เนื่องจาก ภาษาไทยในปัจจุบันนี้มีคนจำนวนมาก ยังคงเขียนผิด? อาจจะเป็นเพราะทุกวันนี้เด็กไทยไม่ได้อ่านหนังสือ หรือเขียนหนังสือกันสักเท่าไร ! ยิ่งตอนนี้ก็มีแท็ปแล็ต คอมพิวเตอร์เล่นกัน เวลาหาข้อมูลทำการบ้าน รายงาน ก็แค่ก๊อปปี้แล้ววาง ง่ายสะดวก ก็เลยอาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เด็กไทยเขียนหนังสือ ผิด ๆ ถูก ๆ หรือสะกดคำไม่ถูกต้อง เพื่อให้กระจ่างแจ้ง ตามไปดู คำที่เขียนผิด? พร้อมคำอธิบายกันว่าจะมีคำไหนบ้าง?
“สังเกตุ” หรือ “สังเกต”
คำนี้หลายคนเข้าใจว่า ต้องเขียนว่า “สังเกตุ” คือ มีสระอุ ใต้ “ต”?แต่ที่ถูกต้องตามพจนานุกรม จะต้องเขียนว่า “สังเกต” คือ ไม่มีสระอุ เพราะหากเติมสระอุ เมื่อใด ความหมายจะผิดเพี้ยน
ความหมายตามพจนานุกรม
“สังเกต” ก. กําหนดไว้, หมายไว้, เช่น ทำเครื่องหมายไว้เป็นที่สังเกต; ตั้งใจดู, จับตาดู, เช่น ไม่ได้สังเกตว่าวันนี้เขาแต่งตัวสีอะไร สังเกตกิริยาท่าทางเขาไว้ว่าเป็นคนดีหรือคนร้าย
“เกตุ”, “เกตุ”- [เกด, เก-ตุ-, เกด-] น. ธง; (โหร) ชื่อดาวพระเคราะห์ดวงที่ ๙ หมายถึงตําแหน่งที่ดวงจันทร์ผ่านจากเหนือระนาบสุริยวิถี ลงสู่ใต้ระนาบสุริยวิถี ส่วนตําแหน่งที่ดวงจันทร์ผ่านจาก ใต้ระนาบสุริยวิถีขึ้นเหนือระนาบสุริยวิถี เรียกว่า พระราหู. (ป., ส.).
“สร้างสรรค์” กับ “สรรค์สร้าง” หรือ “สรรสร้าง”
โดยทั่วไปเราทราบกันดีว่า คำว่า “สร้างสรรค์” นั้น ความหมายคือ การสร้างสิ่งที่ไม่มีให้มีขึ้น
ความหมายตามพจนานุกรม
สร้างสรรค์ ก. สร้างให้มีให้เป็นขึ้น (มักใช้ทางนามธรรม) เช่น สร้างสรรค์ความสุขความเจริญให้แก่สังคม. ว. มีลักษณะริเริ่มในทางดี เช่น ความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะสร้างสรรค์.
แต่บางครั้ง เราพบว่า มีการใช้คำๆ นี้ สลับกัน จาก “สร้างสรรค์” เป็น “สรรค์สร้าง” โดยผู้ใช้ ที่ใช้ตาม อาจจะได้ยินมา (สัน-สร้าง) และเข้าใจว่า ต้องเขียนเป็น “สรรค์สร้าง” ซึ่งดูแปลก และเก๋ ดี แต่ความจริงแล้ว เมื่อใดก็ตามหากจะเขียนให้ออกเสียงต่างกัน นั่นต้องมาจากจุดประสงค์ ที่เข้าใจว่าต้องการสื่ออะไร เพราะการที่ใช้คำว่า “สรรค์สร้าง” การเขียนที่ถูกต้องคือ “สรรสร้าง” คือ ไม่มี “ค์” ต่อหลัง “สรร” เพราะโดยแท้จริงผู้ที่เข้าใจถูกต้องจะใช้คำนี้โดยสื่อว่า “สรร” นั่นคือ การหามา รวบรวมมา แล้วนำมาสร้าง ซึ่งความหมายจะแตกต่างจากคำว่า “สร้างสรรค์”
“สร้างสรรค์” กับ “รังสรรค์” ใช้อย่างไร
อีกคำหนึ่งที่เราเห็นใช้กันบ่อยหน และคิดว่าเป็นคำที่สวยงาม โดยขาดความเข้าใจว่า สองคำนี้ แม้จะความหมายเดียวกัน แต่การนำมาใช้นั้น ต้องเลือกใช้ให้ถูกต้อง ซึ่งเรามักจะพบใช้คำว่า “สร้างสรรค์” กันโดยส่วนใหญ่ แต่บางครั้งจะได้ยินหรือได้เห็นผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ใช้คำว่า “รังสรรค์”
คำว่า “รังสรรค์” โดยความหมายแล้ว จะใช้เฉพาะกับสิ่งที่กล่าวถึงนั้น เป็นงานศิลปะ งานจิตรกรรม เช่น “กาลิเลโอ คีนิ จิตรกรเอกผู้รังสรรค์งานศิลป์ ในพระที่นั่งอนันตสมาคม” เราจะไม่ใช้ว่า “ให้เรามาร่วมกัน รังสรรค์สังคมให้น่าอยู่” แต่จะใช้ “สร้างสรรค์สังคม”
“นะคะ” หรือ “นะค่ะ”
อีกคำหนึ่งที่มักเห็นเขียนผิดกันบ่อยครั้ง คือคำว่า “นะคะ” กับ “นะค่ะ” คำที่ลงท้ายว่า “คะ” ใช้กับการบอกกล่าว คำที่ลงท้ายว่า “ค่ะ” ใช้กับการ รับคำ แต่เรามักเห็น เขียนคำว่า “นะค่ะ” เป็นคำบอกกล่าว เช่น “อย่าลืมซื้อเค้ก มาฝาก นะค่ะ” ซึ่งจริงๆ ต้องเขียนว่า “นะคะ” (ออกเสียงค๊ะ) โดยไม่ต้องเติม ไม้เอก เพราะว่า…
“คะ” อักษรต่ำ คำตาย สระเสียงสั้น ไม่มีวรรณยุกต์ ออกเสียงตรี เช่นเดียวกับ “นะ” “จ๊ะ” “วะ”
“ค่ะ” อักษรต่ำ คำตาย สระเสียงสั้น มีวรรณยุกต์เอก ออกเสียงโท เช่นเดียวกับ “น่ะ” “จ้ะ” “ว่ะ”
“โอกาศ” หรือ “โอกาส”
เป็นคำที่พบบ่อยคำหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะเขียนเป็น “โอกาศ” ซึ่งในพจนานุกรมไม่ปรากฏความหมายของคำนี้
ความหมายตามพจนานุกรม
โอกาส [กาด] น. อธิบายไว้ว่า หมายถึง ช่อง, ทาง; เวลาที่เหมาะ, จังหวะ. (ป.; ส. อวกาศ).?บางครั้งเมื่อใช้ในพระราชพิธี หรือ งานที่มีพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จฯ จะใช้ “วโรกาส” ซึ่งเป็นราชาศัพท์ ที่สื่อความหมายเดียวกันกับข้างต้น
ขอให้พึงจำว่า “กาศ” ใช้กับ “อากาศ” “อวกาศ” “ประกาศ” เป็นอาทิ
เหตุเพราะคำว่า “โอกาศ” เขียนผิดเป็นส่วนมาก ฉะนั้น เราจึงต้องหา “โอกาส” เรียนรู้ ฝึกฝน เพื่อที่จะเขียนคำว่า “โอกาส” ให้ถูกต้อง
“อนุญาต” หรือ “อนุญาติ” กันแน่
หลายคนคุ้นตา กับ การเขียนเป็น “อนุญาติ” ซึ่งแท้จริงแล้วคำนี้ เขียนผิด และไม่มีความหมาย
ความหมายตามพจนานุกรม
“อนุญาต” ไม่ต้องมีสระ “อิ” หลัง “ต” โดยให้ความหมายของคำไว้ว่า อนุญาต ก. ยินยอม, ยอมให้, ตกลง.
“ญาติ” , ญาติ- [ยาด, ยาติ-, ยาดติ-] น. ได้อธิบายว่า หมายถึง คนในวงศ์วานที่ยังนับรู้กันได้ทางเชื้อสาย ฝ่ายพ่อหรือฝ่ายแม่. (ป.).
ฉะนั้น ต่อไปเราจะไม่ยอมเขียนว่า “อนุญาติ” แต่จะพึงจำและเขียนว่า “อนุญาต” เสมอและ “อนุญาต” ให้ทุกท่านฝึกฝน หัดเขียนหลายๆ หน จนคุ้นตา
ขอบคุณบทความ :: ทิวสน ชลนรา
—————————————————————-
ที่มา : MThai
Link : https://teen.mthai.com/variety/45347.html