เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาสื่อออนไลน์ภาษาอังกฤษของสิงคโปร์ที่เสนอข่าวแนวสีสันของโลก AsiaOne อ้างว่าลูกค้าร้านอาหารเจต่อว่า เจ้าของร้านว่าเอาเนื้อคนผสมทำอาหารเจ ทำให้สื่อหัวสีอื่น ๆ ใน มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ออสเตรเลีย อังกฤษ และ อเมริกา ต่างอ้างข่าวนี้ไปเผยแพร่ต่อ
เกิดอะไรขึ้น
คดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้น คือ การฆ่ายัดบ่อเกรอะ ที่เป็นข่าวเมื่อวันที่ 23 ต.ค. ภายหลังตำรวจ สน. ลาดกระบัง ได้รับแจ้งพบเศษชิ้นส่วนมนุษย์ หนังศีรษะกระจายอยู่ในบริเวณห้องครัวของร้านอาหารเจแห่งหนึ่ง ริมถนนร่มเกล้า เมื่อรุดไปตรวจสอบ จึงพบศพผู้เสียชีวิตในบ่อเกรอะ ซึ่งเชื่อว่าเป็นความพยายามอำพรางคดี
ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ต.ค. มีผู้พบเศษชิ้นเนื้อมนุษย์ ในร้านอาหารเจ-ร่มเกล้า ในซอยร่มเกล้า 25/6 ถนนร่มเกล้า แขวงคลองสามประเวศ เขตลาดกระบัง กทม. โดยการตรวจสอบภายในร้าน พบเลือดกระจายเต็มพื้นห้องครัวและพบเศษเนื้อมนุษย์ตกอยู่ นอกจากนี้ยังพบศพ นายประสิทธิ์ อินปฐม อายุ 61 ปี ถูกมีดฟันจนหัวเละ จำใบหน้าไม่ได้ทิ้งไว้ในบ่อเกรอะ ซึ่งตำรวจเชื่อว่า นายบุญยืน ขำทวี อายุ 68 ปี น้องชายเจ้าของร้านอาหารที่มาเฝ้าร้านเป็นผู้ลงมือ หลังหายตัวไปจากที่เกิดเหตุ
ต่อมา วันที่ 27 ต.ค. นายุญยืนได้เข้ามอบตัวที่ สภ. อ่าวน้อย จ. ประจวบคีรีขันธ์ ด้วยคำให้การว่า คิดว่าผู้ตายเป็นโจร จึงใช้มีดพร้าหัวตัด ฟันจนเสียชีวิต ก่อนลากศพไปทิ้งที่บ่อเกรอะ ส่วนตนเองนั้น หนีไปบ้านญาติที่ จ. ประจวบคีรีขันธ์ ตำรวจอ้างว่า เบื้องต้นนายบุญยืนให้การรับสารภาพว่า เป็นบุคคลตามหมายจับจริง แต่ได้ให้การปฏิเสธไม่ขอให้การใด ๆ ในชั้นพนักงานสอบสวน โดยขอให้การในชั้นศาลเท่านั้น ซึ่งการให้การนั้นเป็นสิทธิของผู้ต้องหา
ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า จากการสอบสวน นายบุญยืน ให้การอ้างว่า เมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. ของวันที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมา ขณะกำลังหลับอยู่ภายในร้านอาหารของน้องสาว ผู้ตายได้เดินเข้าไปในร้านจุดเกิดเหตุ เขาคิดว่าเป็นคนร้ายเข้ามาขโมยของ จึงใช้มีดพร้าหัวตัดฟันจนเสียชีวิตก่อนลากศพไปทิ้งที่บ่อเกรอะ จากนั้นรีบเดินทางไปที่บ้านเกิดใน จ.เพชรบุรี จนกระทั่งหลบหนีไปเลี้ยงวัวที่บ้านญาติใน ต.อ่าวน้อย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยญาติได้เกลี้ยกล่อมให้เข้ามอบตัว จึงประสานทนายความเพื่อติดต่อขอเข้ามอบตัวดังกล่าว
แล้วสื่อต่างชาติรายงานว่าอะไร
เว็บไซต์ภาษาจีน Oriental Daily ของมาเลเซียรายงานเมื่อ 28 ต.ค. อ้างว่าลูกค้าร้านอาหารเจต่อว่า เจ้าของร้านว่า เอาเนื้อสัตว์ผสมในอาหารเจ เมื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ไปสอบ จึงพบคราบเลือด เศษเนื้อคาเครื่องบด และศพครึ่งท่อนถูกหั่นทิ้งในบ่อเกรอะ
ในเวลาใกล้กัน AsiaOne สื่อออนไลน์ของสิงคโปร์ที่เสนอข่าวแนวสีสันของโลก ก็รายงานข่าวทำนองเดียวกันออกไปเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้สื่อโลกตะวันตกหลายราย หยิบข่าวนี้ไปเสนอต่อ ไม่เว้น
แน่นอนว่า สื่อหัวสีของอังกฤษ ไม่พลาดเรื่องนี้แน่นอน ไม่ว่าจะเป็น The Sun และ Daily Mail
เมล์ออนไลน์พาดหัวว่า “สยอง ร้านอาหารเสิร์ฟเนื้อมนุษย์ หลังเจ้าของร้านฆ่าลูกค้า แล้วกำจัดศพอย่างโหดเหี้ยม” และมีผู้แชร์ข่าวนี้ มากกว่า 25,000 ครั้ง นับแต่เล่นข่าวเมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา
สื่อภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ล้วนอ้างไปที่ AsiaOne ซึ่งในวันที่ 2 พ.ย. แก้ข่าวว่า ตำรวจไทยได้ออกมาปฏิเสธว่า เนื้อของผู้ตายไม่ได้ถูกใช้ประกอบอาหารเจขายแก่ลูกค้า เพราะร้านอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ยังไม่เปิดให้บริการ
ตำรวจไทยชี้แจง
พ.ต.อ. คำแหง กัณฑวงศ์ ผู้กำกับ สน. ลาดกระบัง ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย ทางโทรศัพท์ว่า ร้านอาหารเจ ซึ่งเป็นจุดพบศพ ยังไม่เปิดอย่างเป็นทางการ อยู่ระหว่างก่อสร้าง แม้ว่าจะเคยเปิดทดลองขาย ช่วงเทศกาลกินเจ วันที่ 9-17 ต.ค. ก็ตาม แต่หลังจากนั้น ก็ปิดมาตลอด
“สื่อ (ต่างประเทศ) สร้างเรื่องขึ้นมา คงเพราะว่ามันใกล้วันฮาโลวีน”
ผู้กำกับ สน. ลาดกระบัง ยอมรับว่า สื่อมวลชนไทยติดต่อมาสอบถามข้อเท็จจริงว่า ตามที่สื่อต่างประเทศหลายเจ้ารายงานว่า “ผู้ตายทะเลาะกับเจ้าของร้านอาหารเจ จนถูกฆ่า แล้วฆาตกรทำลายศพ ด้วยการเอามาทำอาหารเสิร์ฟลูกค้า” เป็นความจริงหรือไม่
“สื่อต่างประเทศ คงมโนไปว่า สถานที่ฆาตกรรมอยู่ใกล้กับซิงก์ในห้องครัว ซึ่งเป็นจุดเตรียมอาหาร แล้วใส่สีตีไข่ไปจนเลยเถิด ทั้งที่ความจริงแล้ว มันแค่คดีอำพรางศพเท่านั้น” พ.ต.อ. คำแหง ระบุ แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดคดีเพิ่มเติม เพราะอยู่ระหว่างการสอบสวน
จับแพะชนแกะบนโลกออนไลน์
ดร. มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยวิเคราะห์กับบีบีซีไทยทางโทรศัพท์ว่า นี่เป็นตัวอย่างของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์บ่อยครั้ง
“ผู้รายงานข่าว คิดว่าการฆาตกรรมเกิดในร้านอาหารเจ แล้วคิดเองเออเองต่อว่า ต้องเอามากินแน่เลย แล้วจึงเติมสีสันให้ยิ่งดรามา เพราะสามารถขายได้… แต่ความจริง คือ “การจับแพะผสมแกะ เป็นการนำเสนอข้อมูลแบบกึ่งจริง ไม่ใช่ข่าวปลอม 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีการฆาตกรรมเกิดขึ้นจริง แต่ไปเพิ่มเติมสีสัน ต่อยอดด้วยอคติส่วนตัว ของผู้เขียนเพื่อหวังผลในเชิงธุรกิจ”
ดร. มานะกล่าวว่า ทัศนคติของสื่อที่มองประเด็นด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ พยายามดึงดูด ล่อลวงให้ประชาชนเข้ามาคลิกอ่านข่าวให้เยอะ ๆ เพราะจะเกิดเป็นรายได้ และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ซึ่ง ดร. มานะ ที่มักนำกรณีแบบนี้มาสอนนักศึกษา มองว่า เป็นเทรนด์ที่น่ากลัว เพราะแม้กระทั่งสื่อ ยังไม่กรองและตรวจสอบข้อมูล กลายเป็นทำให้ผู้เสพข่าวตกเป็นเหยื่อของโลกออนไลน์
ต่างชาติมองไทยเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน
“มันเป็นเรื่องของสเตอริโอไทป์ (stereotype — ความเชื่อแบบเหมารวม) ด้วย ที่คนอังกฤษ คนชาติตะวันตกไม่ใช่น้อย มองประเทศไทยว่า ขี่ช้างไปเรียนหนังสือ และทำไมจะเกิดคดีฆาตกรเอาเนื้อคนมาทำอาหารไม่ได้” ดร. มานะ เล่าจากประสบการณ์จริงที่เคยประสบในต่างประเทศ
เขาวิเคราะห์ต่อว่า เมื่อเกิดการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ไม่เพียงสำนักข่าวเดียว แต่หลายสำนักที่บางครั้งก็ลอกข่าวกันมา ได้ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อไทยในเชิงการท่องเที่ยว แต่นี่เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง ที่วิกฤตจริง ๆ คือ สื่อขาดความน่าเชื่อถือ และน่าเศร้าใจที่สื่อที่เล่นข่าวนี้เอง ก็ไม่สนใจความน่าเชื่อถือของตนเอง
“สำนักข่าวที่รายงานข่าวเหมือนพิน็อกคิโอ ตลกขบขันกันไป ทั้งที่ควรคำนึงถึงการตรวจสอบข้อมูลจากโลกออนไลน์ อย่าหวังแค่ยอดไลก์ คลิก หรือแชร์ มันเป็นบทเรียนให้สำนักข่าวไทยเราเองด้วย ต้องตรวจสอบให้รอบด้าน เพราะนำไปสู่การฟ้องร้องทางกฎหมายได้”
“สุดท้ายที่หมดคนเชื่อถือ สุดท้ายก็เป็นขยะออนไลน์”
ข่าวปลอม-กึ่งจริง สะเทือนเลือกตั้งไทยปีหน้า
ดร. มานะ เตือนว่า ยิ่งใกล้การเลือกตั้งทั่วไปของไทย ที่คาดว่าจะมีขึ้นในต้นปีหน้า ข่าวประเภทนี้ คือ ข่าวปลอม (Fake News) และข่าวกึ่งจริง (Half Truth News) ที่เกี่ยวกับการเมือง จะปรากฏให้เห็นมากขึ้นในสังคมออนไลน์
“พรรคและนักการเมือง กระโดดมาสู่โลกออนไลน์ บางคนอาจบิดเบือนข่าว เพื่อใส่ร้ายคู่แข่งทางการเมืองได้”
หากสื่อมวลชนขาดความน่าเชื่อถือ ประชาชน ผู้เสพสื่อเอง ควรต้องมีทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
“พูดง่าย ๆ คือ อย่าเชื่อทุกอย่างที่เห็นในโลกออนไลน์” ดร. มานะ ฝากข้อคิด พร้อมยกตัวอย่างข่าวที่เคยเป็นกระแสในไทย อาทิ ข่าวนกสองหัว พญานาค เป็นต้น
——————————————————-
ที่มา :
/ 2 พฤศจิกายน 2018Link : https://www.bbc.com/thai/thailand-46073270?ocid=wsthai.chat-apps.in-app-msg.line.trial.link1_.auin