กรณีเหตุสารเคมีรั่วที่โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะทดแทน เมื่อ 6 พ.ค.61 จากการตรวจสอบสำนักข่าวออนไลน์ที่รายงานข่าวดังกล่าว พบเว็บไซต์ที่ลงข้อความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง
พบว่า สำนักข่าวอย่างน้อย 2 สำนัก ได้รายงานข่าวสารที่คลาดเคลื่อน ระบุข้อความ “สารเคมีรั่วไหล บริเวณก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทน 4-7 กฟผ.แม่เมาะ พบเป็นไซยาไนต์…”
สำนักข่าวได้อ้างการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่งได้รับข้อมูลจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ของโรงไฟฟ้า กฟผ.แม่เมาะว่า สารที่รั่วไหลออกมา คือ ก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนต์ ซึ่งเป็นยาพิษ…
ข่าวสารที่คลาดเคลื่อนถูกแชร์ออกไปเป็นจำนวนมากในสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งคาดว่าได้มาจากกล้องโทรศัพท์มือถือของผู้ปฏิบัติงานที่พกพาเข้าไปในพื้นที่ สร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชน และเป็นการบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของหน่วยงานที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
อย่างไรก็ดี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. แม่เมาะได้ออกมาได้ชี้แจงรายละเอียดผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ (Facebook) ในวันเดียวกัน พร้อมทั้งเชิญสื่อมวลชนเข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุ เพื่อยืนยันให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริง โดยยืนยันไม่ใช่สารไซยาไนต์ ทำให้ลดกระแสความวิตกกังวลของประชาชน และได้ปฏิบัติการตามแผนฉุกเฉินควบคุมสถานการณ์สารรั่วในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนได้ทัน มีการประกาศให้คนงานออกไปยังจุดรวมพลเพื่อความปลอดภัย ไม่มีผู้บาดเจ็บ หรือได้รับอันตรายจากการสูดกลิ่นและควัน เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบ ดำเนินการแก้ไขเบื้องต้นจนควบคุมการรั่วไหลได้อย่างเรียบร้อย
นายประทีป พันธ์ยก หมวดความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน กฟผ.แม่เมาะ กล่าวว่า สารเคมีที่รั่วไหลเป็นกรดไฮโดรคลอลิค (HCL) หรือกรดเกลือ ไม่ใช่สารไซยาไนต์ตามที่มีข่าว เพราะพื้นที่นี้ไม่มีสารไซยาไนต์ สำหรับกรดไฮโดรคลอลิคนั้นได้หยดออกมาบริเวณวาล์วที่เชื่อมต่อตัวถังบริเวณใต้โรงไฟฟ้าทดแทน และกรดไปสัมผัสกับน้ำภายในขอบที่กั้นจนเกิดการฟุ้งกระจายขึ้นเป็นควันสีขาว
เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกิดเหตุควรตระหนักต่อข่าวสารที่แจ้งต่อบุคคลอื่นให้ได้รับทราบ การเผยแพร่ข่าวสารและรูปภาพอาจเกิดความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ทั้งนี้ การให้ข่าวสารในลักษณะการนำไปอ้างอิงใด ๆ ต้องได้รับการอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้วเท่านั้น หรือควรให้หน่วยงานต้นสังกัดเป็นผู้แถลงชี้แจงต่อสาธารณชน
เช่นเดียวกับสำนักข่าวที่ควรตรวจสอบหรือรอการพิสูจน์ให้ทราบแน่ชัดก่อนการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับด้านความปลอดภัยของประชาชน และความมั่นคงของประเทศ เพราะนอกจากจะสร้างความตื่นตระหนกต่อประชาชนที่ได้รับข่าวสารแล้ว ยังทำให้ลดความน่าเชื่อถือ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศในด้านต่าง ๆ ตามมา
————————————————————————————————————————————————————-
บทความโดย องค์การ รปภ.ฝ่ายพลเรือน สำนัก 10 ส่วน รปภ.3
เผยแพร่เมื่อ 16 พ.ค.61