นอกจาก Facebook,Twitter และ Google จะพยายามต่อสู้กับการเสนอข่าวที่ไม่มีมูลความจริง และการให้ข้อมูลที่ผิดๆ ในโซเชียลมีเดีย จากการที่ผู้ใช้งานแชร์เนื้อหาที่น่าตกใจ และกลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์โดยที่ไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริงใดๆ แล้ว
ล่าสุด Adobe เป็นอีกบริษัทที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน โดยเผยว่าทีมวิจัยของบริษัทกำลังอยู่ระหว่างพัฒนาซอฟท์แวร์ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถระบุได้ว่ารูปใดผ่านการแต่งภาพมา โดยเมื่อใดก็ตามที่ภาพมีการแก้ไข หรือตัดต่อภาพ โปรแกรมจะมีการทิ้ง “ร่องรอย” บางอย่างเอาไว้ในภาพที่ถูกตัดต่อเสมอ
ทีมวิจัยของ Adobe ได้พัฒนาให้ระบบ AI จดจำรูปภาพต่างๆ ที่ผ่านการตัดต่อหรือแต่งภาพมา โดยมุ่งเน้นไปที่วิธีการตัดต่อภาพ 3 แบบหลักๆ ที่มักถูกนำมาใช้เพื่อทำขึ้นมา ซึ่งเทคนิคการปลอมแปลงภาพเหล่านี้ ได้แก่ Splicing, Copy Move และ Removal
โดย Splicing คือ วิธีการนำวัตถุ (คนหรือสิ่งของ) จากภาพหนึ่งมาใส่ไว้ในอีกภาพหนึ่ง, Copy Move คือ การโคลนนิ่งหรือก๊อปปี้วัตถุนั้นๆ มาใส่ไว้ในภาพเดียวกัน ส่วน Removal คือ วืธีการลบหรือนำวัตถุนั้นๆ ออกไปจากภาพ
นอกจากนี้ยังมีการนำค่าสี RGB, ค่า Noise ในภาพมาใช้ในการฝึกสอน AI ด้วย เพื่อให้การตรวจสอบภาพทำได้แม่นยำมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทาง Adobe ยังไม่ได้เปิดเผยว่า AI ตัวนี้วิเคราะห์ได้แม่นยำขนาดไหน และจะปล่อยออกมาให้ใช้ใน Adobe Sensei ด้วยหรือไม่
————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : Thaiware / วันที่ 25 มิถุนายน 2561
ข้อมูลจาก : www.techtimes.com , openaccess.thecvf.com
ลิงก์ : https://news.thaiware.com/13804.html?utm_source=linetoday&utm_medium=source