นักวิจัย Indiana University เผยผลการวิจัยพบว่าบรรดาข่าวปลอมที่แชร์กันในทวิตเตอร์ช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯปี 2016 สัดส่วน 31% นั้นมาจากบ็อทในทวิตเตอร์เพียง 6 บัญชี แสดงให้รู้ว่าบ็อทสามารถเผยแพร่ข้อมูลปลอมได้เร็วมากในเวลาไม่กี่วินาที
ช่วงระยะเวลาที่บ็อทใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลปลอมอยู่ที่ 2-10 วินาที Filippo Menczer ผู้ร่วมทำการวิจัยบอกเหตุผลที่บ็อทมีอิทธิพลต่อการแพร่ข่าวปลอมว่าเป็นเพราะ social bias หรือความเห็นของสังคมที่มีแนวโน้มจะไปสนใจสิ่งที่ได้รับความนิยมหรือ popular ซึ่งบ็อททำสิ่งนี้ได้ดีและเร็วกว่าคน
MIT ยังเคยวิจัยเรื่องนี้ด้วยและมีความสิดคล้องกันตรงที่ ข้อมูลปลอม เดินทางได้เร็วและแพร่หลายกว่า โดยจากเรื่องราวบนทวิตเตอร์ทั้งหมด 126,000 จากผู้ใช้งาน 3 ล้านราย ตั้งแต่ปี 2007-2017 พบว่า ข้อมูลจริง ใช้เวลา 60 ชั่วโมงในการเข้าถึงผู้ใช้งาน 1,500 ราย แต่ข้อมูลปลอมใช้เวลาแค่ 10 ชั่วโมงเท่านั้น
นักวิจัยที่ Indiana University ยังบอกด้วยว่า ตัวช่วยสำคัญเสริมการแพร่ข้อมูลปลอมคือบรรดา influencer บนทวิตเตอร์ที่มีคนติดตามมาก ไม่ว่าจะเป็นดารา นักการเมือง เพียงแค่พวกเขารีทวีตข้อมูลปลอมก็ช่วยให้คนอื่นเชื่อมากขึ้นไปอีก นักวิจัยบอกว่าถือเป็น useful idiot
มีงานวิจัยอีกที่จาก University of Southern California สำรวจโพสต์บนทวิตเตอร์ 4 ล้านโพสต์เรื่องการลงประชามติแยกคาตาลันออกจากสเปน นักวิจัยบอกว่าบ็อทไม่ได้แรนดอม แต่เจาะจงไปยัง influencer ที่เผยแพร่ข้อมูลผิดไม่มีแหล่งอ้างอิง และคนเหล่านั้นไม่มีทางรู้ตัว
นักวิจัยบอกว่าสิ่งนี้เป็นเหมือน endemic หรือโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะในโซเชียลมีเดีย และแสดงถึงด้านมืดที่บ็อทจะถูกนำไปใช้ ทั้งที่บ็อทก็มีประโยชน์สามารถแจ้งเตือนได้ทันท่วงทีหากมีเหตุร้ายแรงเกิดขึ้น
——————————————————-
ที่มา : Blognone / 22 November 2018
Link : https://www.blognone.com/node/106570