ไทยเตรียมใช้ ‘ดิจิทัล ไอดี’ ปลายปี 61 หนุนใช้กับโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ จ่ายผ่านอีมันนี่ อุดช่องฉวยโอกาสทุจริต
ข่าวเกี่ยวกับการทุจริตเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง จนทำให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตัดสินใจให้จ่ายเงินผ่านรูปแบบการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้รับบริการหรือระบบอีเพย์เมนต์ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2561 เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ แต่ในบางทัศนะกลับมองว่า มาตรการใหม่นี้ช่วยแก้ปัญหาการทุจริตแค่เฉพาะหน้าหรืออาจไม่ได้เลย ดังเช่นกรณีทุจริตกองทุนเงินเสมาพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่มีการนำบัญชีธนาคารของเครือญาติเข้ามารับประโยชน์แทน กรณีเหล่านี้จึงกลายเป็นช่องโหว่ที่ต้องช่วยกันขบคิดหาวิธีรับมือ แน่นอนว่า จำเป็นต้องปรับระบบสวัสดิการให้สอดคล้องและพร้อมรับมือกับโลกสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ‘สุทธิพงษ์ กนกากร’ สมาชิกคณะทำงานด้านเทคนิค National Digital ID อธิบายให้เห็นภาพเป็นฉาก ๆ ในเรื่องการวางระบบป้องกันทุจริตในโครงการเกี่ยวข้องกับสวัสดิการแห่งรัฐ ในเวทีสัมมนา เรื่อง ปรับทิศทางเศรษฐกิจไทยให้พร้อมสู่ยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ จัดโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เขาบอกว่า ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถนำมาปรับใช้กับระบบสวัสดิการแห่งรัฐ 3 รูปแบบ คือ 1. บล็อกเชน (Blockchain) คือ เครือข่ายการเก็บข้อมูลรูปแบบหนึ่ง โดยสามารถป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลและทำให้รู้แม้กระทั่งว่า ใครเขียนข้อมูลอะไรลงไปบ้าง 2.ดิจิทัล ไอดี (Digital ID) คือ ระบบที่ช่วยพิสูจน์ตัวตน 3.เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) คือ การทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งจะมีหรือไม่มีบัญชีธนาคารเลยก็ได้ โดยการนำเทคโนโลยีทั้ง 3 รูปแบบ มาใช้กับระบบสวัสดิการแห่งรัฐนั้น สุทธิพงษ์ อธิบายว่า ส่วนใหญ่ขั้นตอนการคัดกรองผู้มีสิทธิรับประโยชน์…