เอเอฟพี – บริษัทคู่สัญญากลาโหมของกองทัพเรือสหรัฐฯ ถูกแฮกเกอร์จีนล้วงข้อมูลละเอียดอ่อนเกี่ยวกับกลยุทธ์สงครามใต้ทะเล รวมไปถึงโครงการพัฒนาขีปนาวุธต่อต้านเรือรุ่นใหม่ที่สามารถยิงจากเรือดำน้ำ หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานเมื่อวานนี้ (8 มิ.ย.)
สื่อดังของสหรัฐฯ อ้างข้อมูลจากพนักงานสอบสวนซึ่งระบุว่า การโจมตีทางไซเบอร์เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.ปีนี้ โดยเป็นฝีมือแฮกเกอร์ในสังกัดหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐจีน (Ministry of State Security) ซึ่งปฏิบัติการจากมณฑลกว่างตง
บริษัทคู่สัญญารายนี้ทำงานให้กับศูนย์สงครามใต้ทะเลทางนาวี (Naval Undersea Warfare Center) ในเมืองนิวพอร์ต รัฐโรดไอแลนด์ โดยมีหน้าที่ศึกษาวิจัยและพัฒนาเรือดำน้ำ รวมไปถึงระบบอาวุธใต้ทะเล
แฮกเกอร์จีนประสบความสำเร็จในการล้วงไฟล์ขนาด 614 กิกะไบต์ ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับระบบเซ็นเซอร์, ระบบเข้ารหัสเรือดำน้ำ และโครงการ “ซี ดรากอน” ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยังไม่เผยรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวซึ่งริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2012 โดยระบุแต่เพียงว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อนำเทคโนโลยีทางทหารที่มีอยู่เดิมมาปรับใช้ในรูปแบบใหม่ๆ
วอชิงตันโพสต์ได้รับการร้องขอจากกองทัพเรือสหรัฐฯ ไม่ให้เผยรายละเอียดเกี่ยวกับระบบขีปนาวุธรุ่นใหม่ที่โดนจีนแฮก แต่บอกอย่างกว้างๆ ว่าเป็นขีปนาวุธต่อต้านเรือความเร็วเหนือเสียงที่สามารถยิงจากเรือดำน้ำได้
บิลล์ สปีกส์ โฆษกกองทัพเรือสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะยืนยันรายงานของวอชิงตันโพสต์ โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง
จีนใช้แฮกเกอร์ล้วงข้อมูลทางทหารของสหรัฐฯ มานานหลายปีแล้ว และเพนตากอนก็เคยออกมายอมรับว่า ปักกิ่งสามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญในโครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ F-35 รุ่นใหม่, ระบบป้องกันขีปนาวุธแพทริออต PAC-3 รวมไปถึงโครงการลับสุดยอดอื่นๆ
ข่าวการจารกรรมข้อมูลถูกเปิดเผยท่ามกลางบรรยากาศที่ตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทั้งในด้านการค้าและการทหาร
เมื่อเดือน พ.ค. กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ยกเลิกคำเชิญจีนเข้าร่วมการฝึกซ้อมสงครามทางนาวีระหว่างประเทศ “ริม ออฟ เดอะ แปซิฟิก” (RIMPAC) โดยอ้างว่าเป็นการตอบโต้ที่จีนเสริมกำลังทหารบนหมู่เกาะพิพาททะเลจีนใต้