รถไฟฟ้าบีทีเอสระบบอาณัติสัญญาณขัดข้องต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการในชั่วโมงเร่งด่วน กทสช.ระบุสาเหตุระบบขัดข้องเพราะสัญญาณไวไฟรบกวน แนะสร้างระบบป้องกัน และเปลี่ยนคลื่นความถี่ เพื่อไม่เกิดปัญหานี้ซ้ำซาก
วันนี้ (26 มิ.ย.2561) ระบบเดินรถ BTS เกิดปัญหาขัดข้องอีกครั้ง ชวนให้สงสัยว่าความขัดข้องนั้นเกิดจากอะไร จะใช่คลื่นสัญญาณมือถือรบกวนหรือไม่ ? ตรวจสอบข้อมูลกับนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. พบคลื่นรบกวนนั่นคือ สัญญาณไวไฟ
ทำไมสัญญาณไวไฟถึงรบกวน BTS ได้ ?
เพราะ BTS ใช้คลื่น 2400 MHz ควบคุมระบบเดินรถ และสั่งการระหว่างกัน และ BTS ไม่ได้สร้างระบบป้องกันการโดนรบกวน
ไวไฟที่ไหนรบกวน BTS ?
ต้องตรวจสอบว่าเป็นไวไฟของใครมาจากแหล่งไหนกันบ้าง เพราะไวไฟ ย่าน 2400 MHz หน่วยงานไหน คนทั่วไปก็ใช้กันได้ กับโดรน (อากาศยานไร้คนขับ) ก็ใช้ เพราะเป็นคลื่นที่ กสทช.อนุญาตและจัดสรรไว้สำหรับให้ใช้แบบสาธารณะได้อยู่แล้ว แต่หน่วยงาน/องค์กรนั้นๆ ต้องขออนุญาตการใช้ ซึ่งแน่นอนว่าในปัจจุบัน ใครๆ ก็ใช้กันได้หลากหลาย
จึงมีความเป็นไปได้ว่า ระหว่างที่รถ BTS วิ่งผ่านจุดที่โดนกวน ทำให้ระบบการควบคุมและสั่งการไม่เสถียร ทาง BTS จึงจำเป็นต้องหยุดเดินรถบางสถานี หรือแช่รถที่ชานชาลานานกว่าปกติ เพื่อตรวจสอบระบบการเดินรถ หรือปล่อยรถจนแน่ใจว่าปลอดภัยจริงๆ จึงจะสั่งการได้
BTS รู้ปัญหานี้หรือไม่ ?
BTS รู้แน่นอนและรู้มาก่อนแล้วด้วยว่าการใช้คลื่น 2400 MHz เพื่อควบคุมระบบสั่งการเดินรจะไม่ได้รับการคุ้มครองการใช้คลื่นย่านนี้จาก กสทช. เพราะ BTS เคยถาม กสทช. และ กสทช. มีหนังสือตอบกลับไปให้รับทราบแล้ว เพราะก่อนหน้านี้ ซึ่ง BTS รู้ดีว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น กสทช.เตือนไปก่อนหน้านี้แล้ว หลังจาก BTS มีหนังสือแจ้งขอใช้งานอุปกรณ์โทรคมนาคม
แล้วทำไมเขาจึงยังใช้คลื่นนี้ ประเมินอย่างไร ?
เรื่องนี้ต้องไปถามทาง BTS
ศักยภาพของคลื่น 2400 MHz ที่ปล่อยสัญญาณให้คนทั่วไป /องค์กรใช้ ไกลแค่ไหน ?
ถ้าเป็นห้องก็ทะลุได้ 2 ห้อง แต่กำแพงห้องที่ 3 นี่ทะลุไม่ได้แล้ว
ทำไมระบบรถไฟฟ้าใต้ดินไม่โดนรบกวน ?
คลื่นไม่ลงไปถึงใต้ดิน เพราะคลื่นแต่ละคลื่นมีความเฉพาะตัวไม่เหมือนกัน
ทางออกของ BTS จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง ?
เขารับทราบมาก่อนอยู่แล้วว่าปัญหาคืออะไร รู้มานานแล้ว แต่ไม่ได้แก้จริงจัง จนทำให้ระบบคลื่นควบคุมรถโดนรบกวน ทางออกคือต้องสร้างระบบป้องกัน ไม่ให้คลื่นความถี่โดนรบกวน แต่การลงทุนแพง อยู่ที่ BTS จะกล้าลงทุนหรือไม่
มีทางออกอื่นอีกไหม?
มีอีกทางคือการขอเปลี่ยนย่านความถี่ ไปใช้ย่านอื่นที่ไม่ใช่ 2400 MHz เพื่อควบคุมระบบเดินรถและสั่งการ
ซึ่งปัจจุบัน กสทช. กันคลื่น 5 เมกฯ ย่าน 800- 900 MHz ไว้ให้ใช้สำหรับการควบคุมรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่กำลังจะก่อสร้างอยู่แล้ว BTS สามารถประสานมาขอใช้คลื่นนี่ได้ ใน 2 รูปแบบ
รูปแบบแรก คือ กทม. เป็นเจ้าของสัมปทาน กับ BTS ให้ กทม. ทำเรื่องขอมารับใบอนุญาตแทน BTS กสทช. มีย่านอื่นให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมอยู่แล้ว แค่ประสานมา
รูปแบบที่ 2 คือ กระทรวงคมนาคมเจ้าของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ประสานมาขอใบอนุญาต เพื่ออนุญาตให้ BTS ใช้ร่วม แต่อาจต้องรอคอยช่วงปี 2562 ที่โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงน่าจะแล้วเสร็จ ซึ่งการให้ กทม. หรือกระทรวงคมนาคมขอใบอนุญาต เพราะเป็นหน่วยงานที่ต้องไปกำกับ BTS อีกทีหนึ่ง
สำหรับประเทศไทยการควบคุมการเดินรถไฟฟ้า เช่น บีทีเอส รถไฟใต้ดิน (MRT) และ แอร์พอร์ตเรล ลิ้งค์ จะเน้นใช้ระบบแบบ Communication Based Train Control (CBTC) ที่ใช้สื่อสารในการปฏิบัติงานควบคุมกับรถไฟและศูนย์ควบคุม ผ่านคลื่นความถี่ 2400 MHz (WiFi ) หรือเทคโนโลยีแบบ 5G หรืออาจจะไปใช้เครือข่าย GSM-R ซึ่งป็นที่นิยมของการควบคุมระบบรถไฟความเร็วสูงในหลายประเทศ หรือคลื่นย่าน 900 MHz ส่วนคลื่นโทรศัพท์ที่ทั่วโลกและไทยนิยมใช้คือ คลื่นย่าน 800 / 900/ 1800 และ 2100 MHz
นักวิชาการติง BTS ไม่แจ้งที่มาของเหตุขัดข้อง
ด้านนักวิชาการโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งให้ข้อมูลว่า ปัญหาขัดข้องของ BTS ไม่ได้เกิดเฉพาะวันสองวันนี้ แต่ปัญหามีมาต่อเนื่องในช่วงที่ BTS ให้บริการ อย่าโทษหรือโยนความผิดให้คลื่นเป็นแพะรับบาป
การเกิดปัญหาแต่ละครั้งประชาชนมักรับทราบแค่ว่า BTS ระบบขัดข้อง แต่สิ่งที่ BTS ต้องทำคือการอธิบายให้สังคมรับทราบว่า การขัดข้องแต่ละครั้งเกิดจากสาเหตุใด และกระทรวงคมนาคม หรือ กทม.ในฐานะหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแล ต้องเข้มงวดมีมาตรการเด็ดขาดมากกว่านี้ ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดปัญหาเป็นระยะแล้วไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไร และจะเป็นแบบนี้ไปอีกนานเท่าใด ซึ่งในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เขามีความชัดเจนในการชี้แจงต่อปัญหาที่เกิดขึ้น
หรือแม้แต่การซ่อมบำรุงหรือเปลี่ยนแปลงระบบอาณัติสัญญาณ เขาจะประกาศแจ้งให้ผู้โดยสารรับทราบล่วงหน้า ว่าอาจได้รับผลกระทบต่อการเดินรถ 3 วัน 7 วัน เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกอื่นปรับแผนการเดินทางในชีวิต แต่สำหรับรถไฟฟ้า BTS จะแจ้งแค่ระบบขัดข้องและมาแจ้งเอาช่วงที่เกิดเหตุหรือหลังเกิดเหตุไปแล้ว เรื่องแบบนี้ต้องตรวจสอบและสร้างระบบป้องกัน ที่ BTS สามารถทำได้ แต่ที่ผ่านมาต้องถามกลับว่าเกิดอะไรกับ BTS
———————————————————————————————————————————–
ที่มา : thaipbs / วันที่ 26 มิ.ย.61
ลิงก์ : http://news.thaipbs.or.th/content/272980