การบ่อนทำลายนับแต่โบราณมักดำเนินการอย่างแอบแฝง เกิดขึ้นจากความต้องการของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจทางการปกครอง ด้วยการสนับสนุนให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่อยู่ใต้อิทธิพลไปกระทำแทน โดยมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามเป้าประสงค์ที่ตนวางไว้ และนับเป็นวิธีการล้มล้างฝ่ายตรงข้ามที่เสียค่าใช้จ่ายต่ำกว่าวิธีการทำลายล้างวิธีอื่น อย่างเช่น วินาศกรรมหรือจารกรรม อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมเฉพาะทางสำหรับปฏิบัติการ ในปัจจุบันการบ่อนทำลายนับเป็นหนึ่งในวิธีก่อการร้าย แต่สำหรับกลุ่มก่อการร้ายเชื่อได้ว่าไม่นิยมวิธีการนี้ เพราะกว่าจะบรรลุผลต้องใช้เวลาดำเนินการยาวนาน เดิมการบ่อนทำลายส่วนใหญ่เป็นการกระทำระหว่างกลุ่มปกครองรัฐ ปัจจุบันการบ่อนทำลายต่อรัฐกระทำได้จากทุกกลุ่มชนชั้นที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์ และมีรูปแบบเพิ่มมากขึ้น จากกระทำการแบบแอบแฝงเพื่อสร้างข้อมูลข่าวสารในทางลบไปสู่การกระทำที่จงใจสร้างให้เกิดข้อมูลข่าวสารเปิดในทางลบ แต่ขั้นตอนการบ่อนทำลายกลับไม่เคยปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติ โดยขอยกตัวอย่างจากพงศาวดารการเสียกรุงศรีอยุธยาทั้ง 2 ครั้งตามข้อมูลที่บันทึกไว้เมื่อหลายร้อยปีก่อน โดยนำมาเปรียบเทียบตามขั้นตอนของการบ่อนทำลายในปัจจุบัน ซึ่งแบ่งออกเป็น
1. ก่อให้เกิดการเอาใจออกห่าง
2. ยุยงปลุกปั่น
3. ทรยศหรือกบฏ
ข้อมูลจากพงศาวดารหลายฉบับเกี่ยวกับการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกแก่พม่าเมื่อ พ.ศ.2112 ซึ่งเกิดขึ้นจากวิธีการบ่อนทำลาย ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ก่อให้เกิดการเอาใจออกห่าง คือ จากกรณีสงครามช้างเผือก พ.ศ.2106 พระมหาจักรพรรดิ์ทรงรับเงื่อนไขสงบศึกของพระเจ้าบุเรงนอง โดยส่วนหนึ่งของเงื่อนไข คือ ให้ส่งตัวเจ้าพระยาจักรีมหาเสนาให้แก่พระเจ้าบุเรงนอง เพื่อนำตัวกลับไปเป็นประกันที่เมืองหงสาวดี ทั้งที่เจ้าพระยาจักรีมหาเสนาเป็นเสนาบดีที่ซื่อสัตย์ มีความสามารถ และมีความดีความชอบจากการสู้รบป้องกันพระนครมาโดยตลอด กรณีที่เกิดขึ้นเป็นกุศโลบายของพระเจ้าบุเรงนอง ที่ทำให้เจ้าพระยาจักรีมหาเสนาเกิดความรู้สึกน้อยใจ “ที่ทำดี ไม่ได้ดี” และเอาใจออกห่างจากฝ่ายพระมหาจักรพรรดิ์
ขั้นตอนที่ 2 ยุยงปลุกปั่น เมื่อ พ.ศ.2112 กองทัพของพระเจ้าบุเรงนองยกทัพกลับมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ในครั้งนี้ พระเจ้าบุเรงนองทรงเกลี้ยกล่อมเจ้าพระยาจักรีมหาเสนาให้เข้าไปเป็นไส้ศึกในกรุงศรีอยุธยา โดยทำอุบายให้เจ้าพระยาจักรีมหาเสนาหลบหนีจากพม่ากลับมากรุงศรีอยุธยา พระมหินทราธิราช (กษัตริย์สืบต่อจากพระมหาจักรพรรดิ์) ทรงหลงเชื่อและแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพคุมกำลังรักษาพระนครสู้รบกับพม่า เจ้าพระยาจักรีมหาเสนาทำการยุยงให้พระมหินทราธิราช สับเปลี่ยนตำแหน่งนายทหารที่สำคัญ อีกทั้งทำการประหารแม่ทัพที่มีความสามารถ จนกองทัพในกรุงศรีอยุธยาอ่อนแอ
ขั้นตอนที่ 3 ทรยศหรือกบฏ คือ เมื่อกำลังทัพในกรุงศรีอยุธยาอ่อนแอลงแล้ว เจ้าพระยาจักรีมหาเสนาจึงกบฎ โดยให้สัญญาณกองทัพพม่า เพื่อเข้าบุกกรุงศรีอยุธยาจากทุกด้าน พร้อมกับเปิดประตูพระนครให้พม่าบุกเข้ามาโดยง่าย ทัพพม่าจึงประสบความสำเร็จในการยึดครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2112 จากนั้นพระเจ้าบุเรงนองเชิญเสด็จพระมหินทราธิราชไปเป็นตัวประกันที่พม่า เหตุการณ์ครั้งนี้นับได้ว่าสิ้นสุดการปกครองกรุงศรีอยุธยาของราชวงศ์สุพรรณภูมิ ซึ่งมีกษัตริย์สืบเนื่องต่อกันมารวม 13 พระองค์
ข้อมูลจากพงศาวดาร“คำให้การของชาวกรุงเก่า” ซึ่งเป็นพงศาวดารฉบับเดียวที่ระบุถึงการบ่อนทำลายเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 ซึ่งมีรายละเอียดว่า “พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเห็นนายทัพนายกองแตกพ่ายเข้ามา ดังนั้นก็ให้ปิดประตูให้ทหารขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทินมั่นไว้ มิได้ออกรบ คราวนั้นพระยาพลเทพ ข้าราชการในกรุงศรีอยุธยาเอาใจออกห่าง ลอบส่งเครื่องศัสตราวุธ เสบียงอาหารให้แก่พม่า สัญญาจะเปิดประตู คอยรับ พม่าเห็นได้ที่ก็ระดมเข้าตีปล้นกรุงศรีอยุธยา ทำลายเข้ามาทางประตูที่พระยาพลเทพนัดหมายไว้ ก็เข้าเมืองได้ทางประตูทิศตะวันออกในเวลากลางคืน…”
อย่างไรก็ดี ข้อมูลการบ่อนทำลายจาก“คำให้การของชาวกรุงเก่า”มีความคล้ายกับบันทึกด้วยลายมือและลงชื่อไว้เมื่อ 26 เมษายน 2311 ของนายพี. วัน เด วูร์ท (P. van der voort) ชาวฮอลันดา เจ้าท่าเมืองปาเลมบัง (เมืองท่าในอินโดนีเซีย) เกี่ยวกับเรื่องเล่าจากผู้เห็นเหตุการณ์กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ซึ่งคล้ายกับข้อมูลจาก“คำให้การของชาวกรุงเก่า”ที่มีการกบฎเกิดขึ้นจากภายในพระนคร มีรายละเอียดว่า
: “เดือนมีนาคม พ.ศ. 2310 ขณะนั้นตัวเมือง(กรุงศรีอยุธยา) มีน้ำเอ่อ พม่าได้ลงเรือเข้ามาถึงตัวเมืองในตอนกลางคืนใช้บันไดไต่กำแพงเมืองและโยนหม้อดินบรรจุดินปืนขับไล่ผู้รักษาการอยู่รอบกำแพงเมือง เมื่อยึดเมืองได้แล้วพม่าได้ทำลายกรุงศรีอยุธยาอย่างยับเยิน ในการเข้าตีกรุงศรีอยุธยาครั้งนี้ ทัพพม่าได้รับความช่วยเหลืออย่างมากจากชาวพม่าด้วยกันจำนวนประมาณ 500 คนที่อยู่ในตัวเมือง (ชาวพม่าเหล่านี้ถูกกองทัพไทยจับไว้ได้ในครั้งก่อนๆ) และได้ติดต่อกับกองทัพพม่าที่ยกเข้ามารุกรานกรุงศรีอยุธยา…”
เจ้าท่า (Shabandar) ทำหน้าที่ดูแลพ่อค้าของชาตินั้นๆ รวมทั้งตลาดค้าและโรงเก็บสินค้าก็อยู่ในความปกครองด้วย
หากถือตามข้อมูลเหล่านี้จะเห็นว่า กรณีกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ 2 ก็มีสาเหตุมาจากการบ่อนทำลายเช่นเดิม กล่าวคือ
ขั้นตอนที่ 1 ก่อให้เกิดการเอาใจออกห่าง ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมให้การสนับสนุนฝ่ายทัพพม่าของพระยาพลเทพหรือชาวพม่าที่อยู่ในตัวเมืองอยุธยา เหล่านี้ถือได้ว่าเป็น “เอาใจออกห่าง”
ขั้นตอนที่ 2 ยุยงปลุกปั่น : ไม่ปรากฎข้อมูล
ขั้นตอนที่ 3 ทรยศหรือกบฏ การให้สัญญาเจะเปิดประตูเมืองคอยรับพม่าของพระยาพลเทพหรือการแอบติดต่อระหว่างกองทัพพม่ากับชาวพม่าในกรุงศรีอยุธยา ต่างนับว่าเป็นการทรยศทั้งสิ้น