คาดว่าพวกเราจะลืมข่าวสาร เมื่อ 3 มิถุนายน 2549 ที่ว่า เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรภาค 4 พบสารโซเดียมคลอเรต จำนวน 625 กิโลกรัม ที่บริเวณตลาดสดทุ่งลุง ต.พะตง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ข่าวดังกล่าวเป็นที่น่าสนใจ เพราะสารเคมีนี้เป็นส่วนประกอบในการผลิตดินระเบิด เกี่ยวกับสารเคมี 2 ชนิด คือ โซเดียม คลอเรต และโพแทสเซียม คลอเรต นี้สามารถนำมาผลิตเป็นดินระเบิดประเภทวัตถุระเบิดกำลังสูงขั้นทุติยภูมิ secondary high explosives (ต้องจุดระเบิดด้วยชนวนหรือตัวเร่ง) ได้เช่นเดียวกับแอมโมเนียม ไนเตรต ซึ่งเป็นสารเคมียอดนิยมของกลุ่มก่อการร้าย
ทั้งโซเดียม คลอเรต และโพแทสเซียม คลอเรต ทั้ง 2 ชนิดนี้ในทางทหารถือเป็นสารเทียม(ระเบิด)กลุ่ม pyrotechnic (สารหรือสารผสม เมื่อสลายตัวจะเกิดความร้อน และก๊าซ หรือควัน หรืออยางใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างร่วมกัน) ซึ่งใช้เพื่อกิจการเกษตร เกษตรกรหรือบริษัทเกี่ยวกับพืชผลสามารถสั่งซื้อและครอบครองได้ แต่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐ
โซเดียม คลอเรต (NaClO3) ใช้สำหรับกำจัดวัชพืช และยังใช้ทำหัวไม้ขีดไฟพลุ หรือดอกไม้ไฟ
โพแทสเซียม คลอเรต (KCIO3) ใช้เป็นตัวเร่งผลผลิตหรือเร่งให้ผลนอกฤดู เช่น ลำไย เป็นต้น และใช้ทำหัวไม้ขีดไฟ พลุหรือดอกไม้ไฟ ทั้งยังเป็นส่วนประกอบสำคัญของระเบิดขวดที่นักเรียนนักศึกษา “สมัยปี 2499 อันธพาลครองเมือง” ผลิตขึ้นเองสำหรับต่อสู้กัน
สารเคมีทั้ง 2 ชนิดข้างต้นมีคุณสมบัติไม่ติดไฟ แต่เป็นตัวช่วยให้สารอื่นเกิดการลุกไหม้ได้ดี ถ้านำไปบรรจุในภาชนะปิดสนิท เมื่อได้รับความร้อน จะเกิดระเบิดได้เช่นกัน ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว จึงใช้ผลิตดินระเบิดประเภท secondary high explosives ซึ่งเป็นดินระเบิดแรงสูงที่มีความไวต่ำ ต้องมีดินเริ่มหรือเชื้อปะทุมากระตุ้นในการจุดระเบิด ดินระเบิดจากสารทั้ง 2 ชนิดนี้ให้แรงระเบิดสูงมากกว่าดินดำ
สารเคมีทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นสารพื้นฐานที่วินาศกรรู้จักและนำมาใช้เช่นเดียวกับแอมโมเนียม ไนเตรต เพียงแต่ในประเทศไทย แอมโมเนียม ไนเตรตมีแหล่งจำหน่ายทั่วไป จัดหาได้ง่ายและราคาถูกกว่า อย่างเช่น ปุ๋ยแอมโมเนียม ไนเตรต เป็นต้น ส่วนโพแทสเซียม คลอเรตเป็นสารเคมีชนิดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตกระทรวงกลาโหมตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 สำหรับโซเดียม คลอเรต จัดซื้อจากร้านจำหน่ายสารเคมี โดยแจ้งความต้องการเป็นลายลักษณ์อักษรลงในแบบฟอร์ม ที่ร้านจำหน่ายให้ชัดเจน
อย่างไรก็ดี โพแทสเซียม คลอเรตใช้ผลิตดินระเบิดให้ประสิทธิภาพดีกว่า แต่การจัดเตรียมต้องทำในห้องทดลองเท่านั้น และต้องมีความรู้ความชำนาญในการผลิตดินระเบิด เมื่อประกอบเป็นดินระเบิดแล้วต้องใช้งานภายใน 24 ชั่วโมง ไม่งั้นประสิทธิภาพจะลดลงทันที ทั้งการจัดเก็บไม่ควรอยู่ใกล้ความร้อนอีกด้วย
การนำโพแทสเซียม คลอเรตมาเป็นสารประกอบดินระเบิดสามารถทำได้หลายประเภท เช่น ประเภท two-component explosive (สารผสมระเบิดแรงสูงสองชนิด) ใช้โพแทสเซียม คลอเรตเป็นส่วนประกอบหลัก เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยไม่ค่อยได้นำสารชนิดนี้มาใช้งานด้านวัตถุระเบิด แต่นิยมใช้เป็นสารเร่งผลผลิต อย่างไรก็ดี เคยเกิดกรณีสารเคมีชนิดนี้ระเบิดในโรงงานลำใยที่ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือนกันยายน 2542 สาเหตุมาจากโรงเก็บสารนี้ค่อนข้างปิดทึบ และมีคนงานเข้าไปทำงานที่ทำให้เกิดความร้อน จนเป็นผลให้สารเคมีที่จัดเก็บไว้ สะสมความร้อนจนเกิดปฏิกิริยาระเบิดขึ้น นอกจากนี้ ถ้านำโพแทสเซียม คลอเรตผสมกับน้ำกรดทำเป็นระเบิดเพลิง (cool burner incendiary) ก็ได้ แต่ไม่ปรากฏข้อมูลจากฐานข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ว่าสามารถนำมาประกอบ เพื่อสร้างก๊าซพิษจากการระเบิด
การผลิตดินระเบิดที่ให้ทั้งแรงระเบิดและก๊าซพิษมี 2 ชนิด ดินระเบิดแบบนี้ต้องมีส่วนประกอบของสารไนโตรเบนซิน (ผลิตจากปฏิกิริยาของกรดไนตริกกับเบนซิน ต้องดำเนินการในห้องทดลองเท่านั้น) ก๊าซพิษที่เกิดขึ้นมาจากไอของไนโตรเบนซิน ซึ่งเป็นพิษต่อผิวหนังของสิ่งมีชีวิต ได้แก่
1. ชนิด Annie explosive ส่วนประกอบหลักมาจากแอมโมเนียม ไนเตรต และไนโตรเบนซิน
2. ชนิด Co-Op explosive ส่วนประกอบหลักมาจากโซเดียม คลอเรต หรือโพแทสเซียม คลอเรตผสมกับไนโตรเบนซิน
นอกจากนี้ยังมีวัสดุที่สะสมความร้อนแล้วระเบิดได้เอง เช่น ผงถ่านคาร์บอน, ผงเซลลูลอยด์ผงถ่านหิน, แร่ทองแดงเข้มข้น, นุ่น, เมล็ดพืชที่แห้ง, ปุ๋ย (fertilizers), โฟม, เหล็กไพไรต์, ผงเรซิน, น้ำมัน (น้ำมันข้าวโพด น้ำมันจากเมล็ดฝ้าย น้ำมันจากถั่วลิสง), ผงพลาสติก, เศษผ้า, ขี้เลื่อย, กองฟาง, ผงเหล็ก/ไม้, ผงสบู่ หรือผงสังกะสี เป็นต้น
—————————————————————————————————————-
ผู้เขียน โดย : เกลียวพันธ์ ลีละศร
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการรักษาความปลอดภัย