ผลการสำรวจความคิดเห็นของบีบีซี พบว่า ชาวยุโรปส่วนใหญ่เชื่อว่าประเทศของตัวเองมีความแตกแยกกันมากขึ้นกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน โดย 47% ระบุว่า สังคมของพวกเขามีความอดทนอดกลั้นลดน้อยลง
ในการสำรวจความเห็นออนไลน์ของ Ipsos Mori ใน 27 ประเทศ พบว่า 66% ของคนในยุโรปรู้สึกว่าประเทศของตัวเอง “แตกแยกกันมากขึ้น” ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดจากทั่วโลก
โดยการเมืองเป็นสาเหตุหลักของความตึงเครียดทั่วโลก มีผู้ระบุเช่นนี้ 44% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 19,428 คน
ครึ่งหนึ่งของชาวอังกฤษระบุว่า มีความแตกแยกกันระหว่างผู้อพยพและคนในประเทศ ซึ่งเป็นสาเหตุของความแตกแยกทางสังคมที่พบเห็นได้ทั่วไปมากที่สุดในสหราชอาณาจักร ตามมาด้วย ความแตกต่างทางศาสนา (47%), เชื้อชาติ (41%) และมุมมองทางการเมือง (40%)
ผลการสำรวจความเห็นทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 3 ใน 4 เห็นว่า สังคมของพวกเขามีความแตกแยก ในจำนวนนี้ 1 ใน 3 ระบุว่า “แตกแยกกันอย่างมาก”
ผู้คนรับรู้ว่ามีความแตกแยกกันมากขึ้น โดยส่วนใหญ่ระบุว่า ประเทศของตัวเองแตกแยกกันมากกว่า 10 ปีก่อน มีเพียง 16% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า ความแตกแยกรุนแรงน้อยลงในปัจจุบัน
ภาพรวมยุโรป
ผลการสำรวจความคิดเห็นนี้เก็บข้อมูลจากประเทศในยุโรป 11 ประเทศ ได้แก่ เบลเยียม, ฝรั่งเศส, ฮังการี, อิตาลี, โปแลนด์, รัสเซีย, สเปน, สวีเดน, เซอร์เบีย และสหราชอาณาจักร
เซอร์เบียเป็นประเทศที่ผู้คนรับรู้เรื่องความแตกต่างกันมากที่สุด โดย 93% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า สังคมของพวกเขามีความแตกแยกอย่างมาก หรือไม่ก็พอสมควร
เกล็นน์ ก็อตต์ฟรายด์ จาก Ipsos Mori ซึ่งดูแลการสำรวจความเห็นระบุว่า “ทั้งยุโรปมีแนวโน้มที่คล้ายคลึงกัน โดยผู้ตอบแบบสอบถามอย่างน้อย 3 ใน 4 ระบุว่า สังคมของพวกเขามีความแตกแยกกันอย่างมาก หรือแตกแยกกันพอสมควร”
ก็อตต์ฟรายด์ ระบุว่า ชาวยุโรป ดูเหมือนจะเชื่อว่า ความแตกแยกเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน
“นี่อาจจะเป็นการสะท้อนถึงบรรยากาศทางการเมือง และการเปลี่ยนไปอยู่ทางฝ่ายขวามากขึ้น ซึ่งเราเห็นแล้วในหลายพื้นที่ของภูมิภาค หรืออย่างน้อย บรรยากาศทางการเมืองนี้อาจจะเป็นผลมาจากการที่ผู้คนรู้สึกว่ามีความตึงเครียดมากขึ้น ทั้งสองอย่างมีความเกี่ยวพันกัน”
เช่นเดียวกับในบริเตน ผู้ตอบแบบสอบถามในเยอรมนี และฝรั่งเศส ส่วนใหญ่ระบุว่า มีความแตกแยกกันระหว่างผู้อพยพและคนในประเทศ
ก็อตต์ฟรายด์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แต่กระนั้น การรับรู้ความแตกแยกแบบดั้งเดิมก็ยังคงมีอยู่
“ความตึงเครียด ซึ่งมาจากชนชั้นและรายได้ยังคงมีอยู่ ยกตัวอย่างในบริเตน ผู้คนราว 1 ใน 3 รู้สึกว่ามีความตึงเครียดระหว่างคนรวยและคนจน และในฮังการีมีคนรู้สึกว่ามีความตึงเครียดระหว่างคนรวยและคนจนมากกว่าที่เกี่ยวกับผู้อพยพอีก”
คนร่ำรวยและคนยากจนของเซอร์เบีย
เดจัน อนาสตาสิเจวิก บีบีซี ภาคภาษาเซอร์เบีย
ราว 80% ของประชากรเป็นชาวเซิร์บที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ ดังนั้นจึงไม่มีความแตกแยกกันมากทางศาสนาและเชื้อชาติ
แต่เซอร์เบียมีความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้สูงที่สุดในบรรดาประเทศในยุโรป จากการวัดความไม่เท่าเทียมกันตามดัชนีจีนี (GINI index) เมื่อปีที่แล้ว
หนึ่งในสี่ของประชากรมีชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ขณะที่ผู้ที่ร่ำรวยที่สุด 20% มีรายได้ 10 เท่าของคนยากจนที่สุด 20% ส่วนในสหภาพยุโรป อัตราส่วนนี้อยู่ที่ 5 ต่อ 1 ช่องว่างนี้ระหว่างคนร่ำรวยและคนยากจนถ่างกว้างขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ในทางการเมือง มีความแตกแยกกันอย่างมากเกี่ยวกับโคโซโว ซึ่งแยกตัวออกจากเซอร์เบียในปี 2008 การยอมรับเอกราชของโคโซโว (โดยไม่มีการยอมรับอย่างเป็นทางการ) เป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป
แต่ขณะที่ชาวเซิร์บส่วนใหญ่ต้องการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป พวกเขาก็ต้องการโคโซโวกลับคืนมาด้วย ดังนั้นการพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงเป็นหัวข้อที่ร้อนแรงอยู่เสมอ
การแข่งขันกันในละตินอเมริกา
ในบรรดาประเทศละตินอเมริกาที่ได้รับการสำรวจครั้งนี้ ประกอบด้วย อาร์เจนตินา, บราซิล, เม็กซิโก, ชิลี และเปรู อย่างน้อยสามในสี่ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับว่ามีความแตกแยกกันอย่างมาก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเมือง แต่ก็มีความแตกแยกระหว่างคนรวยและคนจนด้วยเช่นกัน
ผู้ตอบแบบสอบถามในอาร์เจนตินายอมรับว่ามีความตึงเครียดสูง โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 92% ระบุว่า ประเทศของพวกเขา แตกแยก “อย่างมาก” หรือ “พอสมควร” และเกือบ 40% ระบุว่า แย่ลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ชาวอาร์เจนตินาราว 70% ระบุว่า ความแตกแยกเกิดจากมุมมองทางการเมือง
“นั่นสูงมาก” นายก็อตต์ฟรายด์ กล่าว “หากไม่นับรวมมาเลเซีย ในการสำรวจความเห็นนี้ อาร์เจนตินาอยู่อันดับสูงสุดในแง่ของการเห็นว่า ความแตกต่างทางการเมืองเป็นปัญหาที่พบได้แพร่หลายที่สุด”
การสำรวจยังพบว่า ความแตกแยกทางการเมืองของละตินอเมริกา มีความชัดเจนมากขึ้นว่าในยุโรป โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่งระบุว่าเรื่องนี้เป็นสาเหตุของการแบ่งแยก
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ชาวยุโรป 66% รู้สึกว่า มีความแตกแยกเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ในละตินอเมริกาตัวเลขนี้ต่ำกว่ายุโรป โดยอยู่ที่ 59% เท่านั้น
ความแตกแยกทางการเมืองในอาร์เจนตินา
ประธานาธิบดีเมาริซิโอ มากรี รณรงค์หาเสียงในปี 2015 ด้วยการรับปากว่าจะกำจัด “ลา กริเอตา” ซึ่งหมายถึง “ความแตกแยก” ซึ่งหมายถึงการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงที่กลุ่มฝ่ายซ้ายของเคิร์ชเนอร์บริหารประเทศ (2003-2015)
กระนั้น ความแตกแยก ซึ่งเป็นคำที่ชาวอาร์เจนตินาพูดถึงกันอยู่เสมอในชีวิตประจำวัน และได้รับการรายงานอยู่เป็นประจำในสื่อ ก็ยังไม่เข้าใกล้การยุติลงภายในสมัยของนายมากรีซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม กลับกัน มันกลับร้าวลึกกว่าเดิม โดยคนเกือบ 40% ระบุว่า ประเทศของพวกเขามีความแตกแยกกันมากกว่า 10 ปีก่อนในการสำรวจความคิดเห็นของ Ipsos Mori
“มันน่าสนใจที่คนเพิ่งรู้สึกว่าเรื่อง ‘ความแตกแยก‘ ว่าเป็นปรากฏการณ์เมื่อไม่นานนี้ได้อย่างไร” มาร์ติน เกนด์เลอร์ นักสังคมวิทยา จากมหาวิทยาลัยบัวโนสไอเรส กล่าว
“ความจริงแล้ว ประเทศนี้ก่อตั้งขึ้นมาจากคนที่แบ่งออกมาสองฝักสองฝ่าย เป็นอริกัน ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกของการกำเนิดประเทศนี้ และมีความรุนแรงมากกว่าประเทศอื่น [พวกมัน]เคยได้รับการตีความและกำหนดความหมายใหม่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็วนเวียนอยู่กับการเผชิญหน้าของกลุ่มที่ฝักใฝ่ประชานิยม กับกลุ่มที่ต่อต้านประชานิยม”
โลกที่อดทนอดกลั้นมากขึ้น?
นายก็อตต์ฟรายด์กล่าวว่า ผลการสำรวจยังแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่เป็นบวกในบางเรื่องด้วย
สองในสามของผู้ตอบแบบสอบถาม เห็นว่า คนทั่วโลกมีความเหมือนกันมากกว่าความแตกต่างกัน
“มีเพียงคนจำนวนน้อยที่คิดว่า การที่คนมีภูมิหลังแตกต่างกัน วัฒนธรรมหรือมุมมองแตกต่างกันมาอยู่ร่วมกัน ทำให้เกิดความขัดแย้ง” นายก็อตต์ฟรายด์ กล่าว
หนึ่งในสามระบุว่า การมีปฏิสัมพันธ์กันบางครั้งอาจนำไปสู่การเข้าใจผิด แต่สิ่งเหล่านี้ก็สามารถแก้ไขได้ ขณะที่ 40% เชื่อว่า จริง ๆ แล้ว พวกมันนำไปสู่ความเข้าใจกันดีขึ้น และความเคารพกันมากขึ้น
ชาวแคนาดาราว 74% ระบุว่า สังคมของพวกเขา มีความอดทดอดกลั้นอย่างมาก หรือพอสมควรต่อผู้คนที่มีภูมิหลังแตกต่างกัน หรือมีมุมมองต่างกัน ตามมาด้วยชาวจีนซึ่งอยู่ที่ 65% และชาวมาเลเซีย 64%
จีนที่ ‘กลมเกลียว‘?
อวี้เหวิน อู๋ บีบีซีภาคภาษาจีน
ขณะที่ความแตกแยกกันทางเพศ ศาสนา หรือการเมือง อาจจะแสดงออกผ่านการอภิปรายอย่างดุเดือด หรือ การประท้วงในหลายประเทศ แต่ในจีนแทบไม่มีความอดทดอดกลั้นต่อผู้ที่แข็งข้อ
การควบคุมสื่อของรัฐอย่างเข้มงวดทำให้การอภิปรายทางการเมืองอย่างเปิดเผยและมีความหมายไม่อาจทำได้ ส่งผลให้ ความแตกแยกทางสังคมมักจะถูกปกปิดไว้อยู่บ่อย ๆ ผู้ตอบแบบสอบถาม Ipsos Mori เพียง 7% เท่านั้น ที่เชื่อว่า สังคมของพวกเขา “แตกแยกอย่างมาก”
หู จิ่นเทา อดีตประธานาธิบดีจีน สนับสนุนการสร้าง “สังคมที่กลมเกลียว” สังคมที่ยุติธรรมและเป็นธรรม ซึ่งมีการใช้หลักกฎหมายและผู้คนไว้เนื้อเชื่อใจกัน คำขวัญนี้ถูกพบเห็นและได้ยินอยู่ทั่วทุกหนแห่ง แต่เมื่อพลเมืองพบว่า สิ่งที่เขาโพสต์ถูกลบออกจากสื่อสังคมออนไลน์ เพราะว่าผู้ตรวจสอบเนื้อหาระบุว่าก้าวร้าว พวกเขาจึงมักจะบอกว่า “โพสต์ของฉันถูกทำให้กลมเกลียว”
กระนั้น ผู้นำจีนก็ยอมรับถึงความแตกแยกทางรายได้ที่สะท้อนอยู่ในค่าสัมประสิทธิ์จีนี ซึ่งบ่งชี้ว่า มีการไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ในระดับสูง “ความฝันจีน” ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการทำให้จีนกลับมามีพลัง ไม่ต้องสงสัยเลยว่าได้เป็นแรงบันดาลใจให้ชาวจีนจำนวนมาก แต่มันก็ไม่ได้ผลสำหรับทุกคน
———————————————————————–
ที่มา : BBC Thai / 28 เมษายน 2018
Link : http://www.bbc.com/thai/international-43868830?ocid=wsthai.chat-apps.in-app-msg.line.trial.link1_.auin