สังคมแต่ละแห่งในปัจจุบันมักปรากฎอาการโรคประจำสังคมที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นผลกระทบเนื่องมาจากการดำรงชีพหรือวิถีชีวิตของผู้ที่อยู่อาศัยในสังคมนั้นๆ อย่างเช่น การเผชิญกับการก่อเหตุร้ายตามพื้นที่สาธารณะของประเทศต่างๆ ในยุโรปหรือในสหรัฐฯ จนส่งผลให้ประชาชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐเกิดอาการวิตกกังวล หวาดกลัวกับเหตุร้าย จนกลายสู่อาการของโรคชนิดหนึ่ง เรียกง่ายๆ ว่า แพนิค (panic) โดยมักมีอาการตกใจกลัวอย่างรุนแรง จนกลายเป็นสาเหตุให้เกิดพฤติกรรมระแวงภัยจนถึงกระทำการเพื่อปกป้องตนเองอย่างขาดสำนึกใคร่ครวญ อย่างเช่น กรณีเมื่อเดือนธันวาคม 2554 นายเจสัน สตอกลีย์ อดีตตำรวจเมืองเซนต์หลุยส์ สหรัฐฯ สังหารนายแอนโธนี ลามาร์ สมิธ ชายผิวดำด้วยความหวาดกลัวว่า เป็นคนร้ายที่ร่วมการค้ายาเสพติด ทั้งที่นายสมิธเป็นเพียงประชาชนธรรมดาและยินยอมให้ทำการจับกุม คดีนายสตอกลีย์สังหารนายสมิธนี้ยังเป็นสาเหตุให้ประชาชนในเมืองเซนต์หลุยส์ ทำการประท้วงทางการจนลุกลามกลายเป็นการจลาจล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สำหรับสังคมสุทัศนีย์อย่างประเทศไทยแตกต่างกว่า จากที่สังเกตเห็นและนิยมที่จะกล่าวอ้าง กลับกลายเป็นอาการซึมเศร้า(Depression) ซึ่งส่งผลกระทบเท่าหรือยิ่งกว่าอาการแพนิค
เมื่อทำความรู้จักกับอาการซึมเศร้าจึงทราบว่า เป็นโรคทางจิตเวช เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ทั้งแสดงอาการใกล้เคียงกับผู้ที่มีอาการเศร้าโศกหรือเสียใจทั่วไป โดยผู้ป่วยโรคนี้มักจะไม่รู้ตัวว่าป่วยหรืออาจรู้ตัวขณะที่พัฒนาอาการไปสู่ขั้นรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและสังคมโดยรอบไปแล้ว ถึงแม้จะรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาและการทำจิตบำบัด แต่ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการ ทั้งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและการให้ความร่วมมือในการรักษาจากผู้ป่วยและญาติ สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการซึมเศร้ามาจากหลายปัจจัย ตั้งแต่กรรมพันธุ์ การพัฒนาของจิตใจ สิ่งแวดล้อมที่ต้องเผชิญ รวมทั้งจากกรณีที่สาร Serotonin (เป็นสารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาทภายในสมอง มีบทบาทสำคัญในการควบคุมอารมณ์) และสาร norepinephrine (เป็นสารสื่อประสาทในระบบประสาทส่วนกลาง มีส่วนเกี่ยวข้องกับอารมณ์และความสามารถในการจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง การที่มีระดับ norepinephrine ลดลง จะทำให้เกิดภาวะต่างๆ เช่น โรคสมาธิสั้น โรคซิมเศร้า และโรคความดันโลหิตต่ำ) ในสมองผิดปกติ หรือมาจากการใช้สารเสพติดที่อาจทำให้สารเคมีในสมองผิดปกติ เหล่านี้ทำให้ความสามารถในการทำงานลดลง ซึ่งผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะนี้ได้มากกว่าผู้ชายถึงร้อยละ 70 ถึงแม้อาการสำคัญของโรคซึมเศร้าคือความวิตกกังวล แต่ก็ยังเอื้อโอกาสให้สามารถอยู่ร่วมในสังคมปกติได้ แต่พิจารณาถึงการเข้ามาร่วมการปฏิบัติงานการข่าวหรืองานรักษาความปลอดภัย ต่างเป็นงานที่ต้องเผชิญและทำการแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความสามารถในการประสานความคิดและความรู้สึกของตัวเองให้ได้อย่างดีพอ ลักษณะงานเช่นนี้จะก่อให้เกิดความเครียดได้โดยง่ายทำให้น่าพิจารณาว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะสามารถเผชิญกับสภาพงานเช่นนี้ได้ยาวนานเพียงใด อาการโรคซึมเศร้าแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
ประเภทแรกคือโรคซึมเศร้าแบบรุนแรง (Major Depression) พฤติกรรมที่แสดงออกให้เห็นจะเป็นอาการเศร้าโศกอย่างมาก มักรู้สึกกระวนกระวายอยู่ตลอดเวลา มีความกังวลบ่อยๆ หงุดหงิดฉุนเฉียว โกรธง่าย อยู่ไม่สุข และไม่มีความสนใจกับกิจกรรมรอบตัวใดๆ แต่อาการเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ เมื่อเกิดอาการจะส่งผลกระทบต่องานในความรับผิดชอบและสังคมที่ดำรงอยู่ทันที เพราะเป็นช่วงเวลาที่ปฏิเสธการเผชิญกับทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งอาการเช่นนี้กระทบโดยตรงต่อการเข้ามาร่วมปฏิบัติงานด้านการข่าวหรืองานรักษาความปลอดภัย เนื่องจากความรับผิดชอบงานด้านการข่าวหรือการรักษาความปลอดภัยไม่สามารถให้โอกาสกับผู้ที่ต้องมีสภาพเว้นวรรคการปฏิบัติงานได้
ประเภทที่ 2 โรคซึมเศร้าแบบ Dysthymia หรือ Persistent Depression ถึงแม้ประเภทนี้จะมีอาการน้อยกว่าประเภทแรก แต่มีสภาพอารมณ์ที่ผิดปกติเกิดขึ้นสลับกันจนอาจกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันหรือหน้าที่ความรับผิดชอบ ผู้ป่วยจะสูญเสียความสามารถในการทำงานและปราศจากความรู้สึกที่ดีต่อสังคมที่ดำรงอยู่ อาการเช่นนี้จะสร้างความเสียหายต่อข่ายงานและผู้ร่วมงาน หากให้เข้ามาร่วมปฏิบัติงานด้านการข่าวหรืองานรักษาความปลอดภัย เพราะการปฏิบัติงานดังกล่าวต้องเผชิญกับสภาพสังคมหลายหลาก ที่มีทั้งความขัดแย้ง ความสับสน และแตกต่างกันไปที่นับเป็นภาวะกดดันที่ไม่สามารถเผชิญได้ และอาจเป็นสาเหตุให้ละทิ้งหน้าที่ หรือก่อความขัดแย้งกับกลุ่มผู้ร่วมงานได้โดยง่าย
ประเภทที่ 3 โรคซึมเศร้าอารมณ์ตก (Bipolar หรือ Manic-depressive Illness) โดยผู้ป่วยจะมีอารมณ์แบบสองขั้ว เป็นลักษณะที่มีอารมณ์แปรปรวนรุนแรงสลับไปมาระหว่างความคิดฟุ้งซ่านขาดสติ (Mania) กับอารมณ์สนุกคึกคักเกินเหตุ โดยเกิดจะการเปลี่ยนแปลงเป็นช่วง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อพฤติกรรม ความคิด การตัดสินใจ และมักก่อให้เกิดปัญหาในสังคม เช่น การใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย หรือตัดสินใจผิดๆ เห็นภาพลวงตา ภาพหลอน และอาจมีความคิดฆ่าตัวตายในช่วงที่มีอาการซึมเศร้าได้
นอกจากนี้ ภาวะซึมเศร้าอาจแสดงด้วยวิธีที่แปลกออกไป อย่างเช่น การเสพติดโลกออนไลน์มากกว่าโลกความเป็นจริง โดยจะใช้เวลากับสังคมออนไลน์มากจนเกินกว่าคนปกติจะทำ ชอบและมีพฤติกรรมการลักขโมย เพราะการลักขโมยจะช่วยทำให้ความรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญหรือแสดงออกทางอารมณ์มากจนเกินปกติ เช่น ก้าวร้าว วิตกกังวล หวาดกลัว และหมดหวัง จากอาการที่ส่งผลต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้น่าประเมินถึงความเหมาะสมต่อการนำเข้ามาร่วมปฎิบัติงานในความรับผิดชอบของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ
ข้อมูลประกอบจาก :
www.honestdocs.co
www.thaidepression.com/www/