โดย: กิตตินันท์ นาคทอง
เมื่อไม่นานมานี้ สายการบินแอร์เอเชียมาเลเซีย ประกาศว่าจะเปิดเส้นทางใหม่ ‘กัวลาลัมเปอร์ – หัวหิน’ ไป-กลับ ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป ทุกวันอาทิตย์ จันทร์ พุธ และศุกร์ รวม 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์
แต่กว่าจะผ่านจุดนี้ไปได้ ก็ต่อรองกันเยอะพอสมควร เหมือนไปซื้อของที่จีนแล้วต้องต่อราคาให้มากกว่าครึ่งหนึ่ง
ย้อนกลับไปเมื่อ 18 กรกฎาคม 2560 สายการบินแอร์เอเชียมาเลเซีย แจ้งความประสงค์ขอเปิดเส้นทางบิน กัวลาลัมเปอร์ – หัวหิน ในตอนนั้น แอร์เอเชียก็ขอโน่นขอนี่ไปพอสมควร ทั้งขอเพิ่มเคาน์เตอร์ ขออินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และยังกล่าวอีกว่า อีก 2 ปีข้างหน้า มีแผนจะเปิดทำการบินภายในประเทศ และระหว่างประเทศมาที่หัวหินเพิ่มเติม เช่น เชียงใหม่ มาเก๊า สิงคโปร์ ปีนัง จาการ์ตา ฯลฯ
ต่อมา 13 กันยายน 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) มีมติเห็นชอบให้ส่วนลดแก่แอร์เอเชียมาเลเซีย เพื่อจูงใจให้มาใช้สนามบิน ตามที่กรมท่าอากาศยานเสนอ ได้แก่ ลดค่าธรรมเนียมการจอดเส้นทางบินใหม่ในปีแรก 80% ปีที่สองลด 65% และปีที่สามลด 50% รวมทั้ง ลดค่าเช่าสำนักงาน 50% และลดค่าบริการผู้โดยสารขาออก 50% เป็นเวลา 3 ปี ท้ายที่สุด แอร์เอเชียมาเลเซีย ก็ลงนามบันทึกข้อตกลงกับกรมท่าอากาศยานไปเมื่อปลายปี 2560
คงมีคนสงสัยว่า แล้วไม่มีเที่ยวบินในประเทศของแอร์เอเชีย หรือสายการบินอื่นๆ มาที่หัวหินบ้างหรือ?
ทราบมาว่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไทยแอร์เอเชีย ‘ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์’ ก็สนใจเส้นทางหัวหินก็จริง แต่มีปัญหาเหมือนสนามบินลำปาง คือ รันเวย์กว้างไม่พอ แม้ว่าทางยาวจะได้แล้วก็ตาม
ขณะที่ท่าอากาศยานหัวหิน เตรียมเสนอของบประมาณ ขยายความกว้างทางวิ่งและลานจอดเครื่องบิน จากเดิม 35×2,100 เมตร เป็น 45×2,100 เมตร และขยายลานจอดให้รองรับเครื่องบินขนาด B737 จาก 2 ลำเป็น 5 ลำ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 350 ล้านบาท ขณะนี้ได้เตรียมจัดทำแผนงาน และโครงการสำหรับปีงบประมาณ 2563
แม้ท่าอากาศยานหัวหินจะเป็นสนามบินขนาดเล็ก แต่รองรับเครื่องบินแอร์บัส A320 ความจุ 180 ที่นั่งได้ ที่ผ่านมาไทยแอร์เอเชียก็เคยเปิดเที่ยวบินพิเศษ FD 9090 กรุงเทพ – หัวหิน นำนักเรียนไปเยี่ยมชมโครงการพระราชดำริมาแล้ว เพียงแต่ว่าความกว้างของรันเวย์ที่ไม่มากพอ เวลานำเครื่องบินขึ้น-ลงอาจลำบากหน่อย เมื่อเทียบกับสายการบินที่เคยเข้า – ออกหัวหิน ส่วนใหญ่จะใช้เครื่องบินขนาดเล็ก
สิ่งที่น่าเป็นห่วงอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ที่สุดแล้ว เที่ยวบินกัวลาลัมเปอร์ – หัวหิน ของแอร์เอเชียจะไปรอดหรือไม่?
เพราะที่ผ่านมามีความพยายามเปิดเส้นทางบินใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่แก่นักท่องเที่ยว แต่ก็พบว่า บางเส้นทางที่แอร์เอเชียมาเลเซียทำการบิน ไม่ประสบความสำเร็จ จนต้องยกเลิกเที่ยวบินนั้นไป เช่น กัวลาลัมเปอร์ – สุราษฎร์ธานี ปัจจุบัน แอร์เอเชียมาเลเซีย ทำการบินจากกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย มายังประเทศไทยแล้ว 6 เส้นทาง ได้แก่ ดอนเมือง ภูเก็ต กระบี่ หาดใหญ่ เชียงใหม่ และ อู่ตะเภา (พัทยา)
ขณะที่ท่าอากาศยานหัวหิน เคยมีสายการบินชั้นนำให้บริการมาแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
นับตั้งแต่ ปี 2527 สายการบินบางกอกแอร์เวย์ เปิดเส้นทางกรุงเทพฯ – หัวหิน แต่ได้ยกเลิกไปในช่วงปิดซ่อมสนามบิน ก่อนจะกลับมาบินเส้นทางกรุงเทพฯ – หัวหิน – สมุย ในเดือนตุลาคม 2544 แต่สุดท้ายก็ยกเลิกบิน เพราะไม่คุ้มทุน สาเหตุสำคัญ เนื่องจากขณะนั้น นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังใช้เส้นทางบกเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง ประกอบกับค่าโดยสารเครื่องบินจากหัวหิน ยังมีราคาแพง ที่นั่งละ 3,000 กว่าบาท
เดือนพฤศจิกายน 2547 สายการบินเอสจีเอเปิดเส้นทางการบินกรุงเทพ (สุวรรณภูมิ) – หัวหิน ด้วยเที่ยวบินประจำ วันละ 3 เที่ยวบิน โดยได้รับสิทธิพิเศษยกเว้นค่าธรรมเนียมสนามบิน เพื่อจูงใจให้เข้ามาใช้บริการ ก่อนที่เวลาต่อมา สายการบินนกแอร์จะร่วมให้บริการภายใต้ชื่อ นกมินิ ในเดือนพฤศจิกายน 2556 ด้วยเครื่องบินแบบซาร์ป 340 บี 34 ที่นั่ง ให้บริการ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ แต่บินไม่นานก็ยกเลิกไป
เดือนพฤศจิกายน 2555 สายการบินเบอร์จาย่า แอร์ ได้ทำการบินเส้นทาง กัวลาลัมเปอร์ – หัวหิน แต่ผ่านไปเพียง 1 ปี ได้ยกเลิกไปเมื่อเดือนธันวาคม 2556 เนื่องจากนักท่องเที่ยวและนักกอล์ฟลดลง
ปี 2557 สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ได้เปิดเที่ยวบิน หาดใหญ่-หัวหิน ด้วยเครื่องบินแบบเอทีอาร์ 72 จำนวน 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ แล้วต่อมาไม่กี่เดือนก็เลิกทำการบิน ก่อนโอนเครื่องเอทีอาร์ 72-600 ให้วิงส์แอร์ของอินโดนีเซีย
ปี 2558 สายการบินกานต์แอร์ ทำการบินในเส้นทาง เชียงใหม่-หัวหิน จำนวน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ แต่มีปัญหาบางประการ สนามบินหัวหินจึงกลับสู่การเป็นสนามบินเกือบร้างอีกครั้ง
ปัจจุบัน ท่าอากาศยานหัวหิน ยังไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์ให้บริการ มีเฉพาะเที่ยวบินส่วนบุคคล (เช่าเหมาลำ) และเครื่องฝึกบินของสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) เท่านั้น
จากสถิติในปี 2560 ท่าอากาศยานหัวหิน มีเที่ยวบินพาณิชย์ จำนวน 278 เที่ยว มีผู้โดยสาร 2,780 คน รองรับเที่ยวบินฝึกบิน ทหาร และราชการฝนหลวง 26,330 เที่ยว ซึ่งขีดความสามารถของสนามบินนี้ รองรับผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วนขาเข้า – ออก 300 คนต่อชั่วโมง และอาคารที่พักผู้โดยสารรองรับได้จำนวน 864,000 คนต่อปี
เส้นทางหัวหินส่วนใหญ่เป็นเส้นทางสายย่อย จำกัดผู้ประกอบการไม่เกิน 2 ราย โดยสายการบินที่ได้รับอนุญาตเส้นทาง มีเพียงนกแอร์ เส้นทางกรุงเทพ – หัวหิน และ กานต์แอร์ เส้นทาง เชียงใหม่ – หัวหิน เท่านั้น
ความน่าสนใจของหัวหิน ไม่ได้มีเพียงชายทะเลยอดนิยมเท่านั้น แต่เป็นจุดหมายปลายทางของกีฬากอล์ฟ เพราะมีสนามกอล์ฟหัวหิน เป็นสนามกอล์ฟมาตรฐานแห่งแรกของประเทศไทย มีอายุถึง 100 ปี ไม่นับรวมสนามกอล์ฟกว่า 10 แห่งที่อยู่ในพื้นที่ชะอำ – หัวหิน รองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวแถบยุโรป สแกนดิเนเวีย สวีเดน นอร์เวย์ เยอรมนี แน่นอนว่าเป็นนักท่องเที่ยวระดับไฮ-เอนด์ มีกำลังซื้อสูง
นอกจากนี้ ยังมีแมกเนตใหม่ๆ ที่เข้ามาสร้างสีสันเพิ่มเติมให้กับเมืองหัวหิน และยังเพิ่มกลุ่มเป้าหมายใหม่ โดยเฉพาะสวนน้ำที่มีอย่างน้อย 2 – 3 แห่ง ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ 2 แห่ง เมื่อหัวหินเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยม การคมนาคมขนส่งก็มีตัวเลือกมากขึ้น ปัจจุบันสถานีขนส่งหัวหิน มีรถประจำทางหมวด 3 ไปยังเมืองอื่นๆ อาทิ เชียงใหม่ นครราชสีมา มุกดาหาร อุบลราชธานี พัทยา แถมยังมีเรือเฟอร์รี่ พัทยา – หัวหิน ที่เปิดให้บริการเมื่อต้นปี 2560 ที่ผ่านมา จากท่าเทียบเรือบ้านหัวดอน เขาตะเกียบ ไปยังท่าเรือแหลมบาลีฮาย พัทยาใต้ มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
แม้เส้นทางบินต่างประเทศ กัวลาลัมเปอร์ – หัวหิน ของสายการบินแอร์เอเชียมาเลเซีย ยังต้องรอลุ้นว่าจะไปรอดหรือไม่ แต่ความน่าสนใจอยู่ที่เส้นทางบินในประเทศ ต้องดูว่าจะมีใครสนใจเปิดเที่ยวบินจากหัวหินไปยังภูมิภาคอื่นๆ อีก
——————————————————————-
ที่มา : MGR Online / 7 เมษายน 2561
Link : https://mgronline.com/columnist/detail/9610000034583