เมื่อวานนี้ (12 มิ.ย.) สภาแห่งชาติเวียดนามผ่านกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ เพิ่มอำนาจควบคุมอินเทอร์เน็ตและการดำเนินการของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในประเทศ ท่ามกลางความกังวลของหลายฝ่ายถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจและเสรีภาพในการแสดงออก
กฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2562 และกำหนดให้บริษัทอย่าง เฟซบุ๊ก และ กูเกิล จัดเก็บข้อมูลส่วนตัวที่ “สำคัญ” ของผู้ใช้ไว้ในประเทศเวียดนาม รวมทั้งลบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมภายใน 1 วันตามคำร้องของเจ้าหน้าที่
ผู้ประท้วงและนักรณรงค์หลายคนคัดค้านกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ฉบับใหม่นี้ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและถูกใช้จัดการผู้เห็นต่างจากรัฐบาลบนโลกออนไลน์
ขณะที่ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) มองว่ากฎหมายใหม่ของเวียดนามนั้นมีความคล้ายคลึงกับกฎหมายปัจจุบันของไทย
จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเวียดนามใช้กฎหมายใหม่ ?
สภาแห่งชาติเวียดนาม ลงคะแนนเสียง 91% ผ่านกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ฉบับใหม่เมื่อวานนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตรึงกำลังรอบสภาฯ
ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ บริษัทโซเชียลมีเดียในเวียดนามจะต้องนำเนื้อหาที่ละเมิดกฎหมายออกจากระบบภายใน 1 วันหลังจากได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ
นอกจากนี้ บริษัทเหล่านี้ยังจะต้องย้ายข้อมูลของผู้ใช้งานมาจัดเก็บไว้ภายในประเทศ รวมทั้งเปิดสำนักงานในเวียดนาม
นายโว จอง เวียต ประธานคณะกรรมาธิการกลาโหมและความมั่นคง ซึ่งเป็นผู้ร่างกฎหมายฉบับนี้ กล่าวว่าการย้ายข้อมูลมาไว้ในประเทศจะมีส่วนสำคัญในการปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ และไม่ขัดแย้งกับระเบียบสากลแต่อย่างใด
“การย้ายศูนย์ข้อมูลมาไว้ในเวียดนามนั้นจะเพิ่มต้นทุนสำหรับบริษัทเหล่านี้จริง แต่มันเป็นความจำเป็นสำหรับความต้องการด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ของประเทศ” เขากล่าวต่อสภาแห่งชาติเวียดนาม
เสียงคัดค้าน
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวถึงกฎหมายฉบับนี้ ว่าเป็นความถดถอยทางสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของเวียดนาม ซึ่งเปิดทางให้รัฐบาลสามารถเซ็นเซอร์ความเห็นบนโลกออนไลน์ รวมทั้งบังคับให้บริษัทเทคโนโลยีส่งมอบข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ได้
“ด้วยอำนาจแบบเหมารวมที่ให้รัฐบาลสามารถจับตากิจกรรมออนไลน์ได้นั้น การผ่านกฎหมายครั้งนี้ หมายความว่ามันไม่มีที่ปลอดภัยในเวียดนามที่ผู้คนจะสามารถพูดอะไรได้อย่างเสรีอีกต่อไป” แคลร์ อัลการ์ ผู้อำนวยการการดำเนินงานทั่วโลก ของแอมเนสตี้ฯ กล่าว
ขณะที่ในภาคธุรกิจ กลุ่มอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคเอเชีย อย่าง เอเชีย อินเทอร์เน็ต โคลิชัน (เอไอซี) ซึ่งเคยเสนอแผนผ่อนผันกฎหมายดังกล่าวก่อนหน้านี้ เชื่อว่ากฎหมายนี้จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและตำแหน่งงานของเวียดนาม
“ข้อห้ามเหล่านี้จะทำให้เกิดข้อจำกัดอย่างรุนแรงในเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม ซึ่งจะกระทบไปถึงบรรยากาศการลงทุนและโอกาสสำหรับธุรกิจท้องถิ่น” เจฟฟ์ เพนน์ กรรมการผู้จัดการ เอไอซี กล่าว
ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ และแคนาดา ต่างแสดงความกังวลถึงผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้ต่อการเติบโตทางเทคโนโลยีในเวียดนาม ซึ่งเป็นฐานลูกค้าขนาดใหญ่ของแบรนด์ทั่วโลก ทั้งสองชาติเคยเรียกร้องให้เวียดนามทบทวนและชะลอการพิจารณากฎหมายนี้
เวียดนามมีประชากรราว 94 ล้านคน และมีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียสูงถึงราว 55 ล้านคน ตามรายงานของบริษัท We Are Social และ Hootsuite นอกจากนี้ เวียดนามยังเป็นประเทศที่มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กมากเป็นอันดับที่ 7 ของโลก
ไม่ห่างไกลกฎหมายเพื่อนบ้าน
กฎหมายใหม่ของเวียดนามที่กำหนดให้ผู้ให้บริการลบข้อมูลที่ไม่เหมาะสมออกจากระบบใน 24 ชั่วโมงนั้น มีความคล้ายกับกฎหมายไทยอย่างมากในทางปฏิบัติ ตามความเห็นของ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
มาตรา 20 ใน พ.ร.บ คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 กำหนดให้คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ พิจารณาว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และสามารถส่งฟ้องศาลเพื่อระงับหรือลบข้อมูลดังกล่าวได้
แต่ในทางปฏิบัติ ผู้จัดการ iLaw กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ หรือประชาชน สามารถส่งจดหมายถึงผู้ให้บริการเพื่อขอให้ลบข้อมูลที่เห็นว่าไม่เหมาะสม โดยมีมาตรา 15 ที่ระบุว่าให้ยกเว้นความผิดสำหรับผู้ให้บริการหากยอมลบข้อมูลที่ผิดกฎหมาย
“มาตรา 15 อาจเรียกได้ว่าเป็นบทสันนิษฐานความผิด ถ้าหากคุณไม่ลบ จะทำให้เข้าใจได้ว่าคุณรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดด้วย มันก็เลยสร้างภาระให้ผู้ให้บริการ” ยิ่งชีพกล่าว
นอกจากนี้ ยิ่งชีพกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายสามารถขอข้อมูลของผู้ใช้งานจาก บริษัทต่าง ๆ โดยไม่ต้องมีหมายศาล ตามอำนาจที่ได้มาตั้งแต่ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทที่ดำเนินการภายใต้กฎหมายไทยมักจะให้ความร่วมมือเสมอ
ยิ่งชีพตั้งข้อสังเกตว่าหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน เช่น เวียดนาม หรือ มาเลเซีย ต่างพยายามออกกฎหมายย่อยที่ลงรายละเอียดมากขึ้น เพื่อเพิ่มความชอบธรรมในการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ แทนที่จะดำเนินคดีด้วยข้อหาปลุกปั่นหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคคอมมิวนิสต์ อย่างในอดีต
“ผมเข้าว่าใจเวียดนามมีความพยายามควบคุมความเห็นบนโลกออนไลน์มานานแล้ว และสถานการณ์เขาเลวร้ายกว่าไทยในแง่การดำเนินการกับผู้ต่อต้านรัฐบาล” เขากล่าว
นิธิน โคคา ของ เดอะดิโพลแมท วิเคราะห์คล้ายกันว่า หลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีความพยายามควบคุมอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียมากขึ้น ผ่านกฎหมายที่เริ่มจากการรจัดการกับข่าวปลอม และการระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ “ผิดกฎหมาย” หรือละเมิดลิขสิทธิ์ และค่อย ๆ กลายเป็นเครื่องมือควบคุมความเห็นของประชาชนบนโซเชียลมีเดีย
เหตุประท้วงในเวียดนาม
เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงชาวเวียดนามกว่าร้อยคนถูกจับกุม และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายสิบคนได้รับบาดเจ็บ จากเหตุประท้วงคัดค้านร่างกฎหมายพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษซึ่งอนุญาตให้ต่างชาติเช่าที่ดินได้ 99 ปี
ประชาชนจำนวนไม่น้อยกังวลว่าจะเปิดทางให้นักลงทุนจีนจะเข้ามาถือครองที่ดินในประเทศ และพากันออกมาประท้วงตามเมืองต่าง ๆ หลายแห่ง รวมทั้ง กรุงฮานอย นครโฮจิมินห์ และจังหวัดบิ่นถ่วน ซึ่งนับเป็นการประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ในรอบหลายปีของเวียดนาม
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สภาแห่งชาติเวียดนามตัดสินใจเลื่อนการลงมติร่างกฎหมายพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษนี้ออกไปก่อน
แต่การผ่านกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ เมื่อวานนี้ ทำให้ผู้ประท้วงหลายคนวิจารณ์ว่าเป็นความพยายามตัดช่องทางสื่อสารของกลุ่มที่เคลื่อนไหวคัดค้านกฎหมายที่ดินฉบับดังกล่าว
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ (13 มิ.ย.) ผู้ประท้วงชาวเวียดนามมีแผนจะรวมตัวกันเพื่อคัดค้านกฎหมายทั้งสองฉบับบริเวณสถานทูตเวียดนามประจำประเทศไทยในกรุงเทพฯ
———————————————————————–
ที่มา : BBC Thai / 13 มิถุนายน 2018
Link : https://www.bbc.com/thai/international-44467154