นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ของสหราชอาณาจักร เผยต่อที่ประชุมสภาสามัญชนว่า กรณีที่นายเซอร์เก สกริปาล อดีตสายลับรัสเซียและบุตรสาวถูกลอบทำร้ายด้วยสารพิษนั้น ผลการตรวจสอบชี้ว่าสารเคมีดังกล่าวคือสารพิษทำลายประสาทกลุ่ม “โนวีชอก” (Novichok) ที่คิดค้นโดยสหภาพโซเวียต ซึ่งปกติแล้วจะถูกนำไปใช้เป็นอาวุธเคมี
การที่สารพิษดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับรัสเซีย ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่ผู้บงการใช้สารพิษลอบสังหารอดีตสายลับจะเป็นทางการรัสเซียเอง ซึ่งรัฐบาลสหราชอาณาจักรกำลังเรียกร้องให้รัสเซียชี้แจงภายในวันนี้ (13 มี.ค.) มิฉะนั้นจะถือว่ารัสเซียได้ “ใช้กำลังโดยผิดกฎหมาย” ในดินแดนของอังกฤษ ซึ่งทำให้ชีวิตของพลเรือนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากต้องตกอยู่ในอันตรายไปด้วย
ชื่อของสารพิษทำลายประสาท “โนวีชอก” มีความหมายว่า “ผู้มาใหม่” หรือ “เด็กใหม่” ในภาษารัสเซีย เป็นสารพิษกลุ่มที่พัฒนาขึ้นระหว่างช่วงทศวรรษ 1970-1980 เพื่อใช้งานเป็นอาวุธเคมี “รุ่นที่ 4”
ในปี 1999 เจ้าหน้าที่จากสหรัฐฯได้ค้นพบสารพิษนี้จำนวนหนึ่งในอุซเบกิสถาน ขณะเข้าตรวจสอบและทำลายโรงงานผลิตอาวุธเคมีที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสหภาพโซเวียต ทำให้พบว่าสารพิษกลุ่มโนวีชอกนั้นได้รับการออกแบบคิดค้นมาเพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติตรวจพบร่องรอยได้โดยง่าย
สารพิษตัวหนึ่งในกลุ่มนี้คือโนวีชอก เอ-230 (Novichok-A-230) มีความเป็นพิษรุนแรงยิ่งกว่าก๊าซพิษซารินและสารพิษทำลายประสาทวีเอ็กซ์ (VX nerve agent) ที่ใช้ลอบสังหารพี่ชายต่างมารดาของนายคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือราว 5-8 เท่า ทั้งยังเป็นสารเคมีที่ซับซ้อนยากต่อการพิสูจน์บ่งชี้หลังการใช้งานว่าเป็นสารชนิดใดกันแน่อีกด้วย
มีรายงานว่ารัสเซียได้ผลิตสารพิษโนวีชอก เอ-230 ในรูปแบบใหม่ออกมาอีก 2-3 ชนิดด้วยกัน โดยหนึ่งในจำนวนนั้นกองทัพรัสเซียได้อนุมัติให้ใช้งานเป็นอาวุธเคมีได้แล้ว
แม้สารพิษทำลายประสาทโนวีชอกส่วนใหญ่จะเป็นของเหลว แต่ก็มีบางชนิดที่อยู่ในรูปของแข็งและสามารถแปรรูปเป็นผงละเอียดเพื่อใช้โปรยหรือแพร่กระจายในอากาศได้ บางประเภทอยู่ในรูปของสารตั้งต้น 2 ชนิดที่มีพิษไม่ร้ายแรงนัก แต่เมื่อผสมกันเข้าก็จะทำปฏิกิริยากลายเป็นสารทำลายประสาทที่มีอันตรายถึงชีวิตในทันที ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้คนร้ายพกพาและซุกซ่อนอาวุธเคมีได้โดยสะดวก
ศาสตราจารย์แกรี่ สตีเฟนส์ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเรดดิงของสหราชอาณาจักรชี้ว่า “ผู้ลงมือลอบสังหารเจาะจงใช้วิธีการนี้ เพราะสารตั้งต้น 2 ชนิดนั้นเป็นสารเคมีที่ไม่อยู่ในบัญชีต้องห้าม ทำให้แจกจ่ายเคลื่อนย้ายได้ง่าย ทั้งยังไม่เป็นอันตรายต่อตัวผู้นำส่งและพกพาอีกด้วย”
ทำอย่างไรเมื่อถูกสารพิษ ?
หากสารพิษโนวีชอกสัมผัสผิวหนังหรือมีการสูดดมเข้าไปในร่างกาย เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจะมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 30 วินาที – 2 นาที แต่ถ้าสัมผัสกับสารชนิดที่เป็นผงแป้ง อาการของพิษที่เป็นระบบอาจเกิดขึ้นช้ากว่า โดยในบางรายผู้ป่วยแสดงอาการหลังสัมผัสกับสารพิษไปแล้วถึง 18 ชั่วโมง
ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าอาการของพิษจากสารกลุ่มโนวีชอกนั้น น่าจะเหมือนกับสารพิษทำลายประสาททั่วไป ซึ่งสารเคมีจะไปปิดกั้นการสื่อสารระหว่างระบบประสาทกับกล้ามเนื้อ ทำให้ระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายล้มเหลว รูม่านตาหดเล็ก ชักกระตุก น้ำลายยืด รวมทั้งเกิดอาการขั้นโคม่าเช่นระบบการหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด
อย่างไรก็ตาม สารพิษในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะทำให้หัวใจเต้นช้าลงและทางเดินหายใจถูกปิดกั้น จนเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิตจากการขาดอากาศ สารกลุ่มโนวีชอกบางตัวยังถูกคิดค้นมาให้มีฤทธิ์ต้านทานยาแก้พิษที่ใช้กับสารทำลายประสาทตัวอื่น ๆ อีกด้วย
สำหรับการปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่ถูกสารพิษนี้ เจ้าหน้าที่ซึ่งสวมเครื่องป้องกันจะถอดเสื้อผ้าของผู้ป่วยออก แล้วชำระล้างร่างกายด้วยสบู่และน้ำรวมทั้งล้างตาของผู้ป่วยด้วยน้ำเปล่า ก่อนที่จะให้ออกซิเจนช่วยหายใจต่อไป
เกิดอะไรขึ้นหากร่างกายได้รับสารพิษทำลายประสาท ?
สมอง: ชักกระตุก หมดสติ และมีอาการโคม่า
ตา: รูม่านตาหดเล็กลง
ปอด: หายใจเป็นเสียงหวีดแหลม หายใจไม่ออก มีการหลั่งของเหลวในปอดมาก
หัวใจ: ความดันโลหิตสูงและหัวใจเต้นเร็วในตอนแรก แต่ภายหลังความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจจะลดต่ำลง
ระบบทางเดินอาหาร: คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง
ผิวหนัง: เหงื่อออกมาก
การเสียชีวิต: ผู้ได้รับสารพิษจะเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจหรือภาวะหัวใจหยุดเต้น (Cardiac arrest)
——————————————————————–
ที่มา : BBC thai / 13 มีนาคม 2561
Link : http://www.bbc.com/thai/international-43382476?ocid=wsthai.chat-apps.in-app-msg.line.trial.link1_.auin