การจับกุมตัวลูกสาวผู้ก่อตั้งหัวเว่ยที่แคนาดาเพื่อส่งต่อไปให้รัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีน กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกอีกครั้ง
รัฐบาลชาติตะวันตกระแวงหัวเว่ยมาสักพักแล้ว สั่งห้ามไม่ให้บริษัทโทรคมนาคมใช้บริการด้านเครือข่ายของหัวเหว่ยโดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง
สหราชอาณาจักรยังไม่ได้สั่งห้ามอย่างเป็นทางการ แล้วหัวเว่ย เป็นภัยต่อความมั่นคงจริงหรือ
หัวเว่ยคืออะไร
หากคุณกำลังมองหาสมาร์ทโฟนใหม่ หัวเว่ยเป็นหนึ่งในคู่แข่งสำคัญในท้องตลาด สถิติเมื่อเร็ว ๆ นี้ระบุว่าสินค้าจากจีนยี่ห้อนี้ครองส่วนแบ่งถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของตลาดโลก นำหน้าแอปเปิล และเป็นรองก็แต่ซัมซุง แต่ที่ผู้ใช้ทั่วไปอาจไม่รู้คือหัวเว่ยเติบโตอย่างรวดเร็วในฐานะผู้ผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์ไร้สาย
ในขณะที่จีนมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ หัวเว่ยก็เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของโลกแล้ว
เหริน เจิ้งเฟย อดีตวิศวกรแห่งกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ก่อตั้งหัวเว่ยในปี 1987 ที่เซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง โดยมีพนักงาน 1.8 แสนคนเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท
ภัยความมั่นคง?
สหรัฐฯ อ้างว่า ด้วยพื้นเพทางทหารของผู้ก่อตั้งบริษัท และและการที่หัวเว่ยมีอิทธิพลในเวทีโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้บริษัทนี้เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ
โดยทฤษฎีแล้ว การเป็นผู้ควบคุมเทคโนโลยีที่ใช้ในเครือข่ายคมนาคมทำให้บริษัทมีความสามารถในการจารกรรม หรือขัดขวางการติดต่อ หากมีกรณีพิพาทกันในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออุปกรณ์มากมายที่ต้องพึ่งอินเทอร์เน็ตมากขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นรถที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง หรืออุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน ประเทศที่ใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยต่างจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
ที่สำคัญไปกว่านั้น สหรัฐฯ อ้างถึงการผ่านกฎหมายด้านข่าวกรองแห่งชาติของจีนเมื่อปี 2017 ซึ่งระบุว่า องค์กรต่าง ๆ ต้องให้ความร่วมมือในงานด้านข่าวกรองของชาติ นี่ทำให้สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ห้ามบริษัทในประเทศไม่ให้ใช้บริการด้านเทคโนโลยีโดยหัวเว่ยสำหรับระบบเครือข่าย 5G ที่จะเริ่มใช้กันเร็ว ๆ นี้
นับเป็น 3 ใน 5 ประเทศที่รวมกลุ่มกันในชื่อ “Five Eyes” ซึ่งแลกเปลี่ยนด้านข่าวกรองระหว่างกัน ขณะนี้ แคนาดากำลังพิจารณาด้านความสัมพันธ์กับบริษัทอยู่ สหราชอาณาจักรก็ยังไม่มีท่าทีอย่างเป็นทางการเช่นเดียวกัน และกำลังถูกสหรัฐฯ กดดันอยู่
ทำไมสหราชอาณาจักรยังไม่บล็อกหัวเว่ย
รัฐบาลอังกฤษยอมรับว่าความสัมพันธ์กับหัวเว่ยไม่ได้ราบรื่น ศูนย์ความมั่นคงด้านไซเบอร์แห่งชาติ (National Cybersecurity Centre) ซึ่งดูแลด้านความมั่นคงของระบบเครือข่ายมือถือประเทศได้เรียกร้องให้หัวเว่ยแก้ไขปัญหาที่สร้างความเสี่ยงใหม่ ๆ ให้กับเครือข่าย
ยิ่งไปกว่านั้น อเล็กซ์ ยังเกอร์ ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองสหราชอาณาจักร MI6 ระบุว่า มีหลายสิ่งที่ “ต้องตัดสินใจ” เกี่ยวกับบทบาทของหัวเว่ยเพราะเมื่อเริ่มใช้เครือข่าย 5G แล้ว จะเฝ้าระวังในเรื่องของความมั่นคงได้ยากขึ้น
บริษัทโทรคมนาคม BT ได้ประกาศว่าอยู่ในกระบวนการถอดถอนเครื่องมือของหัวเว่ยออกจากการใช้ในระบบเครือข่ายโทรศัพท์ 3G และ 4G และจะไม่ใช้ชิ้นส่วนประกอบหลักสำหรับเครือข่าย 5G
อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยได้ให้บริการด้านเทคโนโลยีกับบริษัทอังกฤษมากว่า 10 ปี และสหราชอาณาจักรก็อยากจะรักษาความสัมพันธ์อันดีกับจีนไว้ในขณะที่เตรียมถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป
ผู้ให้บริการด้านเครือข่ายมือถือส่วนมากเช่น Vodafone, EE และ Three ได้เริ่มต้นทำงานกับหัวเว่ยเพื่อเตรียมรับระบบ 5G แล้ว และอาจจะไม่ง่ายที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน
หัวเว่ยว่าอย่างไร
หัวเว่ยพยายามแสดงออกว่าเป็นบริษัทเอกชนมาตลอด ไม่ว่าจะถือหุ้นโดยพนักงานของตัวเองและไม่มีการเชื่อมโยงกับรัฐบาลจีนไปมากกว่าเป็นผู้เสียภาษีให้รัฐ บริษัทบอกว่าให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยและความมั่นคงเป็นอันดับแรกเวลาให้บริการด้านเทคโนโลยี และมุมมองมุงร้ายบางส่วนเป็นผลมาจากเพราะบริษัทถูกมองว่าเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาด
ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนระบุว่า ความพยายามที่จะป้องกันไม่ให้ใช้บริการของหัวเว่ยเข้าข่ายลัทธิปกป้องการค้า และเป็นการเลือกปฏิบัติ
มุมมองในเชิงลบต่อหัวเว่ยมาพร้อมกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยสหรัฐฯ กล่าวหาว่าจีนใช้นโยบายทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และส่งเสริมให้เกิดขโมยทรัพย์สินทางปัญญาจากบริษัทในสหรัฐฯ
———————————————————
ที่มา : BBC Thai / December 7, 2018
Link : https://www.bbc.com/thai/international-46470637