หลังจากนางจีนา แฮสเปล ได้รับเสนอชื่อให้เป็น ผอ. ซีไอเอ คนใหม่เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา เรื่องราวที่ยังไม่กระจ่างเกี่ยวกับศูนย์กักตัวและซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยของสหรัฐฯ กลับมาเป็นที่ถกเถียงอีกครั้ง และความสนใจก็พุ่งไปยังประเทศไทย ที่เป็นที่ตั้ง “คุกลับ” ที่แฮสเปลเคยกำกับดูแล
บีบีซีไทยเสนอรายงานของนายโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยความเกี่ยวข้องระหว่างว่าที่ ผอ. ซีไอเอคนใหม่และ “คุกลับ” ในประเทศไทย
เมื่อเดือน เม.ย. 2002 เครื่องบินลำหนึ่งบินออกจากสนามบินในปากีสถานมุ่งสู่ประเทศไทย หนึ่งในผู้โดยสารบนเครื่องบินลำนั้นคือ นายอาบู ซูเบย์ดาห์
ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน เขาถูกจับตัวได้ในปฏิบัติการร่วมระหว่างสหรัฐฯ และปากีสถาน ที่นำกำลังบุกทลายเซฟเฮาส์ของเครือข่ายอัลกออิดะห์ที่เมืองไฟซาลาบัดในปากีสถาน
นายซูเบย์ดาห์ วัย 31 ปี เป็นชาวปาเลสไตน์ที่เกิดในซาอุดิอาระเบีย และเชื่อกันว่าเขาเป็นหนึ่งสมาชิกระดับสูง ในเครือข่ายผู้ก่อการร้ายของนายโอซามา บินลาดิน
เขาอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ซีไอเอ ซึ่งได้ตัดสินใจให้นายซูเบย์ดาห์เป็นผู้ต้องขัง “มูลค่าสูง” คนแรกที่สามารถถูก “สอบสวนด้วยเทคนิคพิเศษ” ซึ่งกลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่ามันคือการซ้อมทรมาน
ในเดือน ธ.ค. 2014 คณะกรรมาธิการวิสามัญด้านข่าวกรองของวุฒิสภาสหรัฐฯ (SSCI) ได้ตีพิมพ์รายงานลับจำนวน 6,000 หน้าเกี่ยวกับเทคนิคเหล่านี้
สถานที่ที่นายซูเบย์ดาห์ และผู้ถูกคุมขังอีกอย่างน้อย 2 คน ถูกสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ซีไอเอด้วยเทคนิคพิเศษที่ว่านี้ ถูกเรียกด้วยชื่อสีว่า “สถานกักกันเขียว” (Detention Site Green)
ประเทศไทย ไม่ได้ถูกระบุว่าเป็นที่ตั้งของสถานกักกันที่ว่านี้ และเจ้าหน้าที่ของทั้งสองประเทศต่างปฏิเสธการมีอยู่ของสถานที่ดังกล่าวมาโดยตลอด
แต่อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านความมั่นคงของไทย ได้ยืนยันกับบีบีซีว่า สถานกักกันเขียว ตั้งอยู่ภายในฐานทัพอากาศในภาคอีสานที่ จ.อุดรธานี
เขาระบุว่า มันไม่ได้มีขนาดใหญ่และเป็นเพียงแค่เซฟเฮาส์ของซีไอเอ ซึ่งเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ สามารถปฏิบัติการได้ ตราบเท่าที่พวกเขาแจ้งให้รัฐบาลไทยทราบ
“เมื่อไหร่ก็ตามที่มีคนถูกจับได้โดยเจ้าหน้าที่อเมริกัน ทั้งนอกประเทศหรือในประเทศไทย พวกเขาถูกนำส่งตัวผ่านสถานที่นี้ และต่อจากนั้นก็ถูกส่งต่ออีกครั้งด้วยเครื่องบินของสหรัฐฯ” อดีตเจ้าหน้าที่ไทยกล่าว
ทำไมต้องประเทศไทย ?
รายงานของ SSCI ระบุเหตุผลหลายข้อที่ซีไอเอเลือกไทยเป็นที่ตั้ง:
- แนวคิดการคุมตัวผู้ต้องสงสัยในฐานทัพสหรัฐฯ ถูกปฏิเสธ เพราะพวกเขาต้องแจ้งให้คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศทราบ
- เรือนจำขนาดใหญ่ที่อ่าวกวนตานาโม ในคิวบา นั้นไม่เหมาะสม เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าจะสามารถเก็บความลับได้ยาก และเจ้าหน้าที่จากเอฟบีไอหรือกองทัพสหรัฐฯ อาจพยายามควบคุมการสอบสวน
ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้อนุมัติการส่งตัวนายซูเบย์ดาห์ ไปยังสถานกักกันเขียว เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2002 โดยรัฐบาลไทยได้รับแจ้งและแสดงความยินยอมในวันเดียวกัน
อุดรธานี เป็นตัวเลือกที่สมเหตุสมผลด้วยเหตุผลหลายข้อ:
- ทั้งสองประเทศเป็นพันธมิตรกันตามสนธิสัญญา
- มีการร่วมมือทางกองทัพและข่าวกรองระหว่างสองประเทศอย่างใกล้ชิดนับตั้งแต่ช่วงต้นสงครามเย็น
- ในช่วงทศวรรษ 1960 ไทยได้อนุญาตให้สหรัฐฯ ใช้ฐานทัพอากาศสำหรับเครื่องบินทิ้งระเบิดโจมตีกลุ่มคอมมิวนิสต์ในประเทศเวียดนาม ลาว และกัมพูชา
- อุดรธานี เป็นหนึ่งในฐานทัพหลักของสหรัฐฯ ซึ่งมีฝูงบินประจำการเป็นของตัวเอง และถูกใช้งานอย่างมากโดยซีไอเอ ณ เวลานั้น
ในช่วงที่ซีไอเอกำลังพิจารณานำผู้ต้องสงสัยจากเครือข่ายอัลกออิดะห์สู่ประเทศไทยเมื่อปี 2002 นายทักษิณ ชินวัตร ได้เข้ารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งต้องการนำประเทศไปในทิศทางที่ต่างออกไป
นายทักษิณมีท่าทีเป็นมิตรต่อสหรัฐฯ มากกว่าผู้นำคนก่อน ๆ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าผู้นำก่อนหน้าเหล่านั้นตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยหลายรายที่ไม่พอใจต่อการที่สหรัฐฯ ล้มเหลวในการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจระหว่างวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997
ขณะเดียวกัน นายทักษิณก็หวังจะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับจีนด้วยเช่นกัน เขายืนยันว่าไทยควรมีจุดยืนเป็นกลางในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของ ปธน. บุช และยืนกรานว่าประเทศไทยไม่มีปัญหาผู้ก่อการร้าย รวมถึงตำหนิสหรัฐฯ ที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าไทยมีปัญหาสิทธิมนุษยชนในเวลาต่อมา
แต่เบื้องหลังคำพูดที่แข็งกร้าวของนายทักษิณ ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติ โดยเฉพาะในทางทหารและข่าวกรอง ยังคงแน่นแฟ้น
ฝ่ายไทยคัดค้านหรือร่วมมือ ?
ไม่กี่เดือนก่อนเหตุโจมตี 9-11 ในนครนิวยอร์ค ซีไอเอได้ก่อตั้งองค์กรลับใหม่ที่ชื่อว่า ศูนย์ต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งนำเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานของไทยและสหรัฐฯ มาทำงานร่วมกันในการติดตามผู้ก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แต่ถึงกระนั้น เมื่อซีไอเอยื่นคำขอใช้ศูนย์กักกันเขียวเพื่อสอบสวนผู้ต้องสงสัย ทางการไทยก็ไม่ได้ให้ความร่วมมือเท่าไรนัก
รายงานของ SSCI ระบุถึงคำขอ “ความช่วยเหลือ” จากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบสถานที่และก็ได้ตามที่ขอ แต่ไม่นานนักไทยก็เปลี่ยนเจ้าหน้าที่ชุดใหม่เข้ามา ซึ่งไม่ให้ความร่วมมือมากเช่นเดิม และเกือบจะทำให้ซีไอเอต้องปิดศูนย์ดังกล่าวลง
อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า หัวหน้าซีไอเอประจำประเทศไทย สามารถเจรจาเพื่อให้สถานกักขังดังกล่าวยังคงอยู่ต่อไปได้
รายงานดังกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ไทยอย่างน้อย 8 คน ซึ่งคาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโส รู้ถึงการมีอยู่ของสถานที่ลับแห่งนี้ รวมทั้งคาดว่ายังมีบุคคลอีกหลายคนที่รับรู้ว่ามีศูนย์แห่งนี้อยู่ในไทย
เมื่อ นสพ.ชั้นนำหลายฉบับเริ่มปะติดปะต่อข้อมูลเรื่องนี้ ซีไอเอคาดว่าความสนใจจากทั่วโลกและความรู้สึกอับอายขายหน้าของรัฐบาลไทยจะทำให้ศูนย์ต้องปิดตัวลง
และนั่นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นในเดือน ธ.ค. 2002 สองเดือนหลังจากที่เชื่อกันว่านางจีนา แฮสเปล เข้ามาคุมสถานกักขังแห่งนี้
การทรมานที่ไม่มีผลลัพธ์
ระหว่างที่นายซูเบย์ดาห์ถูกจับกุมในปากีสถาน เขาได้รับบาดเจ็บอย่างหนักและถูกส่งตรงไปยังโรงพยาบาลทันทีเมื่อเดินทางถึงไทย แต่ต่อมาในวันที่ 15 เม.ย. เขาถูกส่งต่อไปยังสถานกักกันเขียว
ข้อความในเคเบิ้ลของซีไอเอ อธิบายสภาพห้องขังของเขาว่ามี “สีขาวโดยไม่มีแสงธรรมชาติหรือหน้าต่าง แต่มีไฟฮาโลเจนส่องเข้าไปในห้อง…” เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยใส่ชุดสีดำล้วน ตั้งแต่รองเท้า ถุงมือ หน้ากากโม่ง ไปจนถึงแว่นตาเพื่อไม่ให้นายซูเบย์ดาห์ “แยกแยะเจ้าหน้าที่แต่ละบุคคลได้ เพราะเขาอาจพยายามสร้างความสัมพันธ์หรือบทสนทนาด้วย”
เจ้าหน้าที่สื่อสารกันด้วยภาษามือต่อหน้านายซูเบย์ดาห์ และใช้กุญแจมือและโซ่ตรวนขาเพื่อรักษาการควบคุม นอกจากนี้เพลงร็อคและเสียงดังยังถูกเปิดเพื่อเพิ่ม “ความรู้สึกสิ้นหวัง” ให้กับนายซูเบย์ดาห์
ในรายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า:
- เขาถูกขังเดี่ยวเป็นเวลา 47 วัน โดยในช่วงนั้นเขาถูกสอบสวนโดยเอฟบีไอ
- ตั้งแต่ 4 ส.ค. 2002 เป็นเวลาอย่างน้อย 20 วัน เขาได้รับการปฏิบัติที่หนักหน่วงขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ซีไอเอ รวมถึงการกักขังติดต่อกัน 200 ชั่วโมงในกล่องคล้ายโลงศพ และกว่า 30 ชั่วโมงในกล่องขนาดกว้างเพียง 50 เซนติเมตร
- เขาถูกเหวี่ยงเข้ากับกำแพงและถูก “วอเทอร์บอร์ด” ถึง 83 ครั้ง โดยเขาถูกเปลือยกายรัดติดกับม้านั่ง ใบหน้าของเขาถูกคลุมด้วยผ้า ก่อนจะถูกเทด้วยน้ำ เพื่อให้เขาสำลักและอาเจียน
บทบาทที่ไม่แน่ชัดของแฮสเปล
เมื่อครั้งที่นางแฮสเปล เข้าทำหน้าที่ควบคุมศูนย์กักกันเขียว การสอบสวนอย่างเข้มข้นของนายซูเบย์ดาห์ ได้สิ้นสุดลงไปก่อนแล้ว ผู้ต้องสงสัยจากเครือข่ายอัลกออิดะห์อีกสองคน ได้แก่ นายรอมซี บิน อัล-ชิบฮ์ และนาย อับดัล ราฮิม อัล-นาชิรี ก็ถูกกักขังในเวลาเดียวกับนายซูเบย์ดาห์ โดยมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ได้ใช้วิธีวอเทอร์บอร์ดกับนายนาชิรี ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม วิธีสอบสวนที่โหดร้ายไม่ได้ช่วยให้เจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ใด ๆ และบันทึกยังระบุว่านายซูเบย์ดาห์ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เอฟบีไอมากกว่า
นับถึงตอนนี้ยังคงไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า นางจีนา แฮสเปล มีบทบาทใดบ้างในขณะนั้น
บีบีซีได้ติดต่อไปยังซีไอเอเพื่อขอความกระจ่างถึงหน้าที่ของเธอในประเทศไทย ทางซีไอเอกล่าวว่าไม่สามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับคำถามเหล่านี้ได้ แต่ระบุถึงคำแก้ไขในบทความหนึ่งเกี่ยวกับนางจีนา แฮสเปล ซึ่งระบุว่าเธอได้เข้ารับตำแหน่งกำกับดูแลในประเทศไทย หลังจากการใช้วิธีวอเทอร์บอร์ดกับนายซูเบย์ดาห์ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว
ไดแอนน์ ไฟน์สไตน์ สว.รัฐแคลิฟอร์เนีย อดีตประธานคณะกรรมาธิการด้านข่าวกรองของวุฒิสภาสหรัฐฯ เรียกร้องให้นำเอกสารเกี่ยวกับบทบาทของนางแฮสเปล ในการควบคุมศูนย์กักกันเขียวและในคำสั่งของซีไอเอให้ทำลายวิดีโอเทปการสอบปากคำที่นั่นจำนวน 92 เทป เผยแพร่ต่อสาธารณะ เพื่อที่วุฒิสภาฯ จะได้สามารถพิจารณาความเหมาะสมต่อตำแหน่งหัวหน้าซีไอเอคนใหม่ได้
เมื่อศูนย์กักกันเขียวถูกปิดลงในเดือน ธ.ค. 2002 นายซูเบย์ดาห์ ถูกส่งตัวต่อไปสถานกักกันลับอีกแห่งของซีไอเอในโปแลนด์
ในที่สุดนายซูเบย์ดาห์ถูกส่งไปยังเรือนจำที่เรือนจำกวนตานาโม ซึ่งเขาได้ปรากฎตัวต่อให้สาธารณะได้เห็นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือน ส.ค. 2016 นับเป็นเวลา 14 ปีหลังจากการจับกุม
ปัจจุบันสหรัฐฯ ได้ออกมายอมรับว่านายซูเบย์ดาห์ ไม่ได้มีความสำคัญในเครือข่ายอัลกออิดะห์อย่างที่คิดไว้ในครั้งแรก
อาคารที่ถูกใช้กักขังและสอบสวนนายซูเบย์ดาห์ในฐานทัพอากาศที่ จ.อุดรธานี ยังคงไม่ถูกเปิดเผย
นับตั้งแต่การปิดตัวของสถานควบคุมตัวดังกล่าว ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร 2 ครั้ง แต่ความร่วมมือทางการทหารและข่าวกรองยังคงดำเนินต่อไป
ทำเนียบขาวได้ออกแถลงการเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมาให้วุฒิสภาสนับสนุนการแต่งตั้งนางแฮสเปลเป็นหัวหน้าซีไอเอโดยเร็วที่สุด
แถลงการดังกล่าวระบุคำพูดของนายจอห์น เบ็นเน็ตต์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานปฏิบัติการลับของซีไอเอว่า นางแฮสเปลเลือกทำหน้าที่ที่เรียกได้ว่ายากและได้ผลตอบแทนน้อยที่สุดในอาชีพของเธอ “เพราะเธอรู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ของเธอ”
แถลงการณ์ของทำเนียบขาวระบุว่า “ความรักชาติเช่นนั้น คือสิ่งที่ชาวอเมริกันสมควรได้รับในตัวผู้อำนวยการซีไอเอ”
——————————————————————————————————————————————————
ที่มา : BBC Thai / วันที่ 4 พ.ค.2561
ลิงก์ : https://www.bbc.com/thai/international-44002540?ocid=wsthai.chat-apps.in-app-msg.line.trial.link1_.auin