กรณีเวิร์ดเทรด เซ็นเตอร์ นครนิว ยอร์ก สหรัฐฯ เมื่อ 11 กันยายน 2544
ตอน 3/3 : ข้อพิจารณาด้านการรักษาความปลอดภัยจากข้อมูลและภาพเหตุการณ์กรณี 911
การศึกษารูปภาพความเสียหายของกลุ่มอาคารเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์จากการพุ่งชนของเครื่องบินโดยสาร ก่อให้เกิดข้อพิจารณาในแง่มุมใหม่ถึงสาเหตุการพังถลายของกลุ่มอาคารเหล่านั้น การตรวจสอบและศึกษาได้พบข้อมูลที่น่าสนใจในส่วนที่เกี่ยวกับโครงสร้างเหล็กบางส่วนของอาคารที่ถูกพุ่งชนโดยเครื่องบินโดยสาร เนื่องจากพบการหลอมละลายจนระเหยหรือบิดตัวจนเปลี่ยนรูปทรง ทั้งที่บางส่วนเป็นเหล็กอยู่ภายในคอนกรีตที่มีความหนา จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า การหลอมละลายของแร่เหล็กต้องใช้อุณหภูมิเกือบ 2,500 องศา แต่ระดับความร้อนที่เกิดจากการลุกไหม้ของน้ำมันเครื่องบินโดยสารที่พุ่งชน ซึ่งเป็นความร้อนที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาสั้น ๆ ถึงแม้จะรวมกับความร้อนจากการลุกไหม้ของวัสดุติดไฟภายในอาคาร ก็ไม่น่าที่สูงมากพอที่จะหลอมละลายโครงสร้างอาคารที่เป็นเหล็กได้
จากรายงานการสอบสวนบางส่วนของ the National Institute of Standards and Technology (NIST) สังกัดกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ เกี่ยวกับระบบความปลอดภัยอาคารและการป้องกันอัคคีภัย โดยเก็บตัวอย่างชิ้นเหล็กจำนวน 250 จากบริเวณอาคารเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ หมายเลข 1-2 ซึ่งเครื่องบินโดยสารพุ่งชนจนเกิดเพลิงไหม้ จะเห็นได้ชัดเจนว่า ส่วนใหญ่ของชิ้นเหล็กอยู่ในสภาพบิดงอที่น่าจะเกิดจากความร้อนมากกว่าการถล่มหักทับกัน นอกจากนี้ ยังพบโคนเสารับน้ำหนักภายในอาคารที่ตั้งอยู่ต่ำกว่าชั้นที่เครื่องบินโดยสารพุ่งชน ทั้งที่เป็นเสาคอนกรีตและเสาเหล็ก โคนเสาหลายแห่งมีสภาพความเสียหายในลักษณะถูกตัดเฉือนมิใช่แตกหักจากการรับน้ำหนักจำนวนมากที่กดทับลงมา สภาพตัดเฉือนของเสาที่พบนี้ทำให้เกิดการประเมินว่ามาจากวิธีรื้อถอนด้วยวัตถุระเบิด
ประการต่อมา การถล่มของอาคารโดยปกติจะไม่พบโครงสร้างเหล็กที่หลอมละลาย เว้นแต่เป็นการรื้อถอนด้วยวัตถุระเบิด เพราะปฏิกิริยาจากการระเบิดจะเกิดความร้อนสูงจนโลหะหลอมละลาย ฉะนั้นการพบโลหะหลอมเหลวจำนวนมากในซากกลุ่มอาคารเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ จึงมีการตั้งข้อพิจารณาในแง่ที่ว่า น่าจะเป็นผลมาจากการทำปฏิกิริยาของวัตถุระเบิด อย่างเช่น ปฏิกิริยาเธอร์ไมต์ (thermite reaction : ให้ความร้อนสูงถึง 2,327 องศาเซลเซียส) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาการระเบิดที่ใช้กันทั่วไปในการรื้อถอนอาคาร อีกทั้งปฏิกิริยานี้จะทำให้เกิดกลุ่มควันหรือก๊าซต่าง ๆ ขึ้นอย่างมากด้วย และจากภาพอาคารเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ลุกไหม้จะเห็นควันไฟพุ่งออกมาเป็นจำนวนมากเกินกว่าที่จะเกิดจากวัสดุภายในอาคารลุกไหม้
ที่มา : อรวรรณ สัมฤทธิ์เดชขจร. “เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับปฏิกิริยาเทอร์ไมต์” เทคโนโลยีวัสดุ. 59 : 77-80 : เมษายน – มิถุนายน 2553