ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เสนอ “Paris Call for Trust and Security in Cyberspace” ต่อที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยธรรมาภิบาลอินเทอร์เน็ตโลก ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดที่ปารีส ฝรั่งเศส ระหว่าง 12 – 14 พฤศจิกายน 2561 โดยเป็นข้อตกลงด้านธรรมาภิบาล เสริมสร้างความไว้วางใจและกระชับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ เฉพาะอย่างยิ่งเพื่อยับยั้งการกระทำที่ประสงค์ร้ายด้วยอาวุธทางไซเบอร์ (cyberweapons) เช่น การแทรกแซงการเลือกตั้ง การเผยแพร่แนวคิดเกลียดชัง การเซนเซอร์ออนไลน์ และการโจรกรรมข้อมูลทางการค้า การทหาร รวมถึงข้อมูลส่วนบุคคล
ผู้แทนรัฐบาล รวม 51 ประเทศ และบริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลกกว่า 218 แห่ง รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคม 93 แห่ง ร่วมลงนามในเอกสาร นายอันโตนิอู กุแตเรซ เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เปิดโอกาสให้คนส่วนน้อย เช่น กลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุได้ใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างกัน พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือดิจิทัลระหว่างภาครัฐ เอกชน สถาบันวิจัย รวมถึงภาคประชาสังคม และเห็นว่าการหารือในประเด็นเทคโนโลยีดิจิทัลควรเปิดกว้างให้ผู้เชี่ยวชาญในสาขา/อาชีพต่าง ๆ ได้มีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาและประโยชน์ที่จะได้รับในหลากหลายมิติ
ประเทศไทยควรนำแนวทางจากผลการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยธรรมาภิบาลอินเทอร์เน็ตโลก และข้อห่วงกังวลด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ถูกหยิบยกขึ้นหารือ มาปรับใช้ในบริบทของไทยตามความเหมาะสม เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน อีกทั้ง เป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์และบทบาทของไทยแก่ประชาคมโลกด้านการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ในห้วงของการเปลี่ยนเข้าสู่ยุคสังคมดิจิทัล
—————————————————————
องค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน
22 พฤศจิกายน 2561