หลายปีมาแล้วที่บริษัทยักษ์ใหญ่เช่น แอมะซอน แอลฟาเบต และ อูเบอร์ มีแผนจะใช้โดรนส่งของให้เราถึงบ้านด้วยเวลาไม่กี่นาที เหตุไรพวกเขายังทำไม่สำเร็จเสียที
คำตอบง่าย ๆ คือ กฎระเบียบในการใช้โดรน
หากการจราจรบนฟ้าหนาแน่นพอกับบนท้องถนน ก็ต้องมีการทบทวนกฎระเบียบเกี่ยวการใช้เส้นทางบนน่านฟ้าเสียใหม่เพื่อป้องกันทั้งอุบัติเหตุ การคุกคามโดยผู้ก่อการร้าย และปัญหาอื่นที่ตามมา อาทิ มลภาวะทางเสียง
เสียงดังกวนใจ
งานวิจัยโดยนาซาเมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า เสียงจราจรบนท้องถนน “ถูกวัดค่าอย่างเป็นระบบว่าน่ารำคาญน้อยกว่า” เสียงของโดรน
ครั้งหนึ่ง แอลฟาเบต ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล ทดลองส่งอาหารฟาสต์ฟู้ดทางโดรนย่านบอไนธันในกรุงแคนเบอร์ราของออสเตรเลีย ชาวบ้านในพื้นที่คนหนึ่งบอกกับสำนักข่าวเอบีซีนิวส์ว่า เขาสามารถได้ยินเสียงโดรนชัดเจน แม้นหน้าต่างกระจกสองชั้นของบ้านทุกบานปิดมิดชิด
ด้วยเหตุนี้ การลดมลภาวะทางเสียงจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ออกระเบียบต้องพิจารณา หลายหน่วยงานสั่งห้ามการส่งของทางโดรนตั้งแต่ช่วงค่ำ แต่นั่นก็ตรงกับเวลาที่หลายครัวเรือนกำลังหิวและอยากให้ส่งอาหารช่วงนั้น
อีฟส์ มอริแอร์ จากสำนักงานความปลอดภัยการบินแห่งยุโรป (EASA) บอกว่า มลภาวะทางเสียงเป็นหนึ่งประเด็นของการหารือ ระหว่างการออกกฎระเบียบชุดใหม่ของยุโรป
โดรนเถื่อน
แม้ว่าขณะนี้จะมีโดรนใช้พื้นที่บนท้องฟ้าน้อยอยู่ แต่เหตุอันตรายที่เกิดจากการใช้โดรนมีมากขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อเดือนที่แล้ว โดรน “เถื่อน” ทำให้ต้องปิดสนามบินเวลลิงตันในนิวซีแลนด์ และในอังกฤษ มีผู้ใช้โดรนรายหนึ่งถูกตั้งข้อหาทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายหลังจากบังคับโดรนบินไปใกล้เฮลิคอปเตอร์ของตำรวจเกินไป
เมื่อเดือน ส.ค. ประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร ของเวเนซุเอลา บอกว่าตกเป็นเป้าของ “ความพยายาม” ลอบสังหารด้วยโดรน
ฝ่ายหน่วยงานที่ออกระเบียบพยายามจะกลับมาควบคุมความปลอดภัยให้ได้โดยบังคับให้ผู้ใช้โดรนต้องลงทะเบียน
แบนัวท์ เคอร์ดี เลขาธิการองค์กรเพื่อการจัดระบบการจราจรของยานไร้คนขับโลก (Global Unmanned Aircraft Systems Traffic Management Association) บอกว่า เป้าหมายคือการควบคุมการจราจรทางอากาศอย่างมีเอกภาพ ผ่านระบบดิจิทัล ครอบคลุมทุกระดับตั้งแต่ระดับประเทศไปจนถึงนานาชาติ
“การลงทะเบียนเป็นก้าวแรก เพราะจะทำให้เจ้าหน้าที่รู้ได้ว่าโดรนของใครที่กำลังบินอยู่”
นายมอริแอร์ บอกว่า แม้จะไม่สามารถลดความเสี่ยงให้เป็นศูนย์ได้ แต่ก็สามารถออกมาตรการที่จะเข้าไปช่วยกำกับดูแลได้ ซึ่งนั่นคือการบังคับให้ผู้ใช้โดรนที่มีน้ำหนักมากกว่า 250 กรัม ต้องลงทะเบียน
ปลอดภัยหรือ
โดรนสำหรับส่งของจะหมดความนิยมอย่างรวดเร็วหากเกิดเหตุโดรนตกบ่อย
เมื่อเดือน ต.ค. ตำรวจในภูมิภาคเวสต์มิดแลนด์สของอังกฤษรายงานถึงข้อผิดพลาดของโดรนตรวจการณ์ DJI Matrice 200 ของหน่วยที่จู่ ๆ ก็หมดแรงแม้จะยังมีแบตเตอรีเหลืออยู่
นายมอริแอร์ บอกว่าความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดคือการลดความเสี่ยงที่โดรนจะชนกับยานพาหนะทางอากาศอื่น ๆ
วิง (Wing) บริษัทให้บริการส่งของด้วยโดรนของแอลฟาเบต อ้างว่า ได้ ทดสอบการบิน “หลายหมื่นครั้ง” ในสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย และจะไปทดสอบที่ฟินแลนด์ต่อในปีหน้า
บริษัทบอกว่า โดรนของพวกเขาใช้ระบบการนำทางอันชาญฉลาด และใช้มอเตอร์ที่มีระบบสำรองซึ่งจะช่วยให้โดรนบินไปได้อย่างปลอดภัย
ขณะนี้ ยังไม่มีการอนุญาตให้ทำการบินในรัศมีทำการที่เกินระยะสายตา (Beyond Visual Line of Sight) ซึ่งหมายโดรนที่สามารถบังคับตัวเองได้ หรือบังคับจากทางไกล เนื่องจากผู้ที่ออกกฎเกณฑ์ควบคุมยังไม่อนุมัติเทคโนโลยีที่ทำให้โดรนสามารถ “ตรวจจับ” และ “หลบหลีก” เองได้
นายมอริแอร์บอกว่ายังไม่มีเทคโนโลยี “ตรวจจับ” และ “หลบหลีก” ที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าโดรนจะไม่พุ่งชนยานพาหนะทางอากาศอื่น ๆ ได้ในขณะนี้ และด้วยเหตุผลนี้ จึงห้ามไม่ให้โดรนที่ไม่ได้ใช้เชิงพาณิชย์บินสูงเกิน 120 เมตร
ไร้มาตรฐาน
กฎเกณฑ์ที่กำหนดว่าคุณจะบินโดรนได้อย่างไรและที่ไหนแตกต่างอย่างมากในแต่ละประเทศ ในสหรัฐฯ สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ (FAA) กำหนดว่า โดรนที่ใช้สำหรับการส่งของต้องมีน้ำหนักน้อยกว่า 25 กก. และสามารถบินขึ้นสูงได้แค่ 123 เมตร
ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียมีกฎห้ามใช้โดรนโดยเด็ดขาด
แม้ว่ามากกว่า 50 ประเทศจะเป็นสมาชิกหน่วยงานร่วมเพื่อการวางกฎระเบียบสำหรับระบบไร้คนขับ (Joint Authorities for Rulemaking of Unmanned Systems) แต่ก็ยังไม่มีการตกลงมาตราฐานสำหรับการปฏิบัติที่แน่นอน
ถึงไหนแล้วตอนนี้
โดรนถูกพัฒนาครั้งแรกเพื่อการใช้งานทางทหารตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทว่าในอีก 2 ปี อุตสาหกรรมโดรนจะมีมูลค่า สูงถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 3 ล้านล้านบาท ในปี 2020 ตามการคาดการณ์ของ ธนาคาร โกลด์แมน แซคส์
แม้ว่าการใช้โดรนจะอยู่ในขั้นทดลองอยู่ แต่หลาย ๆ ที่ในโลกก็ได้เริ่มใช้ประโยชน์จากมันอย่างเต็มที่แล้ว ไปรษณีย์ของสวิตเซอร์แลนด์ ได้เริ่มใช้โดรนในการส่งตัวอย่างในห้องทดลองระหว่างเมืองลูกาโนและกรุงเบิร์น
ในจีน JD.com ธุรกิจค้าขายออนไลน์ยักษ์ใหญ่ เริ่มส่งพัสดุไปบางแห่งในชนบทโดยใช้โดรนตั้งแต่ปีที่แล้ว
ในปี 2019 ผู้อาศัยอยู่บนเกาะเฟิร์สเนชัน ทางตอนเหนือของรัฐออนแทริโอของแคนาดา จะเริ่มต้นรับสินค้าโดยการขนส่งทางโดรน
ข้อกังวลอื่น ๆ
โดรนที่มีกล้องวิดีโอติดก็เป็นอีกประเด็นที่น่ากังวลเพราะอาจจะเป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้ รวมถึงเป็นอันตรายต่อนก และผู้ที่ใช้พื้นที่บนท้องฟ้าในระดับต่ำด้วย ไม่ว่าจะเป็นบอลลูนลอยฟ้า หรือร่มร่อน ที่เรียกกันว่า พาราไกลดิ้ง
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ หากคุณอยากจะให้มีโดรนมาส่งพิซซ่าถึงบ้านในเร็ววัน คุณอาจจะต้องทนหิวไปก่อน
—————————————————————–
ที่มา : BBC Thai / 21 ธันวาคม 2561
Link : https://www.bbc.com/thai/international-46636357