กลุ่ม Antifa Manchester Crew ในกองกำลัง IFB ในโรจายา ทางตอนเหนือของซีเรียที่เป็นพื้นที่ยึดครองของกองกำลังชาวเคิร์ด ภาพถ่ายเดือนสิงหาคม 2560 (ที่มา: Wikipedia)
โรเบิร์ต มอลลีย์ ประธานองค์กรอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป (ICG) เขียนบทความในนิตยสาร Foreign Policy ระบุว่าในยุคสมัยที่ความเป็นผู้นำโลกของสหรัฐฯ เริ่มเสื่อมถอย กลุ่มผู้นำอำนาจนิยมทั้งหลายก็พากันฉวยโอกาสนี้เพิ่มอิทธิพลตัวเอง กระทำความผิดโดยลอยนวลไม่ต้องรับผิดชอบเป็นส่วนใหญ่ และพยายามลดทอนกำลังฝ่ายตรงข้าม ความร่วมมือแบบพหุพาคีกำลังถูกล้อมปราบทำให้มีการเมืองแบบปฏิกิริยาสัมพันธ์และการขยี้คู่แข่งเอาแพ้เอาชนะกันมากขึ้น ขณะเดียวกันกระบวนการของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและศาลโลกเองก็ถูกเพิกเฉยหรือไม่ก็ถูกสบประมาท
ในโลกยุคปัจจุบันกลายเป็นโลกที่อิทธิพลของตะวันตกกำลังถูกกัดกร่อนโดยเฉพาะจากการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบันดูแคลนพันธมิตรดั้งเดิมของตัวเอง ขณะที่ยุโรปก็กำลังเผชิญกับกระแสการแยกตัวมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เริ่มมีผู้นำหลายประเทศในโลกโอบรับแนวคิดชาตินิยมผสมกับอำนาจนิยมพร้อมทั้งปฏิเสธกฎเกณฑ์และสถาบันการเมืองนานาชาติ มีเหตุการณ์เลวร้ายหลายเหตุการณ์ที่ผู้กระทำผิดยังไม่ถูกลงโทษไม่ว่าจะเป็นกรณีสังหารจามาล คาชอกกี ในสถานทูตซาอุฯ หรือกรณีการสังหารหมู่โรฮิงญาโดยทางการพม่า หรือผู้นำอย่างทรัมป์เองก็แสดงความเหยียดหยามสิทธิมนุษยชน
ท่ามกลางปรากฏการณ์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มอลลีย์ได้ประเมินสถานการณ์ความขัดแย้ง 10 กรณีในปี 2562 จะได้รับผลกระทบจากกระแสโลก ซึ่งดูเหมือนว่าจะเต็มไปด้วยอุปสรรค มีความตะกุกตะกัก หรือแม้กระทั่งอันตราย
เยเมน
ความขัดแย้งกรณีที่ 1 คือเยเมน ซึ่งกำลังประสบปัญหาความมั่นคงทางอาหารอย่างหนักและเกิดวิกฤตทางมนุษยธรรมที่นั่นจากความขัดแย้งที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 หลังจากกลุ่มกบฏฮูตีขับไล่รัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และสถานการณ์ก็หนักข้อขึ้นหลังจากที่แนวร่วมฝ่ายซาอุฯ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เริ่มเข้าไปปฏิบัติการทิ้งระเบิดและปิดกั้นไม่ให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเข้าไปในเยเมน ทำให้เกิดวิกฤตขาดแคลนอย่างหนักตามมากลายเป็นความเดือดร้อนและเจ็บปวดต่อประชาชนเยเมน
ในกรณีเยเมนนี้มอลลีย์ประเมินว่ามีความหวังอยู่บ้างเล็กๆ น้อยๆ ตรงที่ในปี 2562 สหรัฐฯ มีแนวโน้มว่าจะกดดันหนักขึ้นให้มีการยุติความขัดแย้งในเยเมน และก่อนหน้านี้วุฒิสมาชิกของสหรัฐฯ ได้ลงมติให้มีข้อกำหนดห้ามสหรัฐฯ เข้าร่วมกับสงครามไปแล้ว และหลังจากที่พรรคเดโมแครตเข้าไปอยู่ในสภาล่างตั้งแต่ปี 2562 นี้เป็นต้นไปก็จะเริ่มผลักดันให้เกิดสันติภาพในเยเมนอย่างแข็งขันมากขึ้น
อัฟกานิสถาน
ความขัดแย้งกรณีที่ 2 คืออัฟกานิสถาน เป็นแหล่งที่มีการสู้รบอย่างหนักจนทำให้ในปี 2561 มีคนถูกสังหารไปมากกว่า 40,000 ราย ไม่ว่าจะเป็นพลเรือนหรือกลุ่มสู้รบ การที่ทรัมป์ตัดสินใจเมื่อเดือน ธ.ค. 2561 สั่งให้มีการส่งตัวกองกำลังภาคพื้นดินในอัฟกานิสถานครึ่งหนึ่งกลับประเทศ อาจจะดูดีคล้ายส่งสัญญาณว่าจะพยายามดำเนินการทางการทูตเพื่อยุติสงคราม แต่ทว่าลักษณะการสั่งการแบบเฉพาะกิจโดยไม่ผ่านคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องอาจจะดูเป็นการชิ่งหนีที่ส่งผลเลวร้ายต่อพื้นที่
ในสงครามอัฟกานิสถานตอนนี้กลุ่มก่อการร้ายตอลีบันครอบครองพื้นที่น่าจะครึ่งหนึ่งของประเทศแล้วและมีการตัดเส้นทางขนส่งลำเลียงและสั่งปิดล้อมเมืองต่างๆ โดยที่การโจมตีทางอากาศก็ไม่ได้ส่งผลอะไร และถึงแม้ในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมาจะมีการดำเนินข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวที่สร้างความยินดีกับทั้งกลุ่มสู้รบและพลเรือน รวมถึงมีการตั้งตัวแทนทางการทูตจากสหรัฐฯ แต่การตัดสินใจของทรัมป์ที่ไม่ผ่านการปรึกษากับทูตสหรัฐฯ ก็กลับยิ่งทำให้สถานการณ์เกิดความไม่แน่นอนมากขึ้น
สหรัฐอเมริกาและจีน
ความขัดแย้งกรณีที่ 3 เป็นเรื่องระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเอง ที่ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ความขัดแย้งที่มีการนองเลือด แต่การใช้โวหารเชือดเฉือนกันไปมาหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสองชาตินี้ก็อาจจะส่งผลกระทบทางภูมิศาสตร์การเมืองหนักข้อกว่าวิกฤตด้านอื่นๆ ในปี 2562 นี้ได้
มีเรื่องหนึ่งในหมู่ผู้นำสหรัฐฯ ทุกฝ่ายเห็นตรงกันคือการที่จีนเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์สำคัญของสหรัฐฯ ส่วนจีนเองก็กำลังพยายามแผ่ขยายอำนาจทั้งทางการทหารและทางการเมืองที่ผู้นำสีจิ้นผิงแก้กฎหมายยกเลิกวาระจำกัดของผู้นำ ทำให้สหรัฐฯ เริ่มหันมามองว่าจีนกับรัสเซียเป็นคู่ปรับหลักของพวกเขาหลังจากที่หันไปมองเรื่องการก่อการร้ายมานาน นอกจากนี้จีนยังมีท่าทีกระทำการอย่างไม่สนใจกฎหมายนานาชาติด้วยการคุมขังชาวแคนาดา 3 ราย ซึ่งถูกมองว่าเป็นการโต้ตอบกรณีการจับกุมผู้บริหารหัวเหว่ยในแคนาดา
อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงแล้วมอลลีย์มองว่าในช่วงระยะสั้นๆ นี้จีนไม่ได้ต้องการท้าทายระเบียบโลกหรือสามารถเทียบอิทธิพลกับสหรัฐฯ ได้โดยเฉพาะถ้าทรัมป์เลิกทำลายพันธมิตรตัวเองและความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามการแผ่อิทธิพลของจีนและความไม่ลงรอยกันในหลายเรื่องก็สร้างความตึงเครียดระหว่างสองมหาอำนาจ และถึงแม้ว่าโอกาสจะเกิดการปะทะโดยตรงจะต่ำ แต่ก็มีข้อพิพาททะเลจีนใต้ก็อาจจะกลายเป็นชนวนสำคัญได้ ทั้งนี้ทั้งสหรัฐฯ และจีนก็กำลังจะมีการทำข้อตกลงทางการค้ากันอีกหลายเดือนข้างหน้าซึ่งอาจจะช่วยลดคามตึงเครียดลงได้บ้าง
ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอเมริกา อิสราเอล อิหร่าน
ความขัดแย้งกรณีที่ 4 คือความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประเทศซาอุิอาระเบีย, สหรัฐฯ, อิสราเอล และอิหร่าน โดยที่ทั้งสามประเทศแรกต่างมองว่ารัฐบาลอิหร่านเป็นภัยที่ต้องขัดขวางมานานแล้ว อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาก็มีสิ่งที่ทำให้ความตึงเครียดเพิ่มขึ้นอย่างการที่สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงระงับอาวุธนิวเคลียร์ในอิหร่านแล้วหันมาใช้วิธีการคว่ำบาตรบวกกับโวหารก้าวร้าวใส่ สำหรับซาอุฯ เองเจ้าฟ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ก็บอกว่าจะโต้ตอบอิหร่านในพื้นที่ประเทศเลบานอน, อิรัก และเยเมน หรือแม้กระทั่งบนผืนดินอิหร่านเอง ขณะที่อิสราเอลบอกว่าจะเน้นสู้กับอิทธิพลอิหร่านในซีเรีย เช่น กลุ่มติดอาวุธต่างๆ หรือเป้าหมายที่ถูกมองว่าเป็นพวกเดียวกับอิหร่าน
มอลลีย์วิเคราะห์ว่าขณะที่อิหร่านมีความมั่นใจในตัวเองว่าจะคัดง้างกับประเทศต่างๆ ได้ แต่แรงกดดันทางเศรษฐกิจก็ทำให้แสดงออกเชิงแข็งกร้าวโต้ตอบต่อไปไม่ได้ อย่างไรก็ตามมอลลีย์ก็มองว่าการที่สหรัฐฯ และซาอุฯ พยายามกดดันอิหร่านด้วยการคว่ำบาตรหลังยกเลิกข้อตกลงระงับนิวเคลียร์จะไม่เป็นผล เพราะการกดดันทางเศรษฐกิจเช่นนี้จะส่งผลต่อประชาชนชาวอิหร่านทั่วไป ขณะที่รัฐบาลอิหร่านอาจจะยอมตามข้อตกลงเพราะยังสามารถทำสัญญากับบางประเทศได้อยู่แม้จะจำกัดจำเขี่ย แต่ถ้าหากการคว่ำบาตรอย่างหนักดำเนินต่อไปจะทำให้ประชาชนอิหร่านสายหัวแข็งเริ่มเรียกร้องให้รัฐบาลไม่สนใจข้อตกลงมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจจะรวมถึงมีการโต้ตอบด้วยกำลังต่อเป้าหมายสหรัฐฯ ที่อยู่ในตะวันตออกกลางมากขึ้น
ในแง่สงครามตัวแทนที่อื่นๆ อย่างในเยเมนกับเลบานอนก็กลายเป็นพื้นที่ที่ ซาอุฯ และอิหร่านใช้ห้ำหั่นกันผ่านทางตัวแทนเช่นอิหร่านที่สนับสนุนกบฏฮูตีในเยเมนโดยที่พื้นที่เยเมนมีโอกาสส่งผลอันตรายมากที่สุดเนื่องจากขีปนาวุธของฮูตีสามารถถล่มเมืองของซาอุฯ หรือเป้าหมายที่เป็นเรือพาณิชย์ในทะเลแดงได้ ซึ่งฮูตีเคยขู่ในเรื่องนี้ไว้ ขณะที่ในซีเรียอิสราเอลก็มีบทบาทในการโจมตีเป้าหมายของอิหร่านโดยระวังไม่ให้เกิดสงครามแผ่ขยายออกไป ฝ่ายอิหร่านเองก็ระวังไม่ให้มีการยกระดับการสู้รบซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียต่อผลประโยชน์ของพวกเขาและการมีอิทธิพลในซีเรียในระยะยาว
ทั้งนี้ในกรณีของอิทธิพลซาอุฯ ในสงครามเยเมนนั้นหลังกรณีอื้อฉาวการสังหารจามาล คาชอกกี ส่งผลต่อเรื่องการต่อต้านสงครามในเยเมนไปด้วย และมอลลีย์หวังว่าการที่มีพรรคเดโมแครตอยู่ในสภาล่างจำนวนมากจะส่งผลให้สหรัฐฯ กดดันซาอุฯ ให้หยุดสงครามในเยเมนมากขึ้นด้วย และมีการไตร่ตรองเกี่ยวกับการยกระดับนโยบายต่อต้านอิหร่าน
สงครามกลางเมืองซีเรีย
ความขัดแย้งกรณีที่ 5 คือสงครามซีเรีย ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐบาลบาชาร์ อัลอัสซาด ที่ขอความช่วยเหลือจากอิหร่านและรัสเซียกำลังจะเอาชนะฝ่ายต่อต้านพวกเขาได้ และสงครามต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายไอซิสก็กำลังเข้าสู่จุดสุดท้าย แต่หลังจากนั้นพวกเขาก็จะเข้าสู่ภาวะที่กลุ่มประเทศหลายฝ่ายต้องพยายามรักษาดุลยภาพทางอำนาจที่โคลงเคลงในพื้นที่ต่างกันของซีเรีย คืออิสราเอล, อิหร่าน และรัสเซีย ในทางตะวันตกเฉียงใต้ รัสเซียกับตุรกีในตะวันตกเฉียงเหนือ และตุรกีกับสหรัฐฯ ในตะวันออกเฉียงเหนือ แต่การที่ทรัมป์สั่งถอนทัพในเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมาก็จะกลายเป็นการทำลายดุลยภาพนี้และเสี่ยงต่อการเกิดสงครามนองเลือดรอบใหม่ระหว่างตุรกี พันธมิตรของตุรกีอย่างชาวเคิร์ด กับกองกำลังของอัสซาด และอาจจะทำให้ไอซิสที่เหลืออยู่ฉวยโอกาสความวุ่นวายนี้ในการผุดขึ้นมาอีกครั้งได้
มอลลีย์ยังเผยอีกว่าแม้แต่กองกำลังวายพีจี (YPG) ของชาวเคิร์ดเองที่เคยร่วมมือกับสหรัฐฯ ต่อสู้กับไอซิสเมื่อปราศจากการคุ้มครองจากพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ แล้วพวกเขาก็อาจจะถูกโจมตีจากทั้งไอซิสและแม้แต่จากตุรกีเองเพราะทางการตุรกีประกาศให้วายพีจีถือเป็นกลุ่มก่อการร้ายจากที่พวกเขาเป็นแนวร่วมกับพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน และอาจจะถูกโจมตีจากกองกำลังอัสซาดที่ต้องการถือครองพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือที่มีน้ำมันอยู่มาก
ประธาน ICG ประเมินว่าถ้าหากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในพื้นที่ๆ สหรัฐฯ ล่าถอยออกมาก็จะเป็นโอกาสให้ไอซิสกลับมารวมพลและไล่ยึดพื้นที่ที่เคยสูญเสียไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ และรัสเซียเองก็อาจจะสูญเสียพื้นที่ต่างๆ ให้กับตุรกี มอลลีย์จึงเสนอให้ทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียต่างก็ควรจะปกป้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์สู้รบในพื้นที่เหล่านั้น รวมถึงหักห้ามไม่ให้ตุรกีโจมตีกลุ่มวายพีจีด้วย
———————————————————–
ที่มา : ประชาไท / 5 มกราคม 2562
Link : https://prachatai.com/journal/2019/01/80401