การจับกุม เมิ่ง เวินโจว (Meng Wanzhou) ผู้บริหาร ฝ่ายการเงิน บริษัทหัวเหว่ย เทคโนโลยีของจีน เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2018 ที่แคนาดา ในข้อหาการละเมิดการคว่ำบาตรอิหร่าน เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเดียวกันกับการประชุมที่อาร์เจนติน่าของกลุ่ม จี-20 ที่ สี จิ้นผิง และ โดนัลด์ ทรัมป์ เจรจาสงบศึกสงครามการค้าชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน กรณีหัวเหว่ยจะมีผลทำให้ การเจรจาการค้าของสองประเทศ คงจะไม่ราบรื่น เพราะความขัดแย้งของสองประเทศ ไม่ได้อยู่ที่เรื่องภาษีนำเข้าอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการแข่งขันด้านไฮเทค
กรณีหัวเหว่ย ทำให้ฝ่ายจีนนึกย้อนไปถึงเหตุการณ์เมื่อเมษายนที่ผ่านมา ที่สหรัฐฯคว่ำบาตรบริษัทอุปกรณ์โทรคมนาคม ZTE ของจีน โดยสหรัฐฯห้ามไม่ให้ ZTE ทำธุรกิจกับซับพลายเออร์ของสหรัฐฯ ห้ามไม่ให้ใช้ตัวชิป และอุปกรณ์สำคัญอื่นๆของสหรัฐฯ ทำให้ ZTE เกือบล้มละลาย ปัญหา ZTE มาแก้ไขได้ในเดือนมิถุนายน จากการหารือระหว่างสี จิ้นผิงกับโดนัลด์ ทรัมป์
โจมตีหัวใจของ Made in China
เว็บไซด์ Nikkei.com กล่าวว่า หากสหรัฐฯมีข้อห้ามกับหัวเหว่ย แบบเดียวกับกรณีของ ZTE จะเป็นกรณีที่ส่งผลรุนแรงมากกว่า เพราะหัวเหว่ยมีรายได้มากกว่า ZTE ถึง 5 เท่า หัวเหว่ยยังเป็นบริษัทเอกชนรายใหญ่สุดของจีน ที่มีมูลค่าการส่งออกมากสุด และเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับสองของโลก
หัวเหว่ยมีบทบาทสำคัญต่อนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของจีน ที่เรียกว่า Made in China 2025 และเป็นองค์กรหลักของจีน ในนำระบบการสื่อสารไร้สาย 5G มาใช้ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) และรถยนต์ไร้คนขับ สหรัฐฯเห็นว่า การที่จีนยกระดับทางเทคโนโลยี เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ เพราะสามารถนำไปใช้ทางด้านกิจการทหาร
วารสาร MIT Technology Review ก็กล่าวถึงเหตุผลหลายอย่าง ที่สหรัฐฯและประเทศพันธมิตร วิตกเรื่อง ภัยความมั่นคงจากอุปกรณ์ของหัวเหว่ย
ประการแรก หัวเหว่ยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ด้านสถานีเครือข่ายการสื่อสารไร้สาย เครือข่ายจะมีข้อมูลสำคัญในด้านต่างๆ เช่น สาธารณูปโภค ตลาดหุ้น และระบบขนส่ง ฝ่ายทหารและความมั่นคงของจีน สามารถใส่ซอฟต์แวร์ลับๆกับอุปกรณ์ดังกล่าว เมื่อเกิดวิกฤติ ก็สามารถทำให้การสื่อสารไม่ทำงาน
ประการที่สอง หัวเหว่ยเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ของโลก ทำให้เกรงกันว่า จีนอาจใช้ประโยชน์ด้านจารกรรม เมื่อเดือนพฤษภาคม กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ห้ามไม่ให้ร้านค้าในฐานทัพสหรัฐฯ ขายโทรศัพท์ของหัวเหว่ยและ ZTE เพราะกลัวว่าจะถูกเจาะข้อมูลเรื่องการเคลื่อนไหวของบุคลากรทางทหาร
ประการต่อมา บริษัทโทรคมนาคมทั่วโลก กำลังดำเนินการติดตั้งระบบสื่อสารไร้สายแบบ 5G ที่จะทำให้การถ่ายโอนข้อมูลเกิดขึ้นรวดเร็วมาก ทำให้หุ่นยนต์สามารถติดต่อสื่อสารกันและกัน รวมทั้งระหว่างรถยนต์ไร้คนขับ เมื่ออุปกรณ์ต่างๆเชื่อมโยงกันมากขึ้น หากระบบดังกล่าวถึงเจาะ ก็จะเกิดความปั่นป่วน เมื่อเร็วๆนี้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รวมทั้งอังกฤษ ได้ห้ามการใช้อุปกรณ์ของหัวเหว่ย ในโครงสร้างพื้นฐานของ 5G
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐสภาสหรัฐฯได้ผ่านกฎหมายชื่อว่า National Defense Authorization Act for Fiscal Year 2019 ที่ห้ามหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ ใช้ผลิตภัณฑ์จาก 5 บริษัทของจีน ที่ประกอบด้วย หัวเหว่ย, ZTE, Hangzhou Hikvision Technology, Dahua Technology และ Hytera Communications
เมื่อต้นปี 2018 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ออกประกาศห้ามไม่ให้บริษัทอเมริกัน ขายชิ้นส่วนและซอฟต์แวร์แก่ ZTE เป็นเวลา 7 ปี เพราะ ZTE ส่งอุปกรณ์โทรคมนาคมให้กับอิหร่านกับเกาหลีเหนือ แต่ต่อมา ZTE ทำความตกลงกับรัฐบาลสหรัฐฯ โดยจ่ายค่าปรับ 1.2 พันล้านดอลลาร์ และลงโทษพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบการขาย อุปกรณ์ของ ZTE ต้องอาศัยชิ้นส่วนจากสหรัฐฯ เช่น ตัวชิปจาก Qualcomm และระบบปฏิบัติการ Android ของ Google
กฎหมายฉบับนี้ ทำให้สหรัฐฯมีมาตรการที่ 2 ซึ่งจะมีผลในเดือนสิงหาคม 2020 คือ ห้ามบริษัททั่วโลกทำธุรกิจกับหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ หากบริษัทเหล่านั้นใช้อุปกรณ์ ในสำนักงาน ที่ผลิตจาก 5 บริษัทของจีนดังกล่าว มาตรการนี้ได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นได้เริ่มทำการสำรวจแล้วว่า ตัวเองใช้อุปกรณ์อะไรบ้างจากหัวเหว่ยหรือ ZTE
การเติบโตของหัวเหว่ย
ทางฝ่ายจีนรู้มานานแล้วว่า สหรัฐฯระแวงและสงสัยต่อหัวเหว่ย เพราะเหวิน เจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) ที่เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท เคยเป็นเจ้าหน้าที่ด้านวิศวกรรมก่อสร้าง ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ระหว่างปี 1978-1983 แต่นักวิชาการญี่ปุ่นของมหาวิทยาลัยโตเกียว ชื่อ โตโมโอะ มารูคาวา (Tomoo Marukawa) กล่าวกับ เว็บไซด์ของ วิทยาลัยธุรกิจ Wharton ว่า “ ผมคิดว่า การที่สหรัฐฯอาศัยข้อเท็จจริงว่า เหวิน เจิ้งเฟย เคยมีประสบการณ์เป็นททหารมาก่อน เป็นเรื่องไม่มีน้ำหนัก เกาหลีใต้เป็นประเทศใช้ระบบเกณฑ์ทหาร หากเอาเหตุผลเดียวกันมาใช้ ก็หมายความว่า บริษัทเกาหลีใต้ทั้งหมด มีความเสี่ยงต่อความมั่นคง”
ก่อนหน้าเมื่อไม่กี่ปีมาแล้ว หัวเหว่ยเป็นบริษัทข้ามชาติของจีน ที่คนทั่วโลกรู้จักน้อยที่สุด เหวิน เจิ้งเฟยตั้งบริษัทนี้ขึ้นมาในปี 1987 หลังจากถูกเลิกจ้างจากองทัพจีน ช่วงแรกบริษัทผลิตอุปกรณ์เชื่อมต่อโทรศัพท์ ต่อมาเป็นอุปกรณ์เครือข่ายโทรคมนาคม และโทรศัพท์สมาร์ทโฟน
การขยายธุรกิจสู่ผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค ส่วนหนึ่งมาจากเหตุผลที่ว่า หัวเหว่ยมีจุดอ่อนสำคัญเรื่องการรับรู้ในตราสินค้า ที่คนทั่วไปนอกประเทศจีน ไม่ค่อยรู้จัก การยกระดับ “ห่วงโซ่คุณค่า” (value chain) จากการผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม มาสู่สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ทำให้หัวเหว่ยสามารถพัฒนาแบบก้าวกระโด่ด ทั้งในเรื่องการรับรู้ตราสินค้า และการสร้างผลกำไร
ปัจจุบัน หัวเหว่ยเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนใหญ่อันดับ 2 ของโลก มีรายได้รวมปีหนึ่งกว่า 90 พันล้านดอลลาร์ หัวเหว่ยเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนใหญ่อันดับ 2 ของโลก มีรายได้รวมปีหนึ่งกว่า 90 พันล้านดอลลาร์ แต่ก็ยังมีปัญหาเหมือนบริษัทสมาร์ทโฟนอื่นๆของจีน คือทำอย่างไรจะยกระดับตัวเองจากตลาดระดับล่าง สู่ตลาดระดับสูง หากได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคมากขึ้น ในด้านตราสินค้า จะทำให้คนทั่วไปมองหัวเหว่ย แบบเดียวกับที่มองโซนี่ ซัมซุง หรือว่าแอปเปิ้ล
ส่วนการเติบโตทางธุรกิจของหัวเหว่ย อาศัยกลยุทธ์ที่มาจากการเติบโตจากภายในองค์กร มากกว่าที่จะเข้าไปซื้อกิจการบริษัทอื่น การสร้างนวัตกรรมก็อาศัยวิธีการเรียกว่า วิศวกรรมผันกลับ (reverse engineering) คือ นำเอาเทคโนโลยีต่างประเทศ มาถอดออกเป็นชิ้นๆ เพื่อการวิเคราะห์ แล้วก็อาศัยการค้นคว้าวิจัยของตัวเอง มาผลิตสิ้นส่วนต่างๆ เพื่อนำมาใช้แทนของเดิมจากต่างประเทศ
สงครามเย็นด้านไฮเทค
แต่ปัญหาอุปสรรคสำคัญที่หัวเหว่ยประสบอยู่คือ ประเด็นการเมืองและการพุ่งขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีน นาย Scott Sykes ผู้บริหารด้านสื่อนานาชาติของหัวเหว่ย กล่าวกับเว็บไซด์ของวิทยาลัย Wharton ว่า หัวเหว่ยทำธุรกิจใน 140 ประเทศ และให้บริการแก่ผู้ประกอบการโทรคมนาคม 500 แห่ง ทำธุรกิจมาแล้ว 26 ปี โดยอุปกรณ์ของหัวเหว่ย ไม่มีปัญหาเรื่องความมั่นคง ปัญหาที่หัวเหว่ยเผชิญอยู่ จึงเป็นเรื่องการกีดกันการค้า และเรื่องภูมิรัฐศาสตร์
ที่ผ่านมา ความขัดแย้ง จีนกับสหรัฐฯ อยู่ที่เรื่องการเก็บภาษีนำเข้า แต่จริงๆแล้ว ความขัดแย้งสำคัญสุดคือ การต่อสู้เรื่อง การพัฒนาเทคโนโลยีของศตวรรษที่ 21 ที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อุตสาหกรรมชิปคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงอุปกรณ์เครือข่ายโทรคมนาคม เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล และความมั่นคงของประเทศ ประเด็นปัญหาคือ จีนต้องการไล่ตามความได้เปรียบของสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯต้องการรักษาฐานะนำ
ในหนังสือชื่อ AI Superpowers ของ Kai-Fu Lee ผู้เชี่ยวชาญ AI ของไต้หวัน กล่าวว่า การแข่งขันด้าน AI ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ไม่จำเป็นจะต้องออกมาในรูปของฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ และอีกฝ่ายเสียประโยชน์ (zero-sum game) ในความเห็นของ Kai-Fu Lee ความก้าวหน้าด้าน AI ทั้งของสหรัฐฯกับจีน เหมือนกับดำรงอยู่ของคู่จักรวาลฝาแฝด แต่ละฝ่ายต่างก็มีความก้าวหน้าเฉพาะตัว สหรัฐได้เปรียบด้านการวิจัยในสิ่งที่เป็นหัวใจของเทคโนโลยีด้าน AI ส่วนจีนได้เปรียบในเรื่องการนำ AI มาใช้ในอุตสาหกรรมแทบทุกด้าน
Kai-Fu Lee กล่าวว่า ความได้เปรียบของจีนในการพัฒนา AI เกิดจากหลายปัจจัย ประแรก ผู้ประกอบการจีน กระตือรือร้นมาก ที่จะนำเอา AI มาใช้งาน โดยมองหาโมเดลธุรกิจต่างๆ ที่ AI จะเข้ามาช่วย เช่น AI ในร้านค้าปลีก AI ในการศึกษา หรือ AI ในร้านอาหาร การที่จีนก้าวหน้าไว้ด้าน AI ก็เพราะการเอาจริงเอาจังของผู้ประกอบการ
ประการที่ 2 จีนเป็นประเทศมีข้อมูลมากกว่าประเทศอื่น AI จะทำงานได้ดีขึ้น เมื่อมีข้อมูลดีขึ้น เช่นธนาคารใช้ AI ทำงานด้านการปล่อยสินเชื่อ ยิ่งมีข้อมูลมากขึ้น AI ก็ทำงานได้เที่ยงตรงมากขึ้น ทุกวันนี้ จีนแทบไม่มีบัตรเครดิตหรือการใช้เงินสด ทุกคนชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ทำให้เกิดข้อมูลอย่างดีต่อการทำงานของ AI
ประการสุดท้าย รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนมากต่อ AI โดยประกาศว่าเป็นหนึ่งในเรื่องต้องให้ความสำคัญ มีเมืองที่สร้างขึ้นมาโดยมีแผนงานเรื่องรถยนต์ไร้คนขับ โดยทำถนน 2 ระดับ ระดับหนึ่งสำหรับคนเดิน และอีกระดับมีการติดตั้งระบบเซนเซอร์ สำหรับรถยนต์ไร้คนขับ การทำงานของ AI ต้องการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแบบนี้ เพราะภาคเอกชนไม่สามารถจะสร้างสิ่งนี้ได้เอง
แต่สหรัฐฯคงไม่ยอมรับแนวคิดการดำรงอยู่ของสองจักรวาลด้านไฮเทค บทความใน MIT Technology Review กล่าวว่า กรณีของหัวเหว่ย กลุ่ม Eurasia Group บริษัทวิจัยความมั่นคงของเอกชน ไม่พบว่ามีช่องทางลับในอุปกรณ์ของหัวเหว่ย แม้ทุกฝ่ายจะมีความกังวลในเรื่องนี้ แต่ก็ไม่เคยพบหลักฐานใดเลย แม้ว่าสิ่งนี้จะเป็นความจริง แต่สหรัฐฯก็คงไม่ยอมรับ
———————————————————-
ที่มา : Thaipublica / 10 ธันวาคม 2018
Link : https://thaipublica.org/2018/12/pridi124/