เมื่อ 19 พ.ย.61 ศูนย์เชี่ยวชาญการศึกษาวิจัยและจัดทำผลสำรวจทางวิชาการในมาเลเซีย Merdeka Center for Opinion Research ได้เปิดเผยรายงานผลการสำรวจเกี่ยวกับความอดทน อดกลั้น และการตอบสนองต่อแนวทางรุนแรงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อกรณีการแพร่ขยายแนวคิดรุนแรงระหว่างประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นคนส่วนใหญ่ในมาเลเซียและอินโดนีเซีย กับประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นคนส่วนน้อยในไทยและฟิลิปปินส์ พบว่า
1. ในภาพรวมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังถือเป็นภูมิภาคที่อยู่ในแนวทางสายกลาง แต่แนวคิดรุนแรงมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ชาวมุสลิมมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีความอดทน อดกลั้นต่อคนต่างศาสนาน้อยลง โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ตอบรับการใช้ความรุนแรงเพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ทางศาสนาถึงร้อยละ 52 และเห็นว่า การโจมตีตำรวจ ทหาร พลเรือน และการทำญีฮาด เป็นสิ่งที่ถูกต้อง อย่างไรก็ดี การแพร่ขยายแนวคิดรุนแรงในภูมิภาคมีแรงจูงใจแตกต่างกัน โดยประเทศที่คนมุสลิมเป็นชนส่วนใหญ่ มีแรงจูงใจทางศาสนาเรื่องการทำอิสลามบริสุทธิ์ ส่วนประเทศที่คนมุสลิมเป็นชนส่วนน้อย มีแรงจูงใจเป็นเรื่องนามธรรมที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้เพื่อดินแดนหรือชีวิตความเป็นอยู่
2. ลักษณะของชาวมุสลิมที่มีแนวโน้มฝักใฝ่แนวคิดรุนแรง มักมีความเชื่อที่ว่ามุสลิมกำลังสูญเสียเกียรติภูมิและกำลังตกเป็นเหยื่อของความไม่ถูกต้องหรือถูกเลือกปฏิบัติ นอกจากนั้น ยังเชื่อว่าการก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่ศาสนาอิสลามอนุญาตให้ทำได้ มุสลิมกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มักเป็นกลุ่มคนที่ยากจนและด้อยโอกาสทางสังคม โดยในรายงานผลการสำรวจแบ่งกลุ่มความรุนแรง (extremism) ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) พวกหัวรุนแรงสุดโต่ง และ 2) พวกที่มีความโน้มเอียงในการเสียสละตนเอง หรือสละเสรีภาพและทรัพย์สิน เพื่อปกป้องอิสลาม ซึ่งกลุ่มคนหัวรุนแรงในไทยและมาเลเซียส่วนใหญ่เป็นประเภทที่ 2
3. รายงานฉบับนี้ยังเสนอแนวทางดำเนินการเพื่อสกัดกั้นการแพร่ขยายแนวคิดรุนแรงในภูมิภาคไว้ 4 แนวทาง ได้แก่ 1) การตรวจสอบ เปลี่ยนแปลง และแก้ไขบทความ/เนื้อหาทางศาสนา ในระบบการศึกษา และการบรรยายธรรมให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยแบบพหุสังคม 2) การผลักดันการผลิตหรือการสร้าง “เรื่องเล่าตอบโต้” (counter-narratives) ที่มุ่งทางสายกลาง โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายเยาวชน 3) การใช้คนที่เคยเข้าร่วมกลุ่มหัวรุนแรงที่ปัจจุบันไม่มีแนวคิดดังกล่าว มาเป็นผู้ส่งสารสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมสาธารณะ และ 4) การจัดระบบการศึกษาแบบผสมผสานให้นักเรียนมีความหลากหลายทางศาสนาและความเชื่อ เพื่อลดความไม่รู้ และมีความอดทน อดกลั้นต่อคนต่างศาสนามากขึ้น
ในเนื้อหาของรายงานทำให้เห็นถึงทิศทางการแพร่ขยายแนวคิดรุนแรงที่มีแนวโน้มขยายตัวและน่าห่วงกังวลมากขึ้น ซึ่งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำเป็นต้องเฝ้าระวัง เพราะการแพร่ขยายแนวคิดในปัจจุบันมีพัฒนาการหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการแพร่ขยายทางสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งถือเป็นช่องทางและเครื่องมือสำคัญที่กระจายแนวคิดได้อย่างรวดเร็วเป็นวงกว้าง สำหรับหน่วยความมั่นคงในไทยควรนำผลการสำรวจไปเป็นแนวทางในการติดตามความเคลื่อนไหว หรือกำหนดนโยบายในการปฏิบัติต่อกลุ่มหัวรุนแรงในไทยต่อไป
———————————————————————-
องค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน
3 ธันวาคม 2561