รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ ระบุว่าต้องการเริ่มเก็บข้อมูลประวัติการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของเกือบทุกคนที่จะขอวีซ่าเข้าสหรัฐฯ
ข้อเสนอที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อาจทำให้ผู้ที่จะยื่นขอวีซ่า ต้องให้รายละเอียดเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ส่วนตัว โดยต้องระบุบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ทุกอย่างที่เคยใช้ย้อนหลังในระยะเวลาห้าปี ซึ่งข้อเสนอนี้ อาจทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบราว 14.7 ล้านคนต่อปี
ข้อมูลที่ได้ จะถูกนำไปใช้ระบุตัวบุคคลและตรวจสอบผู้ที่ยื่นขอวีซ่าทั้งระยะยาวและระยะสั้น นอกจากนี้ ผู้ยื่นคำร้องจะถูกถามประวัติหมายเลขโทรศัพท์ อีเมล และการเดินทางย้อนหลังห้าปี รวมถึงต้องตอบคำถามว่าเคยถูกเนรเทศออกจากประเทศใดหรือไม่ และมีญาติเคยเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือไม่
ข้อเสนอนี้จะเป็นภาระเพิ่มเติมกับผู้เดินทางจากประเทศที่ไม่มีข้อตกลงยกเว้นวีซ่าเข้าสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบกับผู้ที่เป็นพลเมืองจากประเทศซึ่งมีข้อตกลงยกเว้นวีซ่าเข้าสหรัฐฯ อยู่แล้ว เช่น สหราชอาณาจักร แคนาดา ฝรั่งเศส และเยอรมนี แต่พลเมืองของประเทศที่ไม่มีข้อตกลงยกเว้นวีซ่าอย่าง อินเดีย จีน เม็กซิโก (และไทย) อาจต้องเผชิญกับความยุ่งยากในการเดินทางเข้าสหรัฐฯ ทั้งเพื่อท่องเที่ยวและทำงาน
จุดยืนในการขอข้อมูลสื่อสังคมออนไลน์
ภายใต้กฎที่มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่าเจ้าหน้าที่จะขอข้อมูลสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ยื่นคำร้อง เฉพาะแต่ในกรณีที่เห็นว่า “ข้อมูลเหล่านี้จำเป็นต่อการยืนยันตัวบุคคล หรือเพื่อตรวจสอบอย่างเข้มงวดด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงแห่งชาติ“
ทั้งนี้ ข้อเสนอที่เข้มงวดขึ้นออกมาหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ สัญญาจะใช้ “มาตรการตรวจสอบที่เข้มงวดมาก” กับชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้าสหรัฐฯ โดยอ้างเหตุผลเรื่องต่อต้านการก่อการร้าย
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ รายงานถ้อยคำในแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ว่า “การรักษามาตรฐานการคัดกรองที่แข็งแกร่งสำหรับการยื่นขอวีซ่า เป็นสิ่งที่ต้องปรับให้ทันกับความเสี่ยงรูปแบบใหม่“
การตัดสินใจบังคับใช้
การบังคับใช้ข้อเสนอใหม่นี้ ขึ้นอยู่กับการขออนุมัติจากสำนักงานบริหารและงบประมาณ โดยสาธารณชนจะมีเวลาออกความเห็นสองเดือนก่อนที่จะมีการตัดสินใจ
ผลกระทบด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
กลุ่มรณรงค์เพื่อเสรีภาพพลเมืองประณามนโยบายดังกล่าวว่า ล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัว ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
นางฮีนา ชัมซี จากสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกันกล่าวว่า “ตอนนี้ประชาชนจะต้องสงสัยว่าสิ่งที่ออกความเห็นออนไลน์ จะถูกนำไปตีความผิดหรือเข้าใจผิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่” และ “เรายังเป็นห่วงว่ารัฐบาลทรัมป์ ให้คำจำกัดความ ‘กิจกรรมของผู้ก่อการร้าย‘ เอาไว้กว้างเกินไป โดยมีนัยทางการเมืองและอาจถูกนำมาใช้เลือกปฏิบัติกับคนเข้าเมืองที่ไม่ได้ทำอะไรผิด“
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า นอกจากเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์แล้ว สื่อสังคมออนไลน์ที่ข้อเสนอดังกล่าวครอบคลุม ยังรวมถึงบริการของเอกชนสหรัฐฯ รายอื่นอย่าง อินสตาแกรม ลิงค์อิน เรดดิท ยูทิวบ์ และสื่อสังคมออนไลน์ของต่างชาติ เช่น เว่ยป๋อของจีน และวีเคของรัสเซีย
————————————————————————————–
ที่มา : BBC Thai / วันที่ 31 มี.ค. 2561
ลิงก์ : http://www.bbc.com/thai/international-43603763?ocid=wsthai.chat-apps.in-app-msg.line.trial.link1_.auin