ในขณะที่ราคาหุ้นของเฟซบุ๊กกำลังตกลงอย่างต่อเนื่อง และแฮชแทก #DeleteFacebook หรือ #ลบเฟซบุ๊ก กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในทวิตเตอร์ขณะนี้ คำถามสำหรับผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายคนคือ ข้อมูลส่วนตัวของเราถูกใครเอาไปใช้บ้าง และเราสามารถทวงคืนมันกลับมาได้หรือเปล่า?
คำถามนี้เกิดขึ้นจากกรณีข้อกล่าวหาที่ว่าบริษัทที่ปรึกษาด้านการเมือง เคมบริดจ์ อนาลิติกา (Cambridge Analytica) นำข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 50 ล้านคนไปใช้ และล่าสุดคณะกรรมาธิการสอบข้อเท็จจริงของสภาสามัญชนของอังกฤษ ก็ได้เรียกตัว มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอเฟซบุ๊ก เข้าให้ปากคำ
สำหรับเฟซบุ๊กแล้ว ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เป็นสิ่งจูงใจให้บริษัทต่าง ๆ เข้ามาซื้อโฆษณา และเป็นที่รู้กันดีว่าเฟซบุ๊กสามารถเข้าใจตัวตนและสร้างโปรไฟล์ของผู้ใช้ขึ้นมาอย่างละเอียดลึกซึ้งผ่านการกดไลค์ การกดอันไลค์ ดูรูปแบบการใช้ชีวิต และความคิดทางการเมือง ของผู้ใช้
และด้วยเหตุนี้ คำถามที่สำคัญก็คือ เฟซบุ๊กได้ให้ข้อมูลเหล่านี้ไปกับใครบ้าง และเราจะทวงคืนข้อมูลส่วนตัวเรากลับมาได้หรือไม่
มาลองทดสอบไอคิวของคุณกัน
เราหลายคนอาจเคยเล่น ควิซ หรือ แบบทดสอบบนเฟซบุ๊ก อาจจะเป็นทดสอบบุคลิกส่วนตัวคุณ หรือไม่ก็วัดระดับสติปัญญาหรือไอคิว และแบบทดสอบที่กำลังเป็นที่ถกเถียงอยู่ในขณะนี้คือแบบทดสอบที่ชื่อ This is Your Digital Life โดยบริษัทเคมบริดจ์ อนาลิติกา ถูกกล่าวหาว่าได้ใช้แบบทดสอบนี้เพื่อดึงข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายล้านคนไปใช้เพื่อชักจูงผลโหวตการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2016
แบบทดสอบเหล่านี้พยายามเชื้อเชิญให้ผู้ใช้เข้าไปทดลองเล่น โดยยืนยันว่าจะมีความปลอดภัยในเรื่องข้อมูล แตส่วนใหญ่แล้วบริษัทเหล่านั้นก็สามารถนำข้อมูลไปใช้ได้เท่าที่เงื่อนไขและกฎเกณฑ์ของเฟซบุ๊กอนุญาต
ในช่วงที่ผ่านมา เฟซบุ๊กได้ปรับเปลี่ยนเงี่อนไขเพื่อลดจำนวนข้อมูลที่บริษัทเจ้าของแอปพลิเคชันเหล่านั้นสามารถนำไปใช้ได้แค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลของเพื่อน ๆ ของผู้ใช้อีกทอดหนึ่งได้
ในกรณีของเคมบริดจ์ อนาลิติกา ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่นี้ คณะกรรมาธิการด้านสารสนเทศสหราชอาณาจักร กำลังสอบสวนอยู่ว่าบริษัทดึงข้อมูลผู้ใช้ไปได้มากน้อยเพียงใด
เราจะรักษาข้อมูลส่วนตัวได้อย่างไร?
1. เข้าเฟซบุ๊กของคุณและเข้าไปที่หน้า “App”
2. กด “edit” ที่อยู่ข้างใต้ “Apps”, “Websites”, และ “Plugins”
3. กด “Disable Platform” หรือ “ยกเลิก” การเข้าถึงแอปพลิเคชัน เกมส์ และเว็บไซต์ ในเฟซบุ๊กและที่อื่น ๆ
แต่การตั้งค่าในลักษณะดังกล่าวอาจจะเป็นการจำกัดมากเกินไปเพราะจะทำให้คุณไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์อื่น ๆ บนเฟซบุ๊กได้เลย ขณะที่อีกทางหนึ่งในการจำกัดการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของคุณก็คือ เข้าไปที่หน้า “App” บนเฟซบุ๊ก และคลิกยกเลิกประเภทข้อมูลที่คุณไม่อยากให้แอปพลิเคชันต่าง ๆ เข้าถึง อาทิ วันเกิด ครอบครัว ศาสนา สิ่งที่คุณโพสต์บนหน้าเฟซบุ๊ก หรือ ความสนใจ เป็นต้น
นอกจากนี้ พอล เบอร์นอล อาจารย์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทรัพย์สินทางปัญญา และกฎหมายสื่อสารมวลชน จากมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย บอกว่า ไม่ให้กดไลค์บนหน้าเพจของผลิตภัณฑ์ และหากจะเล่นเกมส์ หรือแบบสอบถาม ก็ให้เข้าไปเล่นทางเว็บไซต์ของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นโดยตรงแทน
เขาบอกว่า การล็อกอินโดยใช้เฟซบุ๊กนั้นสะดวกก็จริง แต่นั่นหมายความว่าเจ้าของแอปพลิเคชันก็จะได้รับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลมากมายของผู้ใช้เฟซบุ๊กได้
#ลบเฟซบุ๊ก
อาจารย์เบอร์นอลบอกว่า มีวิธีเดียวที่จะมั่นใจได้ว่าจะรักษาข้อมูลส่วนตัวของคุณได้จริง ๆ คือการลบเฟซบุ๊กซะเลย เขาบอกว่า สิ่งที่จะกระตุ้นให้เฟซบุ๊กสร้างมาตรการเพื่อปกป้องผู้ใช้อย่างรัดกุมมากขึ้นก็คือเมื่อคนเริ่มเลิกเล่นเฟซบุ๊ก และขณะนี้แฮชแทก #DeleteFacebook หรือ #ลบเฟซบุ๊ก ก็กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในทวิตเตอร์
เราจะรู้ได้ไหมว่าข้อมูลเราถูกเก็บไว้ที่ไหนบ้าง?
ภายใต้กฎเกณฑ์การปกป้องข้อมูลของผู้ใช้ที่มีอยู่ ผู้ใช้สามารถยื่นคำร้องขอไปตามบริษัทต่าง ๆ ได้ว่ามีข้อมูลของพวกเขาอยู่แค่ไหน กรณีตัวอย่างหนึ่งคือ เมื่อปี 2011 มาร์ค สเคร็มส์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิความเป็นส่วนตัว ได้ยื่นคำร้องขอข้อมูลที่เฟซบุ๊กมีเกี่ยวกับตัวเขา และได้ซีดีหนึ่งแผ่นกลับมา พร้อมกับไฟล์ข้อมูล 1,200 ชิ้น
เขาพบว่าเฟซบุ๊กได้เก็บข้อมูลไว้ทั้งหมด ทั้งเลขรหัสประจำคอมพิวเตอร์ หรือ IP Address ของคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่เขาเคยใช้เข้าเฟซบุ๊ก รวมถึงข้อความบทสนทนา ตำแหน่งที่อยู่ หรือแม้กระทั่งสิ่งที่เขาคิดว่าเขาได้ลบทิ้งไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้อความ และสิ่งที่โพสต์ลงบนเฟซบุ๊ก
แต่ประเด็นที่สำคัญก็คือ เฟซบุ๊กได้แชร์ข้อมูลเหล่านั้นให้กับบริษัทอื่น ๆ ด้วย และคำถามของอาจารย์เบอร์นอลก็คือ เราจะขอข้อมูลกลับมาได้อย่างไรในเมื่อเรายังไม่รู้เลยว่าจะไปขอที่ไหน
อีกทางเลือกหนึ่งคือ คุณสามารถลบบัญชีเฟซบุ๊กของคุณทิ้งได้ แต่ต้องไม่ลืมว่า ข้อมูลมหาศาลเกี่ยวกับคุณก็จะยังคงอยู่ในฐานข้อมูลบัญชีเฟซบุ๊กของเพื่อนของคุณอยู่ดี
———————————————————————————————
ที่มา : BBC Thai / 21 มีนาคม 2561
Link : http://www.bbc.com/thai/international-43490595?ocid=wsthai.chat-apps.in-app-msg.line.trial.link1_.auin