ความแพร่หลายของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย ในประชาชนเกือบทุกประเทศทำให้เกิดการไหลบ่าอย่างรวดเร็วของข้อมูล อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน “ข่าวปลอม”เป็นส่วนหนึ่งของปรากฎการณ์นี้ บีบีซีได้ศึกษาวิจัยกระแสข่าวปลอมในหลายประเทศเพื่อดูว่าข่าวปลอมส่งผลอย่างไรต่อประชาชน และมันแพร่ไปอย่างไร
ผลการวิจัยพบว่า ข้อเท็จจริงมีความสำคัญน้อยกว่าความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการเสริมสร้างอัตลักษณ์ประจำชาติ
ผลการวิเคราะห์สื่อสังคมออนไลน์ชี้ให้เห็นว่า เครือข่ายแนวคิด “ปีกขวา” มีการบริหารจัดการที่มากกว่า “ปีกซ้าย” และเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการสร้างข่าวปลอมเพื่อปลุกกระแสชาตินิยม
นอกจากนี้มีความทับซ้อนกันระหว่างข่าวปลอมที่อยู่ตามทวิตเตอร์ กับเครือข่ายสนับสนุนนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย
ข้อค้นพบเหล่านี้เป็นผลจากการวิจัยในอินเดีย, เคนยา และไนจีเรีย ที่ว่าประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมกับการเผยแพร่และส่งต่อข่าวปลอม
กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยอนุญาตให้บีบีซีเข้าถึงโทรศัพท์ของพวกเขาเป็นเวลา 7 วัน จากนั้นนักวิจัยได้วิเคราะห์ลักษณะของข้อมูลที่พวกเขาแบ่งปัน (แชร์) และส่งไปให้ใคร บ่อยแค่ไหน
งานวิจัยนี้ดำเนินการโดย บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายงานพิเศษชุด “เบื้องลึกข่าวปลอม” (Beyond Fake News) เริ่มเผยแพร่วันที่ 12 พ.ย. ทั้งทางสถานีโทรทัศน์, วิทยุ และดิจิทัล มีเป้าหมายเพื่อสืบสวนสอบสวนว่าข้อมูลที่ถูกบิดเบือนและข่าวปลอมส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วโลกอย่างไร
ใน 3 ประเทศนี้ ความไม่ศรัทธาในสื่อกระแสหลัก ทำให้ประชาชนหันไปเสพข้อมูลข่าวสารในสื่อทางเลือกโดยปราศจากการตรวจสอบซ้ำ ด้วยความเชื่อที่ว่าพวกเขากำลังช่วยเผยแพร่เรื่องจริง นอกจากนี้ประชาชนยังมั่นใจในความสามารถตรวจจับข่าวปลอมของตัวเอง
ข้อมูลข่าวสารที่ล้นทะลักอยู่ในโลกดิจิทัลในปี 2018 ทำให้ปัญหาเลวร้ายลง กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยของบีบีซีไม่ให้ความสนใจกับการแสวงหาต้นตอของข่าวปลอมมากนัก ตรงกันข้ามพวกเขาสนใจปัจจัยต่าง ๆ เช่น จำนวนของข้อคิดเห็น (คอมเมนท์) ทางเฟซบุ๊ก ชนิดของภาพที่โพสต์ หรือตัวผู้ส่ง และก็ได้พบว่าหากพวกเขาได้รับข้อความในแอปพลิเคชันวอทส์แอป จากสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนฝูง เขาก็คิดว่าน่าเชื่อถือ และส่งต่อไปทันทีโดยไม่มีการตรวจสอบ
การแชร์ข่าวลือในวอทส์แอปได้นำไปสู่วงจรแห่งความรุนแรงในอินเดีย เมื่อประชาชนส่งต่อข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับขบวนการลักพาตัวเด็กไปให้เพื่อน ๆ และครอบครัว เนื่องจากคิดว่าจะช่วยป้องกันคนที่พวกเขารักและชุมชนได้หาได้รู้ข้อมูลนี้
จากการวิเคราะห์ของบีบีซี พบว่า มีประชาชนอย่างน้อย 32 คนต้องจบชีวิตลงเมื่อปีก่อน จากเหตุการณ์รุนแรงที่สืบเนื่องจากเผยแพร่ข่าวลือตามสื่อสังคมออนไลน์ หรือข้อความทางวอทส์แอป ตัวอย่าง เช่น การเสียชีวิตของนายอาบีจีต นาถ และนายนิลอธพัล ดาส ที่ถูกรุมประชาทัณฑ์จนเสียชีวิตในรัฐอัสสัม จากข่าวลวงที่ส่งต่อกันทางวอทส์แอป อันเป็นสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมของอินเดียว่า ทั้งคู่เป็นแก๊งอุ้มลักพาตัวเด็ก
ขณะที่ผลการวิจัยในแอฟริการะบุว่า อัตลักษณ์ประจำชาติไม่มีความสำคัญต่อการแพร่กระจายของข่าวปลอม
ในเคนยา เหตุจูงใจของข่าวลวงมักเป็นเงินและเทคโนโลยีต่าง ๆ เพราะมีจำนวนถึง 1 ใน 3 ของเรื่องราวที่แชร์กันไปมาทางวอทส์แอป ขณะที่ไนจีเรีย มักมีข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายและกองทัพแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง
ในทั้ง 2 ประเทศ ความกลัวในเรื่องสุขภาพเป็นหัวข้อหนึ่งของข่าวปลอมที่มีการส่งต่ออย่างแพร่หลาย และผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารจำนวนมากไม่สามารถแยกแยะระหว่างแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือและข่าวปลอม
ทีมนักวิจัยได้ใช้เวลาหลายร้อยชั่วโมงกับกลุ่มตัวอย่าง 80 คนใน 3 ประเทศ เพื่อสัมภาษณ์พวกเขาที่บ้านเกี่ยวกับการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ และตรวจสอบว่าพวกเขาแชร์ข้อมูลอย่างไรทางวอทส์แอปและเฟซบุ๊กในช่วงเวลา 7 วัน
ทีมนักวิจัยยังได้ทำการวิเคราะห์ข่าวปลอมที่กระจายอยู่ตามทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กในอินเดีย เพื่อทำความเข้าใจว่าการแพร่กระจายของข่าวปลอมเหล่านี้เกี่ยวข้องกับขั้วการเมืองหรือไม่
ผลการวิเคราะห์บัญชีผู้ใช้งานทวิตเตอร์ราว 16,000 บัญชี และแฟนเพจเฟซบุ๊ก 3,000 เพจ พบว่า ฝ่ายสนับสนุน “ปีกขวา” นั้นมีความพยายามในการส่งเสริมการแพร่หลายของข่าวปลอมอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ข่าวปลอมในเครือข่ายของ “ปีกซ้าย” มีบริหารจัดการได้ด้อยกว่า และมีประสิทธิภาพน้อยกว่า
————————————————————
ที่มา : BBC Thai / 12 พฤศจิกายน 2018
Link : https://www.bbc.com/thai/international-46176260