1. Internet Communication
ปัจจุบันเทคโนโลยีถือเป็นตัวกำหนดภูมิทัศน์ทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถือเป็นความท้าทายในสังคมยุดิจิทัลซึ่งผู้ให้บริการในโลกธุรกิจต้องเผชิญ เพื่อให้เข้าใจถึงสภาพความท้าทายเหล่านี้
ในปี 1998 แลร์รี (Lawrence Larry Page) กับเชอร์เก (Sergey Mikhaylovich Brin) ได้ก่อตั้ง Google โดยบริหารงานด้วยหลักการที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องมุ่งเน้นไปยังผู้ใช้งาน พวกเขาเชื่อว่าถ้าสร้างบริการที่ดีเยี่ยมได้ โดยการสร้างเสิร์ชเอนจิน (Search Engine) ที่ดีที่สุด พวกเขาก็จะประสบความสำเร็จอย่างมาก ส่วนการสร้างเสิร์ชเอนจิน และบริการที่หลากหลายนั้น ได้ใช้กลยุทธ์ในการจ้างวิศวกรซอฟต์แวร์ที่มีความสามารถ ให้มากที่สุด แล้วให้อิสระในการทำงานซึ่งการเป็นผู้นำวิศวกรที่ฉลาดที่สุดเป็นทางเดียวที่จะทำให้กูเกิลเติบโตและบรรลุเป้าหมายได้ ดังนั้นเหตุผลที่แลร์รีและเชอร์เกจ้างเอริก ชมิดท์ (Eric Schmidt ) เข้าทำงานนั้นไม่ใช่เพราะความเฉียบไวทางธุรกิจของเขาเพียงอย่างเดียว แต่เพราะเอริกเคยมีประสบการณ์เป็นนักเทคโนโลยีมาก่อน โดยเอริกเป็นผู้เชี่ยวชาญระบบปฏิบัติการ Unix เคยช่วยพัฒนา Java ที่หมายถึงภาษาที่ใช้ในการเขียนซอฟต์แวร์ และเป็นผู้ภูมิเรื่องเทคโลยีคอมพิวเตอร์เพราะเคยทำงานที่ Bell Lab มาก่อน
ต่อมากูเกิลได้วางแผนการดำเนินงานโดยมุ่งเน้นไปยังผู้ใช้บริการ โดยการสร้างผลิตภัณฑ์และแพลตฟอร์มที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ เช่น Gmail และ Docs อีกทั้งยังเสนอบริการที่มีประสิทธิภาพที่สามารถเข้าถึงและใช้บริการได้ง่าย เช่นเปิดให้ใช้บริการผ่านเว็ป นอกจากนี้ผู้ใช้บริการถือเป็นรากฐานที่สำคัญของกูเกิล ยิ่งมีผู้ใช้บริการมากก็จะยิ่งดึงดูดลูกค้าโฆษณาเข้ามามากขึ้น
ในปี 2000 กูเกิลได้พัฒนาเสิร์ชเอนจิ้นให้สามารถสืบค้นข้อมูลเร็วยิ่งขึ้น และค้นหาได้หลายภาษา ปรับปรุงส่วนประสานงานผู้ใช้ให้ใช้งานง่ายขึ้น เพิ่มแผนที่ และการสืบค้นข้อมูลในพื้นที่ใกล้เคียงให้ได้ผลลัพธ์ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังขยายบริการเว็บเบราว์เซอร์ Google Chrome โดยพัฒนาให้เป็นเบราว์เซอร์ที่เร็วและปลอดภัยที่สุดและทำให้ทุกผลิตภัณฑ์ของกูเกิลสามารถสร้างรายได้ด้วยระบบโฆษณาที่มีประสิทธิภาพและให้ผลสัมฤทธิ์สูงสุด
กูเกิลได้มีหลักการในการดำเนินการของบริษัท คือ ไม่ต้องการทำธุรกิจแบบปีศาจร้าย (Don’t be evil) เป็นภาษิตที่ใช้เป็นจรรยาบรรณของกูเกิลตั้งแต่ปี 2000 หลังจากนั้นบริษัทกูเกิลได้ถูกสร้างขึ้นใหม่ภายใต้การรวมกลุ่มของอัลฟาเบต ในปี 2015 โดยใช้ภาษิตว่า ทำในสิ่งที่ถูกต้อง (Do the right thing) อย่างไรก็ตามกูเกิลได้มีรายได้จากการขายเทคโนโลยีการค้นหาและค่าโฆษณา ดังนั้นเป้าหมายในการเป็นบริษัทที่มีอำนาจในการแข่งขันทางธุรกิจของกูเกิลอาจทำให้จรรยาบรรณที่มีอยู่เลือนหายไป
2. อินเตอร์เน็ตและผลสะเทือนต่อปริมณฑลทางกฎหมาย
ประวัติการสืบค้นข้อมูล Google Search อาจเป็นแหล่งข้อมูลของรัฐในการสอดส่องสังคมพลเมืองอินเทอร์เน็ตได้ เนื่องจากบุคคลที่ทำกิจกรรมอยู่บนอินเทอร์เน็ตสามารถสร้างตัวตนปลอม อำพราง หลอกลวง เพื่อสร้างตัวตนสมมติในโลกไซเบอร์ได้อย่างหลากหลาย จึงเป็นการสร้างภาระหน้าที่ให้แก่รัฐเพื่อสร้างหลักประกันบางอย่างหรือคุ้มครองข้อมูลบางอย่าง เพื่อสืบให้ได้ว่าบุคคลในโลกความจริงคือใครหรือข้อมูลที่ปรากฎในกูเกิลใดเป็นภัยที่อาจสร้างผลกระทบต่อรัฐได้
ในปี 2009 Google Trend ถือเป็นโปรเจกต์ของ Google แต่เดิมถูกปฏิเสธที่จะใช้เป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ในวงการวิชาการ แต่การสืบส่องค้นข้อมูลในช่องเสิร์จช่วยให้ค้นพบความจริงๆ หลายอย่าง ที่อาจนำไปสร้างข้อสันนิษฐานต่อยอดได้ เครื่องมือนี้จึงช่วยให้เข้าถึงความคิดคนในโลกในปริมาณมหาศาลได้
ในกรณีที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ขึ้นพูดให้คนไม่ตัดสินและไม่เหยียดชาวมุสลิม การพูดครั้งนั้นสื่อต่างๆ ล้วนชมว่าพูดได้ดีมาก งดงาม น่าประทับใจ แต่เมื่อดูแนวโน้มการเสิร์ชกลับพบว่า คนสืบค้นคำด้านลบเกี่ยวกับ Muslim เป็นผู้ก่อการร้ายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว แต่สิ่งที่ทำให้เกิดแรงกระตุ้นด้านบวก คือเมื่อ บารัค โอบาม่า ได้ยกตัวอย่างว่ามีคนมุสลิมที่เป็นนักกีฬาระดับชาติ และเป็นทหารรับใช้ชาติมากมาย คำพูดนี้กระตุ้นให้เกิดความสงสัย คนเสิร์ชหาว่าทหารและนักกีฬาที่นับถือศาสนาอิสลามคือใคร คำพูดเพื่อต่อต้านความคิดที่รุนแรงอาจควรพูดถึงข้อมูลใหม่ที่เขาไม่เคยรู้ กระตุ้นให้คนสงสัยและอยากรู้
การส่องการเสิร์ชข้อมูลของผู้ใช้บริการ อาจทำให้รัฐพบความเห็นสาธารณะจากคนที่มีตัวตนในสังคม ซึ่งมีจำนวนมากที่เสิร์ชด้วยความรู้สึกและความสงสัย ไม่ได้เกิดจากการตอบแบบสอบถามที่อาจโป้ปดกันได้ จากกรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่า Google Search อาจนำไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์หรืออาจนำไปสู่อาชญากรรมหรือการก่อการร้ายได้ ดังนั้นจึงต้องออกแบบกฎหมายเพื่อกำกับการใช้บริการของกูเกิลเพื่อควบคุมบรการที่หลากหลายที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต โดยรัฐต้องไม่ปิดกั้นสิทธิในการเข้าถึงบริการดังกล่าว
3. ระบอบการกำกับโลกไซเบอร์และตัวแบบในการกำกับดูแลพื้นที่ไซเบอร์
กูเกิลถือเป็นผู้ให้บริการที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดวิธีการค้นหาข้อมูลที่กระจัดกระจายในอินเตอร์เน็ต โดยผู้ใช้บริการค้นหาข้อมูลด้วย Google Search Engine เพื่อเชื่อมโยงกับสิ่งที่ผู้ใช้พิมพ์ลงไปในรูปแบบที่น่าจะตรงกับความต้องการมากที่สุด
กรณีศึกษา: คดีกูเกิลสเปน หนังสือพิมพ์ลา บานกวาร์เดียของสเปน ได้เผยแพร่ประกาศการบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเกี่ยวข้องกับหนี้ประกันสังคมในค.ศ. 1998 ประกาศดังกล่าวพิมพ์ขึ้นตามคำสั่งของกระทรวงแรงงานและประกันสังคม เพื่อเชิญชวนให้ผู้สนใจเข้าร่วมการประมูลครั้งนี้ ต่อมาหนังสือพิมพ์ดังกล่าวถูกนำมาเผยแพร่บนเว็ปไซต์ด้วย ในการเผยแพร่ข้อมูลได้ปรากฏทรัพย์สินของ มารีโอ คอสเตฆา กอนซาเลส อยู่ โดยปรากฏชื่อเขาในฐานะเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดี
ต่อมาในปี ค.ศ. 2009 มารีโอแจ้งไปยังหนังสือพิมพ์ลา บานกวาร์เดียว่า เมื่อพิมพ์ชื่อของเขาเป็นคำค้นข้อมูลในกูเกิล จะได้ผลการค้นหาเว็ปไซต์ที่มีข้อมูลประกาศดังกล่าว จึงขอให้หนังสือพิมพ์นำข้อมูลเกี่ยวกับตัวเขาออก เนื่องจากกระบวนการขายทอดตลาดได้เสร็จสิ้นไปแล้วจึงไม่ควรเผยแพร่อีก ทางฝ่ายหนังสือพิมพ์แจ้งว่าไม่สามารถลบข้อมูลของเขาออกได้ เพราะการพิมพ์ประกาศดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งของกระทรวงแรงงานและประกันสังคม ต่อมา มารีโอจึงได้ติดต่อไปยังกูเกิลสเปน เพื่อขอให้ยุติการเชื่อมโยงลิงค์ผลการค้นหาไปยังเว็ปไซต์ที่มีประกาศ
คดีนี้ประเด็นจำกัดเฉพาะกูเกิลในการนำลิงก์ที่เชื่อมโยงข้อมูลออกจากผลการค้นหาเท่านั้น เพราะกูเกิลไม่ใช่ผู้ให้บริการเว็บเพจที่เก็บเนื้อหาข้อมูลพิพาท เห็นได้ว่าการตีความของศาลกฎหมายคุ้มครองข้อมูลไม่ได้จำกัดเฉพาะข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเท่านั้น แต่คุ้มครองข้อมูลในลักษณะอื่นด้วย เช่นข้อมูลเก่าที่ไม่สอดคล้องกับเจ้าของข้อมูลปัจจุบัน
จากกรณีดังกล่าวเมื่อพิจารณานโยบายการลบลิงค์ข้อมูลของกูเกิล พบว่ากูเกิลมีความพยายามวางเกณฑ์พิจารณาคำร้องโดยคำนึงถึงจุดสมดุลระหว่างสิทธิ หากเป็นข้อมูลเกี่ยวกับมิติชีวิตส่วนตัวของบุคคลเหล่านั้นก็สามารถอ้างสิทธิที่จะลบได้ แต่หากเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับการหลอกลวงด้านการเงิน การประพฤติมิชอบในวิชาชีพ การกระทำที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะของนักการเมืองหรือข้าราชการกูเกิลอาจปฏิเสธคำขอให้ลบลิงก์เชื่อมโยงนั้นได้
4.ความเป็นส่วนตัวในการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
เทคโนโลยีในปัจจุบันสามรถก่อให้เกิดการละเมิดความเป็นส่วนตัวได้ง่าย การเก็บรวบรวมหรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลนั้นสามารถทำได้ง่าย จึงอาจกระทบต่อความเป็นส่วนตัวและละเมิดสิทธิของเจ้าของข้อมูลได้
กรณีศึกษา: คดี AARON C. BORING; CHRISTINE BORING V. Google,Inc คดีนี้เป็นคดีแรกในสหรัฐอเมริกาที่มีการฟ้องกูเกิลในพฤติกรรมการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแผนที่กูเกิล
ข้อเท็จจริงในคดีเกิดขึ้นที่มลรัฐเพนซิลวาเนียในสหรัฐอเมริกา โดยในเดือนเมษายน ค.ศ. 2008 ครอบครัวบอริงส์ (Boring) เป็นโจทก์ฟ้องกูเกิลที่นำรถติดตั้งอุปกรณ์เก็บข้อมูลทำแผนที่เข้ามาถ่ายภาพบ้านของตนซึ่งตั้งอยู่บนถนนส่วนบุคคลและมีป้ายห้ามบุกรุก (Private Road, No trespassing) ติดตั้งไว้ แต่กูเกิลยังคงนำรถเข้ามาถ่ายภาพ การเก็บภาพดังกล่าวปรากฏภาพสระว่ายน้ำในบ้านของโจทก์ด้วย โดยการฟ้องร้องครั้งนี้ โจกท์ได้ฟ้องในประเด็น การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล (Invasion of privacy) และการบุกรุกสถานที่ (Trespass) เพื่อฟ้องร้องและเรียกค่าเสียหาย
สำหรับประเด็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ข้ออ้างหลักของโจทก์คือ ภาพถ่ายที่รุกล้ำความเป็นส่วนตัว ศาลมองว่าเป็นกรณีของทิวทัศน์ภายนอกของบ้าน โรงรถ และสระว่ายน้ำซึ่งภาพเหล่านี้อาจมองเห็นได้โดยคนที่ผ่านไปมา ดังนั้นการที่รถเก็บข้อมูลของกูเกิลทำแผนที่เข้าไปในทางเดินรถและถ่ายภาพยังไม่ถึงขั้นมีนัยสำคัญและรุนแรงเมื่อเทียบกับความรู้สึกของคนทั่วไป
คดีนี้เป็นกรณีกูเกิลสตรีทวิวในบริบทของกฎหมายสหรัฐอเมริกา หากเปรียบเทียบกับกรณีกูเกิลสตรีทวิวในยุโรป จะพบว่ามีการปรับใช้กฎหมายที่แตกต่างกัน เนื่องจากยุโรปมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data protection law) ทั้งในส่วนของกฎหมายสหภาพยุโรป (European Privacy Directive 95/46/EC) และกฎหมายภายในประเทศต่างๆ มีหลักครอบคลุมการเก็บรวบรวม ประมวลผล และเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล หากพิจารณาคดีดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การทำแผนที่ของกูเกิลที่การเก็บข้อมูลภาพบุคคลสามารถระบุตัวตนได้นั้น ก็จัดอยู่ในความหมายของ “ข้อมูลส่วนบุคคล” ดังนั้นการเก็บข้อมูลจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อน
ประเด็นในแง่ข้อมูลส่วนบุคคลจากกรณีกูเกิลสตรีทวิว ไม่ใช่อยู่ที่ภาพถ่ายบุคคลเท่านั้น เนื่องจากอุปกรณ์เก็บข้อมูลที่ติดตั้งบนยานพาหนะยังสามารถเก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นที่จัดอยู่ในความหมายของ “ข้อมูลส่วนบุคคล” ตามนัยของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของยุโรปและอีกหลายประเทศ เช่น ข้อมูลจากเครือข่าย Wi-Fi ต่างๆ โดยเฉพาะเครือข่ายที่ไม่สามารถเข้ารหัสได้ ซึ่งรวมถึงข้อมูลเนื้อหาการสื่อสารของบุคคลในอีเมล รวมถึงรหัสผ่านต่างๆ หากไม่มีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลย่อมก่อให้เกิดผลเสียในด้านสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้เจ้าของข้อมูลไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างพอเพียงอาจก่อให้เกิดผลกระทบตามมาในภายหลัง ในด้านเศรษฐกิจทำให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่กล้าที่จะทำธุรกิจด้วย
5.การก่อการร้ายไซเบอร์ สงครามไซเบอร์ และความมั่นคงไซเบอร์
การสื่อสารในสังคมอินเทอร์เน็ตสร้างผลสะเทือนให้กับสังคมในวงกว้าง ดังนั้นรัฐที่ต้องการควบคุมข้อมูลหรือข่าวสารทางการเมืองให้อยู่ภายใต้กรอบที่รัฐกำหนดไว้อาจถูกสอดส่องผ่านและล้วงข้อมูลจากบุคคลนิรนามในโลกออนไลน์ได้
กรณีกูเกิลกล่าวว่าบัญชี Gmail ของเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาล นายทหาร และนักข่าวของสหรัฐอเมริกา คือเป้าหมายหลักของการโจมตีในการชิงข้อมูลในที่อยู่ใน Gmail ของนักสิทธิมนุษยชนที่กิจอยู่ในประเทศจีน ซึ่งมีสองแอคเคาน์ที่ถูกโจมตีได้สำเร็จและข้อมูลที่หลุดออกไปได้แก่ข้อมูลเกี่ยวกับแอคเคาน์ เช่น วันที่สร้างแอคเคาน์ หัวข้ออีเมล แต่พบว่าข้อมูลในส่วนเนื้อหาในอีเมลนั้นยังไม่ถูกดึงไป เอริก กรอส (Eric Grose) ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมของกูเกิลเขียนในบล็อกของเขาว่า ทีมงานดูแลความปลอดภัยของบริษัทได้ตรวจพบการขโมยรหัสผ่านของบัญชีผู้ใช้Gmail ด้วยการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตซึ่งคาดว่าน่าจะมีเป้าหมายเพื่อตรวจสอบข้อมูลของผู้ใช้อีเมล์เหล่านั้น โดยระบุว่าขบวนการดังกล่าวน่าจะมีต้นกำเนิดในเมืองจี๋หนาน มณฑลซานตง ประเทศจีน และพุ่งเป้าไปที่บัญชี Gmail ส่วนตัวของผู้ใช้บริการ E-mail ฟรีของกูเกิลหลายร้อยราย ในจำนวนนั้นมี Gmail ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ นักเคลื่อนไหวชาวจีน นายทหารนักข่าว และเจ้าหน้าที่รัฐบาลหลายประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะเกาหลีใต้ด้วย อย่างไรก็ดี กูเกิลสามารถตรวจพบและสกัดการพยายามแฮก Gmail ด้วยการใช้ E-mail ปลอมขโมยรหัสผ่านเหล่านั้นได้ทันและได้แจ้งให้เหยื่อเหล่านั้นทราบ เพื่อป้องกันอีเมล์ของพวกเขาให้ปลอดภัย อีกทั้งยังแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่เกี่ยวข้องแล้ว
6.มิติต่างๆของอาชญากรรมไซเบอร์
ปัจจุบัน ภัยต่าง ๆ บนโลกไซเบอร์นั้นถือว่ามีหลากหลายรูปแบบ ต่อให้มีวิธีการป้องกันดีแค่ไหน สุดท้ายแล้วเหล่าแฮกเกอร์ก็สามารถเจาะข้อมูลส่วนตัวไปได้อยู่ดี โดยทาง google เองก็อยากจะทราบว่า แฮกเกอร์ใช้วิธีการใดและแบบไหนในการขโมยข้อมูลที่ได้ผลมากที่สุด จึงเริ่มทำการเก็บข้อมูลเพื่อทำมาวิเคราะห์จากตลาดมืด ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2016 จนถึงเดือนมีนาคม 2017 เป็นเวลา 1 ปีด้วยกัน โดยจากข้อมูลที่เก็บได้นั้น พบว่า ช่องโหว่จาก Third-Party เป็นวิธีการที่คนส่วนใหญ่โดนขโมยข้อมูลมากที่สุดถึง 3.3 พันล้านบัญชี ตามมาด้วย ฟิชชิง (Phishing) หรือการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตเพื่อขอข้อมูลที่สำคัญ เช่น รหัสผ่าน หรือหมายเลขบัตรเครดิต ที่ 12 ล้านบัญชี และอันดับ 3 ก็คือ Keyloggers หรือการใช้โปรแกรมที่สามารถจดจำคีย์ที่เรากดลงไปบนคีย์บอร์ด มีจำนวน 788,000 บัญชี และความน่าสนใจก็คือ การขโมยรหัสผ่านหรือข้อมูลส่วนตัวผ่านทางช่องโหว่จาก Third-Party พบว่า 12% ของข้อมูลที่ทำการสำรวจทั้งหมดนั้น ใช้บัญชี Gmail ตั้งเป็นชื่อ username และอีก 7% ใช้รหัสผ่านของ Gmail เป็นรหัสผ่านของบริการอื่น ๆ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดช่องโหว่ให้ขโมยข้อมูลส่วนตัวได้ง่ายขึ้นไปอีก
ถึงแม้ว่าทาง Google เองจะมีมาตรการรักษาความปลอดภัยในการป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นเข้ามาล็อกอินบัญชีส่วนตัวของผู้ใช้ ทางฝั่งของแฮกเกอร์ก็พยายามพัฒนาเครื่องมือและวิธีการในการขโมยข้อมูลที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจาก username และรหัสผ่านแล้ว ยังมีข้อมูลพวก IP Address และเบอร์โทรศัพท์อีกด้วย เพื่อเป็นการยืนยันตัวตนของบัญชีที่ทำการขโมยมา
อย่างไรก็ดี ทาง Google ได้นำข้อมูลที่ทำการสำรวจในครั้งนี้ มาพัฒนาเพื่อหาวิธีการป้องกันที่แข็งแกร่งและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น พร้อมกับแนะนำให้ผู้ใช้เปิดใช้งานฟังก์ชัน Two-Factor Authentication หรือระบบการยืนยันตัวตน 2 ขั้นตอน เพื่อเป็นการปกป้องข้อมูลส่วนตัวให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างผลกระทบคือ บัญชี Gmail กว่า 90% ไม่มีการเปิดใช้งานระบบการยืนยันตัวตน 2 ขั้น (2-Step Verification) เพราะระบบดังกล่าวมีความยุ่งยากในการเปิดและใช้งานระบบการยืนยันตัวตน 2 ขั้น ทำให้ผู้ใช้บริการเปลี่ยนไปใช้บริการในแพลตฟอร์มอื่น ๆ
————————————————————
ที่มา : blogazine
Link : https://blogazine.pub/blogs/streetlawyer/post/6321-6322