารถที่จะพึ่งพาอาศัยเฉพาะเครือข่ายออนไลน์ภายในเท่านั้นในระหว่างที่เกิดสงคราม กล่าวกันว่าความพยายามเช่นนี้กำลังถูกนำมาขยายให้กลายเป็นแรงผลักดันในแวดวงกว้างขวางใหญ่โตยิ่งขึ้นมาก เพื่อทำให้รัฐบาลรัสเซียและภาคประชาสังคมของรัสเซียสามารถตัดขาดในทางดิจิตอลจากลิงก์อินเตอร์เน็ตภายนอกทั้งหลาย หากเมื่อถึงเวลาที่เกิดความจำเป็นต้องทำเช่นนั้น
“ในปี 2016 รัฐบาลรัสเซียเริ่มต้นการใช้งาน ‘Closed Data Transfer Segment’ (ภาคส่วนการถ่ายทอดข้อมูลแบบปิด) ซึ่งก็คือ วงอินทราเน็ตภายในสำหรับกองทัพและเจ้าหน้าที่อื่นๆ คลีเมนโคดูเหมือนพูดชี้เอาไว้ว่า ภาคส่วนแบบปิดนี้แหละ สามารถรับมือกับการรับส่งข้อมูลของฝ่ายอื่นๆ ของประเทศได้ด้วย” เว็บไซต์ ดีเฟนซ์ วัน เขียนเอาไว้เช่นนี้
เมื่อเปรียบเทียบกับจีนซึ่งได้สร้าง “มหากำแพงไฟร์วอลล์” (Great Firewall) เพื่อทำหน้าที่กรองและจัดระเบียบการรับส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตภายในประเทศของตนแล้ว รัสเซียก็ถือว่าเปิดกว้างยิ่งกว่ากันหนักหนาในเรื่องการเชื่อมต่อเข้ากับเวิลด์ไวด์เว็บ ทว่าดีเฟนซ์ วัน บอกว่า เท่าที่ผ่านมามอสโกมีการเน้นหนักให้ความสนใจเกี่ยวกับวิธีการในการจำกัดลดทอนขอบเขตของการที่ประเทศต้องพึ่งพาอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศของต่างชาติ
มาตรการหนึ่งที่แดนหมีขาวใช้อยู่ก็คือ เลือกที่จะใช้ระบบปฏิบัติการที่อิงอยู่กับระบบลีนุกซ์ (Linux-based operating system) เพื่อตัดทอนการพึ่งพิงอาศัยผลิตภัณฑ์ของบริษัทไมโครซอฟท์ที่ทำในสหรัฐฯ รัสเซียยังได้แถลงเมื่อปีที่แล้วว่า กำลังสร้างระบบชื่อโดเมนแบบทางเลือก (alternative Domain Name System) ขึ้นมาต่างหาก สำหรับไว้ใช้ในกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS มาจากอักษรตัวแรกของชื่อประเทศ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน, แอฟริกาใต้ พวกประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่)
ตัวปูตินเองยังเคยออกมาพูดในที่สาธารณะโดยชี้ให้เห็นว่า อินเทอร์เน็ตนั้น คือโครงการหนึ่งของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (US Central Intelligence Agency หรือ CIA) ทั้งนี้ เครือข่าย “อาร์ปาเน็ต” (ARPANET) ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าคือต้นแบบ (โปรโตไทป์) ของอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันนั้น ถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาโดยสำนักงานโครงการวิจัยขั้นก้าวหน้าด้านกลาโหม (Defense Advanced Research Projects Agency หรือDARPA) ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ในระหว่างยุคสงครามเย็น (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.darpa.mil/about-us/timeline/arpanet)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Russia could disconnect from global Internet in event of war: Putin adviser
By Asia Times staff
13/03/2018
—————————————————
Link : https://mgronline.com/around/detail/9610000025434