โดย…ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์
************
สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ให้บทเรียนในประเด็นความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานแก่โลก สหรัฐฯ ใช้สงครามเศรษฐกิจและการเงินกดดันรัสเซีย รัสเซียตอบโต้การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปโดยห้ามส่งออกน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายดิบ ข้าวสาลี ข้าวไรย์ ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปยังยุโรป
รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตธัญพืชรายใหญ่ของโลก โดยส่งออกข้าวสาลีร้อยละ 30 ข้าวโพดร้อยละ 20 และน้ำมันทานตะวันร้อยละ 75 ของความต้องการตลาดโลก รัสเซียเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีลำดับ 5 ของโลก สองประเทศส่งออกข้าวบาร์เลย์ร้อยละ 19 ของโลก นอกจากนั้น ทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันรายใหญ่ของโลก ซึ่งน้ำมันนี้นำไปใช้ประกอบอาหาร
ปีการผลิต 2565 ผลผลิตข้าวสาลีลดลงอยู่แล้ว บวกกับการขึ้นภาษีส่งออกธัญพืช ซ้ำมาเจอกับมาตรการที่รัฐบาลรัสเซียห้ามส่งออก ยูเครนก็ส่งออกไม่ได้ ราคาข้าวสาลีและธัญพืชอื่นๆ ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก ปี 2564 ราคาข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 31 คาดว่าในปี 2565 ราคาจะเพิ่มขึ้นอีก น้ำมันดอกทานตะวันคาดว่าจะสูงขึ้นกว่าร้อยละ 60
สงครามทำให้การเลี้ยงปศุสัตว์และการผลิตผักผลไม้ ลดลงเช่นกัน ซึ่งหมายถึงว่าราคาในตลาดโลกก็จะสูงขึ้น ระบบการขนส่งก็ไม่สะดวก น้ำมันขึ้นราคา ค่าขนส่งก็ขึ้นด้วย ค่าเบี้ยประกันก็สูงขึ้น
อเมริกากดดันให้ยุโรปเลิกนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย โดยตนเองจะขายให้แทน (มีฮังการีประเทศเดียวที่ไม่ยอมเพราะต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียร้อยเปอร์เซ็นต์ หากยกเลิก ประชาชนลุกฮือล้มรัฐบาลแน่ๆ) คนยุโรปกลายเป็นแพะรับบาป
คนยุโรปต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ลำบากมากขึ้น ถ้าถึงฤดูหนาว หากสหรัฐฯ ช่วยแก้ปัญหาด้านพลังงานให้ยุโรปไม่ได้ คนยุโรปหนาวตาย แต่อเมริกันไม่เดือดร้อนด้วย มีแต่ได้อย่างเดียว โดยใช้ยูเครนเป็นตัวแทนสู้รบกับรัสเซีย หวังจะให้รัสเซียวุ่นวายอยู่กับสมรภูมิด้านนี้ สหรัฐฯ เองจะได้มีเวลาไปสู้กับจีนได้เต็มที่
ที่คิดว่าจะใช้สงครามเศรษฐกิจการเงินกดดันรัสเซีย ปรากฏว่า ผลไม่เป็นไปตามที่สหรัฐฯ และยุโรปคาดไว้ เพราะรัสเซียขายน้ำมันให้กับจีนและอินเดียแทน ที่สหรัฐฯ คิดว่าจะใช้มาตรการการเงินทำลายเศรษฐกิจรัสเซีย กลายเป็นว่า เงินรูเบิลของรัสเซียแข็งขึ้น ประเทศลูกค้าพลังงานของรัสเซียต้องจ่ายเป็นเงินรูเบิลแทน ปิโตรดอลลาร์ที่เคยเป็นพระเอก เวลานี้ มีทั้งปิโตรหยวน ปิโตรรูเบิล
มาตรการแซงชั่นของยุโรป นอกจากทำให้คนยุโรปเดือดร้อนแล้ว ยังทำให้ภูมิภาคยากจนที่สุดของโลกเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ราคาอาหารสูงขึ้น ปุ๋ยโลกจะแพงขึ้น อาจตามมาด้วยการเคลื่อนย้ายครั้งใหญ่ของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ
ประธานาธิบดีปูตินได้บอกกับนายมาริโอ ดรากี นายกรัฐมนตรีอิตาลีระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์เมื่อ 27 พฤษภาคม 2565 ว่า รัสเซียพร้อมที่จะสนับสนุนไม่ให้เกิดวิกฤติความมั่นคงด้านอาหาร หากชาติตะวันตกเลิกคว่ำบาตรรัสเซียซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกข้าวสาลี ปุ๋ย สินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ทั้งจากรัสเซียและยูเครนซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก
ผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ประเทศอื่นเริ่มเข้มงวดเรื่องความมั่นคงทางอาหารในประเทศมากขึ้น รัฐบาลอินเดียระงับการส่งออกธัญพืชและน้ำตาลทราย มาเลเซียระงับการส่งออกเนื้อไก่ อินโดนีเซียห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มก่อนกลับมาอนุญาตให้ส่งออกได้อีกครั้ง ในขณะที่รัสเซียและยูเครน ถือได้ว่าเป็น “ตะกร้าอาหารเช้าของโลก” เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เป็น “ชามข้าวของโลก” เช่นกันและเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลก เพราะส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก รัฐบาลอาร์เจนตินาประกาศห้ามส่งออกน้ำมันถั่วเหลือง รัฐบาลแอลจีเรีย ห้ามส่งออกพาสต้า ข้าวสาลี น้ำมันพืช น้ำตาล รัฐบาลอียิปต์ ห้ามส่งออกน้ำมันพืช ข้าวโพด ถั่วเลนทัล รัฐบาลคูเวต ห้ามส่งออกผลิตภัณฑ์จากเนื้อแกะ ธัญพืช น้ำมันพืช รัฐบาลอัฟกานิสถาน ห้ามส่งออกข้าวสาลี รัฐบาลตุรกีห้ามส่งออกเนื้อวัว แพะ แกะ เนย รัฐบาลตูนีเซียห้ามส่งออกผักและผลไม้
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลรัสเซียได้ห้ามส่งออกข้าวสาลี แป้งเมสลิน ข้าวไรซ์ ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด รัฐบาลยูเครนห้ามส่งออกข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวฟ่าง น้ำตาล
ทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ที่ส่งออกไปยังยุโรปและเอเชียกลาง โดยเฉพาะประเทศเหล่านี้ต้องพึ่งพาปุ๋ยจากรัสเซียถึงร้อยละ 50 หากขาดปุ๋ย การผลิตข้าวและธัญพืชอื่นๆ ก็ไม่งามอย่างเก่า ปริมาณอาจลดลง ซึ่งหมายถึงราคาอาหารก็เพิ่มสูงขึ้น ่
สรุปได้ว่า สงครามรัสเซีย – ยูเครน กระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของโลก หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติที่ต้องการซื้ออาหารส่งไปช่วยประชาชนในประเทศอดอยากในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ก็มีปัญหา เพราะหาซื้ออาหารได้ยาก และอาหารมีราคาเพิ่มขึ้น
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) เตรียมจัดสรรเงินก้อนโตให้ประเทศต่างๆ กู้เพื่อแก้ไขวิกฤติการขาดแคลนอาหารทั่วโลก ทั้งด้านเกษตรกรรม โภชนาการ การคุ้มครองทางสังคม ระบบการชลประทาน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารใน 15 เดือนข้างหน้า
ไอ.เอ็ม.เอฟ. มองว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน ครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2565 และทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น เพราะเกิดข้าวยากหมากแพง กระทบต่อการค้า ห่วงโซ่อุปทาน บั่นทอนความเชื่อมั่นทางธุรกิจและการลงทุน ราคาพลังงานปรับสูงขึ้น ภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูงกว่าที่อื่น คือ ทางตอนใต้ของทะเลทรายสะฮาราของทวีปแอฟริกาไปถึงแถบละตินอเมริกา เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง เช่น อียิปต์ซึ่งนำเข้าข้าวสาลีประมาณร้อยละ 80 จากรัสเซียและยูเครน สรุปว่า นอกจากรัสเซียและยูเครนซึ่งเป็นคู่สงครามได้รับผลกระทบแล้ว ยังกระทบต่อพื้นฐานระบบเศรษฐกิจโลกด้วย
คณะมนตรีองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินชองอาเซียนบวกสามร่วมกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เตรียมสำรวจข้าวที่มีในสต็อกว่าจะนำออกมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในกรณีฉุกเฉินได้อย่างไรบ้าง
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟ.เอ.โอ. ได้รายงานสถานการณ์อาหารโลกว่า ดัชนีราคาอาหารโลกเมื่อเดือนเมษายน 2565 เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 29.8 และราคาอาหารโลกสูงขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะประเทศในยุโรปที่นำเข้าข้าวสาลี น้ำมันพืชจากรัสเซียและยูเครน เกิดการขาดแคลนและที่มีอยู่ก็ราคาสูงขึ้น สงครามทำให้การผลิตและส่งออกของยูเครนลดลง ก่อให้เกิดการขาดแคลนในหลายประเทศยุโรปตะวันตก ที่มีอยู่ก็ราคาสูงขึ้น
ผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้รัฐบาลอินเดียออกคำสั่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ห้ามส่งออกธัญพืชทุกชนิดรวมทั้งข้าวสาลี โดย “ทันที” และย้ำว่า มาตรการนี้มีผลบังคับใช้อย่างไม่มีกำหนด ยกเว้นผู้ส่งออกที่ได้รับอนุมัติก่อนคำสั่งนี้ออกมาสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ของตนได้ตามปกติ รัฐบาลอินเดียอ้างว่า คำสั่งดังกล่าวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การรักษาความมั่นคง และความปลอดภัยทางอาหารภายในประเทศท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และเพื่อสนับสนุนประเทศเพื่อนบ้านและประเทศที่มีความต้องการแท้จริงก่อน อย่างไรก็ดี ในปี 2565 อินเดียเจอกับอากาศร้อนรุนแรงผิดปกติ เกิดภาวะแห้งแล้งและกระทบต่อการผลิตอาหารและธัญพืชของประเทศ
คำสั่งห้ามครั้งนี้ถูกที่ประชุมกลุ่มประเทศ จี 7 วิจารณ์การตัดสินใจของอินเดียที่ระงับการส่งออกข้าวสาลีว่า เป็นการซ้ำเติมวิกฤติราคาข้าวสาลีที่สูงอยู่แล้วอันเป็นผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาสูงขึ้นไปอีก และเรียกร้องให้อินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่อันดับสองของโลกรับผิดชอบในฐานะกลุ่มประเทศ จี 20 โดยกลับมาส่งออกข้าวสาลีตามปกติ แต่รัฐบาลอินเดียต้องคำนึงถึงคนอินเดียก่อน
นอกจากกระทบต่อการขาดแคลนอาหารและราคาอาหารสูงขึ้นแล้ว ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติก็สูงขึ้นด้วย ทำให้ประเทศที่นำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต้องจ่ายเพิ่มขึ้น คนที่เดือดร้อนโดยตรงก็คือ ประชาชนนั่นเอง เงินเฟ้อสูงขึ้น นอกจากประชาชนต้องจ่ายค่าน้ำมันที่สูงขึ้นแล้ว ยังจ่ายค่าอาหาร สินค้า ที่แพงขึ้นด้วยจากค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น ผู้ผลิตชะลอการผลิต นักลงทุนชะลอการลงทุน
หากสินค้าและบริการราคาเพิ่มขึ้น ประชาชนย่อมไม่พอใจรัฐบาล นี่คือสิ่งท้าทายที่เผชิญหน้าทุกรัฐบาล รวมทั้งรัฐบาลไทย ซึ่งแม้ไม่มีปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหาร แต่กำลังเจอกับภาวะเงินเฟ้อกันเกิดจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น
นอกจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวจากพิษโควิด 19 ยังมาเจอพิษราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นและภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุม นี่คือสิ่งท้าทายต่อรัฐบาลสำหรับปี 2565 และปีต่อไป
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ / วันที่เผยแพร่ 2 มิ.ย.65
Link : https://www.posttoday.com/politic/columnist/684779