กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Department of Homeland Security : DHS) ส่งคำชี้แจงต่อคำถามกรณีมีการลักลอบใช้เครื่องดักฟังโทรศัพท์มือถือในพื้นที่กรุงวอชิงตันหรือไม่ ว่าเมื่อปี 2560 บริษัท ESD America ผู้รับจ้างของ DHS แจ้งการตรวจพบการใช้เครื่องดักฟังโทรศัพท์มือถือ (cellphone – site simulator) แบบที่นิยมเรียกกันตามยี่ห้อว่า Sting Ray ในพื้นที่กรุงวอชิงตัน พร้อมชี้แจงเพิ่มเติมว่า DHS ไม่มีเครื่องตรวจจับแบบ Sting Ray และการต่อต้าน cellphone – site simulator ต้องใช้งบประมาณสูงเพื่อสร้างเครือข่าย ซึ่ง DHS ไม่มี
เมื่อปี 2557 บริษัทเอกชนหลายบริษัทของสหรัฐอเมริกา ตรวจพบการลักลอบใช้ Sting Ray ใกล้พื้นที่ตั้งทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กระทรวงกลาโหม กระทรวงพาณิชย์ และศาลฎีกา จากนั้น Federal Communications Commission (FCC) จัดตั้งชุดปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปราบปรามการลักลอบฟังโทรศัพท์แต่ไม่มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง ผู้ใช้ Sting Ray มีตั้งแต่หน่วยงานความมั่นคง ตำรวจ ของสหรัฐฯที่ได้รับอนุญาต จนถึงบุคคลทั่วไป
นาย Aaron Turner ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท Integricell ให้ความเห็นว่ากรุงวอชิงตันก็เช่นเดียวกับเมืองหลวงใหญ่อื่น ๆ ที่มีการดักฟังโทรศัพท์มือถือ ที่สำคัญคือการดักฟังจากสถานเอกอัครราชทูตประเทศใหญ่ ๆ ในกรุงวอชิงตัน ที่ส่วนใหญ่ติดตั้ง cellphone – site simulator ในพื้นที่สถานเอกอัครราชทูต ซึ่งถือเป็นดินแดนของประเทศเหล่านั้นที่ทางการสหรัฐฯ เข้าไปตรวจสอบไม่ได้
เมื่อปี 2556 นาย Edward Snowden เปิดเผยว่าออสเตรเลียใช้เครื่องมือที่ติดตั้งใน สถานเอกอัครราชทูตในประเทศต่าง ๆ ดักฟังโทรศัพท์มือถือในประเทศเหล่านั้น โดยเฉพาะสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ในกรุงจาการ์ตา ดักฟังโทรศัพท์มือถือของประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ภริยา และบุคคลใกล้ชิดประธานาธิบดี ในปี 2551 เป็นเหตุให้อินโดนีเซียลดสัมพันธ์ทางการทูตกับออสเตรเลียลงช่วงระยะหนึ่ง
การตรวจหาการลักลอบดักฟังโทรศัพท์มือถือเช่นนี้ต้องอาศัยเครื่องตรวจจับที่มีประสิทธิภาพสูงราคาแพง แม้แต่ DHS ก็มีขีดจำกัดในการปฏิบัติ จำเป็นต้องว่าจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการ ดังนั้น การรักษาความปลอดภัยเหตุการณ์เช่นนี้ ควรมุ่งสร้างวินัยให้แก่บุคคล ไม่ให้ส่งผ่านข้อมูลข่าวสารสำคัญทุกรูปแบบผ่านโทรศัพท์มือถือ
————————————————————
ผู้เขียนโดย : นายฐนัต พูนสวัสดิ์
องค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน
10 เมษายน 2561