ทหารไนจีเรียระหว่างการฝึก Operation Flintlock ร่วมกับทหารสหรัฐอเมริกาที่มาราดี ประเทศไนเจอร์เมื่อปี 2550 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Michael Larson/Wikipedia)
โรเบิร์ต มอลลีย์ ประธานองค์กรอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป (ICG) นำเสนอบทความในนิตยสาร Foreign Policy เกี่ยวกับความขัดแย้งที่น่าจับตามอง 10 กรณี โดยในตอนที่ 1 มีการนำเสนอโดยเน้นแถบภูมิภาคตะวันออกกลางและการคัดง้างกันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนไปแล้ว ในสัปดาห์นี้มีการระบุถึงกรณีไนจีเรีย ซูดานใต้ ชนกลุ่มน้อยผู้ใช้ภาษาอังกฤษในแคเมอรูน ยูเครน และเวเนซุเอลา
เลือกตั้งไนจีเรีย และโบโกฮาราม
ความขัดแย้งกรณีที่ 6 ที่มอลลีย์ระบุถึงคือกรณีไนจีเรียซึ่งกำลังจะมีการเลือกตั้งสองครั้งในเดือน ก.พ.- มี.ค. ปีนี้ อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งในไนจีเรียมักจะมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น และสภาพการณ์ในตอนนี้ของไนจีเรียก็มีปัจจัยพร้อมจะปะทุ จากการที่มีคู่แข่งทางการเมืองที่ขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด ขณะเดียวกันการที่ฝ่ายค้านไม่เชื่อใจในทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งและกองกำลังรักษาความปลอดภัยทำให้อาจจะมีการประท้วงในช่วงที่มีการเลือกตั้งหรือหลังเลือกตั้งเกิดขึ้น โดยที่ก่อนหน้านี้เคยมีการประท้วงที่นำพาไปสู่ความรุนแรงในปี 2554 ที่มีการโจมตีชนกลุ่มน้อยในไนจีเรียทำให้มีคนเสียชีวิตมากกว่า 800 ราย
ขณะเดียวกันสภาพพื้นที่ไนจีเรียก็ยังคงมีระดับอาชญากรรมความรุนแรงและความไม่ปลอดภัยทั่วไปในระดับสูง ประชาชนทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศต้องเผชิญกับการสู้รบระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มติดอาวุธโบโกฮาราม นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าเป็นกลุ่มไอซิสแห่งแอฟริกาตะวันตกที่เริ่มยึดพื้นที่ได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งระหว่างคนทำไร่เลี้ยงสัตว์ชาวมุสลิมกับชาวคริสต์ที่เคยเป็นเหตุให้มีคนเสียชีวิตราว 1,500 ราย และถึงแม้ว่าจะเริ่มสงบลงบ้างแล้วในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาแต่ความแตกแยกนี้ก็จะยิ่งทำให้การเลือกตั้งที่จะมีไม่ปีนี้ขับเคี่ยวกันหนักขึ้น ส่วนนักการเมืองไนจีเรียเองก็ใช้การยุยงให้เกิดการแบ่งแยกในการสร้างผลลัพธ์ทางการเมืองให้ตัวเอง
ซูดานใต้
แห่งต่อมาคือซูดานใต้ เป็นความขัดแย้งกรณีที่ 7 ที่ระบุในบทความ ในซูดานใต้มีสงครามเกิดขึ้นมาเป็นเวลา 5 ปี แล้ว และมีผู้คนบาดเจ็บล้มตาย 400,000 ราย จากสงครามนี้ เมื่อเดือน ก.ย. 2561 ประธานาธิบดี ซัลวา เคียร์ กับฝ่ายตรงข้ามคือผู้นำกลุ่มกบฏอดีตรองประธานาธิบดีเรียก มาชาร์ ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงและให้มีการปกครองร่วมกันชั่วคราวจนกว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2565 ซึ่งทั้งสองฝ่ายยังคงพอใจในข้อตกลงอย่างน้อยก็ในตอนนี้
อย่างไรก็ตามมีเรื่องน่าเป็นห่วงเกี่ยวกับข้อตกลงที่ว่านี้คือข้อตกลงนี้คล้ายกับข้อตกลงในปี 2558 ซึ่งมีการล้มข้อตกลงภายในหนึ่งปีหลังจากนั้น การให้มีการเลือกตั้งในปี 2565 อาจจะกลายเป็นการประวิงเวลาการขัดแย้งกันของสองฝ่ายนี้ไปจนถึงเวลานั้นที่จะมีการเผชิญหน้ากันจริงจัง
ทั้งนี้ยังมีเรื่องความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในซูดานซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของซูดานใต้ จากการที่มีประชาชนประท้วงต่อต้านประธานาธิบดี โอมาร์ อัลบาเชียร์ ในเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมาโดยยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรแต่ถ้าหากมีวิกฤตเกิดขึ้นในซูดานเป็นเวลานานก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในซูดานใต้ด้วย มอลลีย์เสนอว่าการจัดให้มีบุคคลที่สามเป็นทูตเดินสายระหว่างฝ่ายความขัดแย้งต่างๆ ในกรณีนี้เป็นเรื่องจำเป็น ช่วยไม่ให้ข้อตกลงหยุดยิงพังลงรวมถึงสร้างฉันทามติร่วมกันในกลุ่มอำนาจต่างๆ ในภูมิภาคใกล้เคียงซูดานใต้ได้
แคเมอรูน และชนกลุ่มน้อยผู้ใช้ภาษาอังกฤษ
กรณีที่ 8 เป็นประเทศแคเมอรูนที่มีความขัดแย้งในพื้นที่ๆ ผู้คนใช้ภาษาอังกฤษ ความขัดแย้งนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่การประท้วงของกลุ่มครูและทนายความที่ใช้ภาษาอังกฤษในปี 2559 พวกเขาประท้วงการใช้ภาษาฝรั่งเศสในการศึกษาและระบบกฎหมาย การประท้วงของพวกเขาแพร่กระจายออกไปกลายเป็นการประท้วงของชนกลุ่มน้อยที่พูดภาษาอังกฤษในแคเมอรูนซึ่งถูกกีดกันเป็นชายขอบ แต่รัฐบาลแคเมอรูนก็ไม่ยอมรับฟังและใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงรวมถึงจับกุมนักกิจกรรม
จากประเด็นเรื่องภาษาทางราชการกลายเป็นความไม่พอใจในวงกว้างและเมื่อถูกปราบปรามก็กลายเป็นการผลักให้คนที่แค่อยากเรียกร้องสิทธิให้ตัวเองกลุ่มนี้ไปสู่อ้อมแขนของกลุ่มติดอาวุธซึ่งเริ่มก่อเหตุโจมตีตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ 2560 เป็นต้นมา ในปัจจุบันมีกลุ่มติดอาวุธ 10 กลุ่มในแคเมอรูนที่สู้รบกับรัฐบาล รวมถึงสู้รบกับกองกำลังป้องกันตนเองที่สนับสนุนรัฐบาลด้วย ในช่วงที่มีความวุ่นวายนี้เองกลุ่มแก็งค์อาชญากรรมก็เริ่มฉวยโอกาสขยายปฏิบัติการของตนเอง
ความขัดแย้งในแคเมอรูนส่งผลให้ทั้งพลเรือน กลุ่มติดอาวุธ และฝ่ายรัฐบาลเสียชีวิตไปหลายร้อยราย ส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตเป็นพลเรือนและกลุ่มติดอาวุธ และทำให้เกิดผู้ลี้ภัย 30,000 ราย ที่อพยพไปไนจีเรีย นอกจากนี้ยังมี 437,000 รายที่กลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศแคเมอรูน
มอลลีย์เสนอว่ารัฐบาลแคเมอรูนควรแก้วิกฤตด้วยการสร้างความเชื่อมั่น เริ่มจากการปล่อยนักโทษการเมืองฝ่ายผู้ประท้วง จัดให้มีสนธิสัญญาหยุดยิง ให้มีการเจรจาระหว่างกลุ่มผู้นำชาวแคเมอรูนที่ใช้ภาษาอังกฤษกับตัวแทนรัฐบาลซึ่งควรจะมีทางเลือกแบบให้ลดการรวมอำนาจศูนย์รัฐบาลกลางไว้ด้วย โดยที่รัฐบาลแคเมอรูนทำในสิ่งที่ควรทำในเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมาจากการปล่อยตัวนักโทษจำนวนหนึ่งแต่ก็ยังมีหลายคนที่ยังถูกคุมขังอยู่ ทำให้ต้องดูกันต่อไปว่าการปล่อยตัวในครั้งนี้จะโน้มน้าวกลุ่มแบ่งแยกดินแดนสายหัวแข็งให้หันหน้ามาเจรจาได้หรือไม่
ยูเครน
ความขัดแย้งกรณีที่ 9 ระบุถึงยูเครนซึ่งยังคงมีสงครามต่อเนื่องมาเรื่อยๆ หลังจากที่รัสเซียเข้าผนวกรวมแคว้นไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขารวมถึงการสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ดอนบัสส์ทางตะวันออกของยูเครน กรณีของรัสเซียยังกลายเป็นชนวนให้เกิดความไม่พอใจกันระหว่างรัสเซียกับกลุ่มประเทศตะวันตกด้วย
จุดที่มีความขัดแย้งล่าสุดคือทะเลอะซอฟที่มีการปะทะกันระหว่างกองเรือของรัสเซียกับยูเครนเมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาและรัสเซียก็ปิดกั้นช่องแคบเคิร์ชได้สำเร็จ อย่างไรก็ตามการที่รัสเซียพยายามบีบให้เรือของยูเครนออกจากน่านน้ำดังกล่าวก็เป็นการละเมิดสนธิสัญญาทวิภาคีปี 2546 ที่อนุญาตให้ทั้งสองประเทศเดินเรือได้อย่างเสรีการประกาศกฎอัยการศึกของเปโดร โปโรเชงโก ประธานาธิบดียูเครนก็ถูกมองว่าเป็นแค่การสร้างกระแสทางการเมือง ขณะที่การกระทำของรัสเซียเป็นการส่งสัญญาณว่าพวกเขาพร้อมจะใช้กำลังอย่างเกิดกว่าเหตุกับยูเครน
ขณะเดียวกันการสู้รบในดอนบัสส์ก็ยังคงสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ ฝ่ายยูเครนไม่มีท่าทีว่าจะยอมมอบอำนาจให้พื้นที่ดอนบัสส์ ฝ่ายรัสเซียเองก็ไม่มีท่าทียอมลดอาวุธและกองกำลังของตัวเองจากพื้นที่ๆ มีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนยึดครองอยู่ ทำให้ยากที่จะมีภารกิจเพื่อสันติภาพในพื้นที่นี้อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในยูเครนช่วงปี 2562 นี้รวมถึงการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศใดๆ ก็ตามก็อาจจะกลายเป็นโอกาสสร้างสันติภาพได้
เวเนซุเอลา
กรณีที่ 10 คือความขัดแย้งของเวเนซุเอลาและประเทศใกล้เคียง จากที่เวเนซุเอลาซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านอิจฉา แต่ในตอนนี้ภาวะเศรษฐกิจล้มเหลวที่ส่งผลกระทบทางสังคมอย่างวิบัติก็อาจจะทำให้เวเนซุเอลาปะทุจากภายในกลายเป็นวิกฤตระดับภูมิภาคในพื้นที่ใกล้เคียงได้
จากที่ประชาชนเวเนซุเอลาต้องเผชิญกับภาวะความยากจนและขาดแคลนสารอาหารอย่างหนัก มีโรคระบาดที่เคยหายไปกลับมา ประชาชนราว 3 ล้านคนอพยพออกจากประเทศ ส่วนใหญ่เดินทางไปโคลอมเบียและประเทศใกล้เคียง สหประชาชาติประเมินว่าตัวเลขผู้อพยพอาจจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 5.3 ล้านคนภายในปลายปี 2562
เรื่องนี้มาจากการบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของประธานาธิบดี นิโคลา มาดูโร แต่เขาก็ไม่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง ไม่ยอมรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากต่างชาติ นอกจากนี้ยังใช้อำนาจกีดกันฝ่ายตรงข้าม ทำลายสถาบันทางการเมืองสนประเทศ ซึ่งในวันที่ 10 ม.ค. ที่จะถึงนี้มาดูโร จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยที่ 2 อย่างเป็นทางการแต่ผู้คนทั้งฝ่ายต่อต้านและจากภายนอกก็มองว่าการเลือกตั้งของเขาขาดความน่าเชื่อถือ ในขณะที่กลุ่มประเทศแถบละตินอเมริกาเริ่มแสดงออกในเชิงจะไม่ทนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเวเนซุเอลารวมถึงสหรัฐฯ เองก็มีท่าทีจะเข้าไปแทรกแซงทางการทหาร แต่ก็ยกเลิกแผนการไปก่อนเพราะกลัวว่าจะกลายเป็นการยุยงให้เกิดความวุ่นวายมากขึ้นไปอีก
มอลลีย์ประเมินว่าการที่ประเทศตะวันตกคว่ำบาตรกลุ่มวงในของมาดูโรเป็นทางเลือกนโยบายที่ดีแต่การคว่ำบาตรทางการค้าในวงกว้างไม่ควรทำเพราะจะกระทบกับประชาชนในประเทศ ส่วนเปรูเรียกรองให้มีการตัดสัมพันธ์ทางการทูต แต่มอลลีย์มองว่าการโดดเดี่ยวเวเนซุเอลาก็อาจจะทำให้ความเดือนร้อนของประชาชนแย่ลงไปอีก มอลลีย์เสนอแนะว่าควรจะเน้นให้มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างสันติภายในเวเนซุเอลาด้วยวิธีการเจรจาหารือทางการเมืองและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยบีบให้กลุ่มผู้นำรอบตัวมาดูโรร่วมมือด้วยผ่านการคว่ำบาตรเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นแล้วเวเนซุเอลาก็เสี่ยงจะล่มสลาย และประชาชนก็จะเดือนร้อนต่อไป ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านต้องมาเก็บกวาดซากปรักหักพัง
——————————————————–
ที่มา : ประชาไท / 5 มกราคม 2562
Link : https://prachatai.com/journal/2019/01/80402