(ซ้ายสุด) อับเดล ฟัตตอห์ อัลซิซี อยู่กับกษัตริย์ซัลมานของซาอุดิอาระเบีย และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ที่งานริยาห์ด ซัมมิต ปี 2560 (ที่มา: Wikipedia)
9 มี.ค. 2562 สื่ออัลจาซีรารายงานว่า องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนออกมาวิจารณ์ทางการประเทศมาเลเซีย กรณีกักตัวชาวอียิปต์สี่คน ที่มีประวัติเคยวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตอห์ อัลซิซี ของอียิปต์ และมีแผนจะส่งตัวกลับไปยังอียิปต์ ซึ่งทางองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างเกรงว่าชาวอียิปต์ทั้งสี่จะถูกลงโทษอย่างหนักเมื่อกลับไปถึงประเทศ
ผู้สื่อข่าวประชาไทได้รับรายงานว่า ชาวอียิปต์ทั้งสี่คนถูกมาเลเซียเนรเทศมาตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค. 2562 เพื่อใช้ไทยเป็นทางผ่านส่งตัวกลับไปยังกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ โดยผู้ถูกส่งกลับทั้งสี่มีชื่อว่า โมฮาเหม็ด ฟาธิห์ อิด อาลี (Mohamed Fathy Eid Aly) อับดุลลาห์ มาห์มูด ฮิชัม มอสตาฟา โมฮาเมห็ด (AbdAllah Mahmoud Hisham Mostafa Mohamed) อับเดลรามัน อับเดลลาซิซ อาเหม็ด อับเดลลาซิซ มอสตาฟา (Abdelrahman Abdelaziz Ahmed Abdelaziz Mostafa) และอาซมี เอลซายิด โมฮาเหม็ด อิบราฮิม เอลาชรี (Azmi Elsayed Mohamed Ibrahim Elashri)
เมื่อสอบถามไปยังกองบังคับการคนเข้าเมือง 2 สนามบินสุวรรณภูมิช่วงบ่ายวันนี้ (9 มี.ค. 2562) คู่สายระบุว่าไม่ได้รับแจ้งจากทางการมาเลเซียเรื่องการส่งตัวมาเปลี่ยนเครื่องยังประเทศไทย
เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซียผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ได้ยืนยันกับอัลจาซีราเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (8 มี.ค. 2562) ว่าชาวอียิปต์ทั้งสี่ถูกกักตัวภายใต้ปฏิบัติการของหน่วยข่าวกรองของตำรวจมาเลเซียชื่อว่า สเปเชียล แบรนช์ (Special Branch) และหน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ทั้งนี้ ผู้ถูกกักตัวทั้งสี่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัย และสถานทูตอียิปต์ก็ได้ทราบเรื่องแล้ว
“เราสามารถยืนยันได้ว่าทั้งสี่ถูกจับภายใต้ SOSMA” เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวระบุ โดย SOSMA เป็นข้อหาด้านความมั่นคงที่ถูกนำมาแทนที่กฎหมายความมั่นคงภายใน พ.ศ. 2555 ซึ่งตามเจตนารมณ์นั้นควรจะใช้เพื่อต่อสู้กับภัยก่อการร้าย แต่ก็มีผู้วิจารณ์ว่ากฎหมายดังกล่าวเปิดกว้างต่อการลุแก่อำนาจ
ผู้พบเห็นเหตุการณ์การควบคุมตัวกล่าวว่า โมฮาเหม็ด ฟาธิห์ หนึ่งในสี่ชาวอียิปต์ ถูกสั่งให้จอดรถ หลังจากนั้นก็ถูกนำตัวไปโดยชายสวมหน้ากากสามคนที่ใส่เครื่องแบบทหารมาเลเซียผสมกับคนอื่นๆ ที่สวมเสื้อผ้าแบบพลเรือน
ภรรยาของอับดุลลาห์ ฮิชัม มอสตาฟา หนึ่งในผู้ถูกส่งกลับกล่าวว่า เธอยังไม่ทราบชะตากรรมของสามีเธอ เธอยังกล่าวด้วยว่าอับดุลลาห์อาจถูกทรมานหรือประหารชีวิตถ้าหากถูกส่งตัวกลับไปให้กับทางการอียิปต์
ด้านอาห์เหม็ด อัซซัม รักษาการเลขาธิการสหภาพเอ็นจีโอโลกอิสลาม (Union of Non-Governmental Organizations in the Islamic World) กล่าวหาทางการมาเลเซียเรื่องความพยายามปกปิดการส่งตัวกลับ โดยบอกว่าเป็นพฤติการณ์ที่ “น่าอับอาย” อัซซัมอ้างว่าตำรวจมาเลเซียและหน่วยข่าวกรองอียิปต์อาจจะร่วมกันวางแผนส่งผู้ถูกกักตัวทั้งสี่ข้ามแดนโดยที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลไม่รับรู้
อาห์เหม็ดกล่าวกับอัลจาซีราว่า กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายของมาเลเซียให้อำนาจเจ้าหน้าที่ความมั่นคงและตำรวจดำเนินการโดยไม่ต้องแจ้งให้รัฐบาลทราบ ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ของมาเลเซียก็กล่าวกับอัลจาซีราว่าไม่ทราบเรื่องการกักตัวดังกล่าว
รัฐบาลอัลซิซี ในอียิปต์เถลิงอำนาจจากการรัฐประหารรัฐบาลเลือกตั้งที่นำโดยโมฮาเหม็ด มอร์ซีจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิมเมื่อกลางปี 2556 เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังชาวอียิปต์ลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลเผด็จการฮอสนี มูบารัค ในช่วงปี 2554 ตามกระแสลุกฮือต่อต้านผู้นำเผด็จการในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่รู้จักกันในชื่อ “อาหรับสปริง”
หลังยึดอำนาจ รัฐบาลอัลซิซีได้จับกุมผู้ที่แสดงความไม่พอใจหลักพันคน ในจำนวนนั้นรวมไปถึงนักกิจกรรม สื่อมวลชน และผู้สนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม อียิปต์ยังเคยถูกกล่าวหาว่ามีการกักขังโดยพลการ การทำให้บุคคลสูญหาย การซ้อมทรมาน และยังคอยปิดปากสื่ออิสระหลายสำนักด้วย
องค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ ประเมินว่าอียิปต์คุมขังนักกิจกรรมการเมืองมากถึง 60,000 คน แต่ในการสัมภาษณ์กับอัลจาซีราเมื่อปลายปี 2561 ประธานาธิบดีอัลซิซีปฏิเสธเรื่องการคุมขังนักโทษการเมือง
————————————————————
ที่มา : ประชาไท / 9 มีนาคม 2562
Link : https://prachatai.com/journal/2019/03/81420