อียูจะเริ่มใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ตรวจคนข้ามชายเเดน
หากคุณเดินทางข้ามชายแดนระหว่างประเทศต่างๆ ในเขตเชงเกนของยุโรปในอนาคต คุณอาจต้องตอบคำถามต่างๆ ที่ถามโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิทยาศาสตร์ในอังกฤษบอกว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างจากเจ้าหน้าที่มนุษย์ตรงที่สามารถจับโกหกได้ดีกว่า คีลลี่ย์ คร็อคเก็ทท์ (Keeley Crockett) ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ เมโทรโพลิเเทน (Manchester Metropolitan) กล่าวว่า โปรแกรมนี้จับผิดคนจากพฤติกรรมที่แสดงออกทางใบหน้า โดยจะตรวจจับดูอากัปกริยาที่แสดงออก เช่น สายตาที่มองดูขวามองซ้าย แต่จะไม่ดูว่ากำลังยิ้มหรือกำลังขมวดใบหน้า คร็อคเก็ทท์ ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี AI ช่วยพัฒนาโปรแกรมตรวจคนข้ามชายเเดนนี้ที่เรียกว่า i-Border-Control นี้ กล่าวว่า โปรแกรมดังกล่าวสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงทางสีหน้าได้ 38 รูปแบบภายในเวลาสั้นๆ สามารถวิเคราะห์น้ำเสียง ตรวจข้อมูลไบโอเมตริกที่รวมถึงเส้นเลือดบนฝ่ามือหรือลายนิ้วมือ งานตรวจตราคนเข้าเมืองตามแนวชายเเดนได้กลายเป็นประเด็นร้อนทั่วยุโรป ขณะที่มีคนอพยพเข้าเมืองหลายหมื่นคน ส่วนมากมาจากแอฟริกาเเละตะวันออกกลางพยายามเดินทางเข้าไปในยุโรป ในปี 2015 ฮังการีได้สร้างรั้วลวดหนามติดใบมีดโกน หลังเกิดการปะทะที่ชายเเดนที่ติดกับเซอร์เบีย อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ตรวจคนข้ามชายเเดนนี้จะไม่นำไปใช้ทดแทนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยชายเเดนที่เป็นมนุษย์ คร็อคเก็ทท์ กล่าวว่า โปรแกรมตรวจคนข้ามชายแดน i-Border-Control นี้ไม่สามารถตัดสินใจได้อัตโนมัติ แต่จะประเมินความเสี่ยงออกมาเป็นคะเเนนสำหรับนักเดินทางข้ามชายแดนเเต่ละคน โปรแกรมตรวจคนข้ามชายแดนนำร่องนี้ได้รับเงินสนับสนุนโดยโครงการ Horizon 2020 ของสหภาพยุโรป (เรียงเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน) ————————————————————— ที่มา :…