สนามบินแกตวิกของอังกฤษเตรียมกลับมาเปิดใช้รันเวย์อีกครั้งในวันนี้ ตามเวลาท้องถิ่น หลังจากเที่ยวบินหลายร้อยเที่ยวไม่สามารถขึ้นบินได้ เพราะพบว่ามีโดรนลำหนึ่งบินอยู่เหนือสนามบินในช่วงวันพุธและพฤหัสบดีที่ผ่านมา
ความคืบหน้าล่าสุด ตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัย 2 คน ที่คาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการบินโดรนใกล้กับรันเวย์ของสนามบินแกตวิกได้แล้ว และกำลังดำเนินการสอบสวนบุคคลทั้งสองด้วยข้อหาการใช้โดรนก่ออาชญากรรม
สนามบินแกตวิกระบุว่า รันเวย์จะกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้งในวันนี้ ซึ่งมีเที่ยวบินทั้งหมด 757 เที่ยวบิน และผู้โดยสารอีกกว่า 1.2 แสนคน แต่ทั้งนี้อาจมีการล่าช้าและยกเลิกในบางเที่ยวบิน แนะให้ผู้โดยสารตรวจสอบกับสายการบินก่อนออกเดินทาง
การสั่งปิดสนามบินในชานกรุงลอนดอนเพียง 2 วัน ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสาร 1.2 แสนคน และ 760 เที่ยวบิน ที่ออกบินไม่ได้ หรือต้องย้ายไปลงประเทศอื่นในยุโรปแทน ทำไมโดรนลำเดียวจึงสร้างความโกลาหลได้มากมายขนาดนี้ และมันทำให้เกิดความเสี่ยงอะไรบ้าง
โดรนคืออะไร?
คำว่า “โดรน” สำหรับบางคนอาจนึกถึงการโจมตีทางอากาศ แต่หุ่นยนต์บินได้ที่ถูกใช้ในสนามรบแบบนั้น ไม่ใช่โดรนแบบเดียวกับที่เรากำลังพูดถึง
ยานพาหนะทางอากาศที่ไร้คนขับส่วนใหญ่ มีขนาดเล็ก, มีสี่ใบพัดและควบคุมจากระยะไกล ผู้ใช้มักเป็นคนที่เล่นโดรนเป็นงานอดิเรกและบรรดาช่างภาพ
อุปกรณ์ขนาดเล็กเหล่านี้ กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น มีราคาตั้งแต่ไม่ถึง 40 ปอนด์ หรือราว 1,650 บาท ไปจนถึงหลายพันปอนด์ หรือหลายหมื่นบาท
หลายอุตสาหกรรมกำลังใช้งานโดรนเพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง และค้าปลีก
โดรนสร้างความเสียหายอะไรต่อเครื่องบินได้บ้าง?
ในเดือน ต.ค. 2017 โดรนลำหนึ่งชนกับเครื่องบินพาณิชย์ในแคนาดา บริเวณปีกของเครื่องบิน เครื่องบินลำดังกล่าวได้รับความเสียหายเล็กน้อย แต่ยังสามารถร่อนลงจอดได้อย่างปลอดภัย
งานวิจัยเกี่ยวกับความเสียหายที่โดรนกระทำต่อเครื่องบิน ยังคงจำกัด แต่มีสถาบันหลายแห่งได้ทดสอบผลกระทบในหลายเหตุการณ์ และแต่ละเหตุการณ์ดูเหมือนจะให้ผลสรุปที่แตกต่างกันไป
การทดสอบซึ่งทำที่มหาวิทยาลัยเดย์ตัน ในสหรัฐฯ ได้จำลองการชนกันกลางอากาศระหว่างโดรนสี่ใบพัดน้ำหนัก 1 กก. กับเครื่องบินพาณิชน์ลำหนึ่งที่บินมาด้วยความเร็ว 383 กม. ต่อชั่วโมง และดูเหมือนว่ามัน จะก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรง
อีกงานวิจัยหนึ่งจาก Assure (Alliance for System Safety of Unmanned aircraft system through research Excellence) ร่วมกับสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐฯ ระบุว่า โดรนอาจทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าการชนกับนก และแบตเตอรีลิเธียมไอออนที่โดรนใช้งาน อาจจะไม่แตกกระจายออกจากการชน แต่กลับหลุดเข้าไปในเครื่องบิน และทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดเพลิงไหม้ได้
รวี ไวเดียนาธาน อาจารย์ด้านหุ่นยนต์ที่อิมพีเรียลคอลเลจ ในกรุงลอนดอน กล่าวกับบีบีซีว่า “ความเสี่ยงจากโดรนที่มีต่อเครื่องบินขนาดใหญ่ขึ้น ยังเป็นความเสี่ยงเล็กน้อย แต่ก็ไม่สามารถเพิกเฉยได้”
“ความน่าจะเป็นของการชนกันยังน้อยอยู่ แต่โดรนอาจถูกดูดเข้าไปในใบพัดได้”
“โดรนที่มีน้ำหนักมากกว่า 2 กก. อาจทำให้กระจกหน้าห้องนักบินแตกได้ในเครื่องบินบางแบบ”
มาร์ติน ลานนี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Quantum Aviation บริษัทด้านความปลอดภัยทางอากาศ กล่าวว่า “โดรนดูเหมือนจะเปราะบาง แต่แบตเตอรีแข็งมาก และถ้าเปรียบเทียบโดรนกับนก ก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายมากกว่า ถ้ามันหลุดเข้าไปในเครื่องยนต์ หรือชนเข้ากับส่วนลำตัวของเครื่องบิน”
UK Airprox Board ระบุว่า มีเหตุเครื่องบินและโดรนบินเข้าใกล้กันจนเกือบชนกัน 92 ครั้งในปี 2017
สนามบินจะปกป้องตัวเองได้อย่างไร?
ในสหราชอาณาจักร กฎหมายห้ามนำโดรนขึ้นบินภายในรัศมี 1 กม. จากสนามบิน มีผลบังคับใช้ในเดือน ก.ค. นอกจากนี้ การนำโดรนขึ้นบินที่ระดับสูงกว่า 400 ฟุต หรือราว 120 เมตรจากพื้นถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายด้วย
แต่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากได้ชี้ว่า กฎหมายนี้อาจใช้ไม่ได้ผล เมื่อพิจารณาจากเครื่องบินที่กำลังร่อนลงจอด ที่จะต้องบินต่ำกว่า 400 ฟุต แน่นอนว่า คนที่มีเจตนามุ่งร้ายย่อมไม่เคารพกฎหมายนี้
เรือนจำบางแห่งได้ทดสอบระบบปิดกั้นสัญญาณวิทยุภายในบริเวณนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้โดรนที่ใช้ลักลอบขนส่งสินค้าร่อนลงจอดได้
แต่สำหรับสนามบินที่เอาจริงเอาจังกับการปกป้องตัวเองจากการป่วนด้วยโดรน Quantum Aviation เสนอระบบที่ซับซ้อนกว่าและมีราคาแพง ด้วยการใช้เรดาร์ อุปกรณ์ตรวจจับความถี่วิทยุ และกล้องเพื่อตรวจจับ เมื่อมีโดรนบินเข้ามาใกล้และหาตำแหน่งของโดรนว่ามาจากไหน
ระบบของ Quantum Aviation สามารถ “ส่งสัญญาณรบกวน” โดรน ทำให้มันหยุดทำงานได้ ตามหลักการแล้ว โดรนควรจะมีโหมดที่ตั้งค่าไว้ว่า หากเกิดกรณีนี้ขึ้น มันจะบินกลับไป หรือจะแล่นลงจอดอย่างปลอดภัย
DJI ผู้นำโลกในด้านการผลิตโดรนพลเรือน ได้นำระบบ geo-fencing มาใช้ในผลิตภัณฑ์ของทางบริษัทในปี 2013
เทคโนโลยีนี้สามารถป้องกันโดรนไม่ให้บินเข้าไปในบางพื้นที่ และแจ้งเตือนผู้ควบคุมโดรนเมื่อบินเข้าใกล้เขตต้องห้าม
จับโดรนได้อย่างไร?
ถ้าการส่งสัญญาณรบกวนโดรน หรือระบบ geo-fencing ไม่ทำงาน ยังมีอุปกรณ์อีกหลายอย่างที่สามารถนำโดรนลงมาได้
เจ้าหน้าที่ทางการฝรั่งเศสได้สาธิตวิธีการใช้โดรนติดตั้งตาข่าย ขึ้นไปจับโดรนอีกลำหนึ่ง ขณะนี้มีหลายบริษัทรวมถึง DroneDefence และ OpenWorks Engineering ที่เสนอวิธีการปล่อยตาข่ายออกไปจับโดรน
เลเซอร์ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง โดยทั้งจีนและสหรัฐฯ ได้ทดลองใช้เลเซอร์ต่อต้านโดรนแล้ว ซึ่งสามารถนำโดรนลงมาภายในเวลาไม่กี่วินาที หลังจากรู้ตำแหน่งของโดรน
อาวุธนี้ทำงานด้วยการส่องลำแสงเลเซอร์ไปยังโดรน ส่องไปถึงในระยะที่จะใช้เลเซอร์ทำลายโดรนได้
เอียน เกรย์ ผู้อำนวยการด้านน่านฟ้า ที่มหาวิทยาลัยแครนฟีลด์ (Cranfield University) คิดว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับกรณีโดรนที่พบที่สนามบินแกตวิก นับจากนี้สนามบินหลายแห่งจะต้องพิจารณาถึงปัญหานี้อย่างจริงจัง
เขากล่าวกับบีบีซีว่า “สนามบินต่าง ๆ ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ และต้องการทำงานอย่างใกล้ชิดกับนักวิชาการเพื่อช่วยปรับปรุงเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับอนาคต”
—————————————————————–
ที่มา : BBC Thai / 22 ธันวาคม 2018
Link : https://www.bbc.com/thai/international-46648662