เงินดิจิตอล (Cryptocurrencies) ที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนในปัจจุบันมีมากกว่า 1,200 สกุลเงิน แต่มีเพียงบางสกุลเงินที่ได้รับความนิยมในไทยคือ บิทคอยน์ (Bitcoin) อีเทอร์เรียม (Etherium) และริปเปิล (Ripple) ซึ่งเป็นสกุลเงินที่มีการซื้อขายมากที่สุดมีมูลค่าการซื้อขายคิดเป็นร้อยละ 50 ของมูลค่าตลาดทั้งหมด และมีการเปิดซื้อขายผ่านคนกลาง (Trading market) ปัจจุบันบิทคอยน์ในโลกมีจำนวน 21 ล้านบิทคอยน์ “ขุด” ไปแล้วรวม 16.7 ล้าน เคยทำราคาสูงสุดที่ประมาณ 400,000 บาทต่อ 1 บิทคอยน์
การเริ่มใช้บิทคอยน์เรียกว่า “การขุด” จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อถอดสมการคณิตศาสตร์ โดยผู้ใช้จะต้องสร้างกระเป๋าเงิน (Wallet Address) จากการสร้าง (gemerate) ผ่านเว็บไซต์โดยไม่จำเป็นต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวหรือยืนยันตัวตนแต่อย่างใด การทำธุรกรรมจะรู้เฉพาะผู้รับและผู้ส่ง ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ใดเป็นผู้โอนหรือรับโอนบิทคอยน์ เมื่อการขุดด้วยตัวเองทำได้ค่อนข้างยากเพราะต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น ผู้ใช้งานในไทยจึงเลือกใช้เว็บไซต์ลักษณะ Trading market เพื่อลงทุนซื้อขายบิทคอยน์และเปลี่ยนเป็นเงินบาทโอนเข้าบัญชีธนาคาร
อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกประกาศเมื่อ 12 ก.พ.61 ขอความร่วมมือสถาบันการเงินไม่ให้ทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับเงินดิจิตอล เนื่องจากไทยยังไม่รับรองคุณสมบัติของเงินดิจิตอลให้สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายและยังไม่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในการกำกับของหน่วยงานใดเป็นการเฉพาะ ทำให้ผู้ทำธุรกรรมอาจไม่ได้รับความคุ้มครองหากเกิดความเสียหายจากการลงทุน ขณะที่ รมว.กค. มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเงินสกุลดิจิตอลทั้งหมด
เมื่อการใช้เงินสกุลดิจิตอลไม่จำเป็นต้องระบุตัวตนผู้ใช้ ทำให้ เกิดช่องทางการซื้อขายสินค้าที่ผิดกฎหมายทั้งอาวุธและยาเสพติด ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกพบปัญหาการใช้เงินดิจิตอลเพื่อซื้อยาบ้าและกัญชา เพราะสามารถติดต่อซื้อขายกันโดยตรงระหว่างผู้ขายและผู้เสพ ในหลายประเทศของยุโรปใช้แลกเปลี่ยนกันในกลุ่มองค์กรอาชญากรรมและมาเฟีย สำหรับยูเครนพบการใช้เงินดิจิตอลในการซื้ออาวุธและสนับสนุนการเงินให้กับกลุ่มผู้สนับสนุนรัสเซีย นักวิเคราะห์ต่างประเทศคาดการณ์ว่าการรับส่งเงินด้วยสกุลดิจิตอลเฉพาะอย่างยิ่งบิทคอยน์เพื่อการสนับสนุนทางการเงินให้กับกลุ่มก่อการร้ายและใช้ดำรงการเคลื่อนไหวในเครือข่ายอาชญากรรมจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามลำดับ แม้ในไทยยังไม่เผชิญปัญหาการใช้เงินดิจิตอลในการสนับสนุนกิจกรรมด้านอาชญากรรม แต่เครือข่ายอาชญากรรมในไทยก็มีการปรับตามความต้องการตามสภาพแวดล้อม ไทยจึงควรออกกฎหมายและบทบัญญัติเรื่องเงินดิจิตอลให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถกำหนดมาตรการรับมือการแพร่ขยายของเงินดิจิตอลในอนาคตต่อไป
——————————————————————
องค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน
16 พฤษภาคม 2561