ข่าวเกี่ยวกับการทุจริตเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง จนทำให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตัดสินใจให้จ่ายเงินผ่านรูปแบบการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้รับบริการหรือระบบอีเพย์เมนต์ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2561 เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ แต่ในบางทัศนะกลับมองว่า มาตรการใหม่นี้ช่วยแก้ปัญหาการทุจริตแค่เฉพาะหน้าหรืออาจไม่ได้เลย
ดังเช่นกรณีทุจริตกองทุนเงินเสมาพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่มีการนำบัญชีธนาคารของเครือญาติเข้ามารับประโยชน์แทน กรณีเหล่านี้จึงกลายเป็นช่องโหว่ที่ต้องช่วยกันขบคิดหาวิธีรับมือ แน่นอนว่า จำเป็นต้องปรับระบบสวัสดิการให้สอดคล้องและพร้อมรับมือกับโลกสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว
‘สุทธิพงษ์ กนกากร’ สมาชิกคณะทำงานด้านเทคนิค National Digital ID อธิบายให้เห็นภาพเป็นฉาก ๆ ในเรื่องการวางระบบป้องกันทุจริตในโครงการเกี่ยวข้องกับสวัสดิการแห่งรัฐ ในเวทีสัมมนา เรื่อง ปรับทิศทางเศรษฐกิจไทยให้พร้อมสู่ยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ จัดโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
เขาบอกว่า ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถนำมาปรับใช้กับระบบสวัสดิการแห่งรัฐ 3 รูปแบบ คือ
1. บล็อกเชน (Blockchain) คือ เครือข่ายการเก็บข้อมูลรูปแบบหนึ่ง โดยสามารถป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลและทำให้รู้แม้กระทั่งว่า ใครเขียนข้อมูลอะไรลงไปบ้าง
2.ดิจิทัล ไอดี (Digital ID) คือ ระบบที่ช่วยพิสูจน์ตัวตน
3.เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) คือ การทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งจะมีหรือไม่มีบัญชีธนาคารเลยก็ได้
โดยการนำเทคโนโลยีทั้ง 3 รูปแบบ มาใช้กับระบบสวัสดิการแห่งรัฐนั้น สุทธิพงษ์ อธิบายว่า ส่วนใหญ่ขั้นตอนการคัดกรองผู้มีสิทธิรับประโยชน์ เริ่มแรกเจ้าหน้าที่จะเดินทางไปเก็บข้อมูล เช่นกรณีผู้พิการ จากนั้นจะสร้างตัวตนด้วยดิจิทัลไอดี แล้วจึงสามารถรับเงินจากฐานระบบอีมันนี่หรือจับจ่ายใช้สอยที่ร้านค้าได้เลย โดยไม่ต้องมีเงินสด
“ระบบอีมันนี่ไม่ต้องใช้ผ่านเครื่องรูดบัตร EDC แต่เราใช้ผ่านเทคโนโลยีที่ธนาคารมีอยู่แล้ว และไม่จำเป็นต้องซื้อของผ่านร้านธงฟ้าเท่านั้น แต่สามารถเข้าได้ทุกร้านที่มีคิวอาร์โค้ด เพราะทุกคนใช้โทรศัพท์มือถืออยู่แล้ว และข้อมูลการซื้อขายทั้งหมดจะถูกบันทึกไว้ในบล็อกเชน สามารถตรวจสอบได้”
ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลไอดี มองว่าการลงทุนเทคโนโลยีข้างต้นไม่สูงมากนัก ซึ่งข้อดีของดิจิทัล ไอดี เมื่อเปรียบเทียบกับบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว เชื่อว่า ดีกว่า เพราะทุกครั้งที่มีการใช้งาน เจ้าของจะทราบว่า มีคนพยายามนำไอดีของตนเองไปยืนยันตัวตนหรือไม่ นับเป็นอีกหนึ่งวิธีป้องกันการโจรกรรมและข้อมูลมีการยืนยันตัวตนที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร จะถูกบันทึกไว้ทั้งหมด สามารถตามรอยการใช้งานได้
“ประเทศไทยวางแผนจะใช้ดิจิทัล ไอดี ปลายปี 2561 ซึ่งมี ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล ผู้อยู่เบื้องหลังระบบอี–เพย์เมนต์ เป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อน หากประสบความสำเร็จ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในการช่วยป้องกันการทุจริตโครงการ คือ ต่อไปนี้จะไม่มีการสวมสิทธิ์คนเสียชีวิตมารับเงินสวัสดิการแห่งรัฐอีกต่อไป เพราะระบบดังกล่าวจะมีข้อมูลทันทีว่า ใครมีชีวิตหรือเสียชีวิตแล้ว”
ทั้งนี้ การจ่ายเงินในโครงการเกี่ยวกับสวัสดิการของรัฐในอนาคต หากเป็นกลุ่มที่มีบัตรประจำตัวประชาชนและมีบัญชีธนาคารสามารถจ่ายเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ได้เลย ซึ่งจะปลอดภัยมากที่สุด
ส่วนกลุ่มที่มีเฉพาะบัตรประจำตัวประชาชน แต่ไม่มีบัญชีธนาคาร ต้องกรอกดิจิทัล ไอดี ควบคู่กันไป และจ่ายเงินผ่านระบบอีมันนี่
ขณะที่กลุ่มสุดท้าย ไม่มีทั้งบัตรประจำตัวประชาชนและบัญชีธนาคาร เจ้าหน้าที่ต้องออกดิจิทัล ไอดี ให้ก่อน จากนั้นจึงผูกกับระบบอีมันนี่และจ่ายเงินได้ตามปกติ
————————————————-
ที่มา : ISRANEWS / 15 พฤษภาคม 2561
Link : https://www.isranews.org/isranews/65935-digitalid65935.html