จากเหตุกราดยิงมัสยิด 2 แห่ง ที่เมืองไคร้สท์เชิร์ช นิวซีแลนด์ เมื่อ 15 มีนาคม 62 ซึ่งก่อเหตุโดย นาย Brenton Harrison Tarrant อายุ 28 ปี ชาวออสเตรเลีย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 50 คน และผู้บาดเจ็บกว่า 50 คน กลายเป็นสถานการณ์ที่กลุ่มก่อการร้าย ทั้งกลุ่ม Islamic State (IS) และกลุ่ม AL-Qaeda (AQ) นำมาใช้บิดเบือนและแสวงประโยชน์ในการปลุกระดมผู้สนับสนุนให้ก่อเหตุตอบโต้ โดยเฉพาะกลุ่ม IS ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์นี้ถึงขั้นที่โฆษกของกลุ่มต้องออกแถลงการณ์กล่าวถึงเป็นกรณีเฉพาะ หลังจากห่างหายจากการออกแถลงการณ์มานานกว่า 6 เดือน ขณะเดียวกันเหตุโจมตีไคร้สท์เชิร์ช อาจกลายเป็นแรงกระตุ้นและเงื่อนไขที่ทำให้ผู้มีแนวคิดรุนแรงตัดสินใจก่อเหตุเพื่อแก้แค้นให้กับพี่น้องมุสลิมด้วยกัน ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องเฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบความเสี่ยงและเหตุรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเหตุโจมตีไคร้สท์เชิร์ช
สื่อของกลุ่มก่อการร้ายต่างกล่าวถึงเหตุการณ์โจมตี และนำไปแสวงประโยชน์ โดยพยายามบิดเบือนข้อมูลกล่าวหารัฐบาลนิวซีแลนด์ เรียกร้องให้ผู้สนับสนุนก่อเหตุโจมตีเพื่อแก้แค้นให้ชาวมุสลิมที่ถูกสังหาร และตอกย้ำว่าชาวมุสลิมไม่มีวันได้รับการยอมรับในประเทศตะวันตก อีกทั้งยังเปรียบเทียบการสังหารชาวมุสลิมที่เมืองไคร้สท์เชิร์ช ว่าเป็นเช่นเดียวกับการสังหารหมู่ชาวมุสลิมในหมู่บ้าน Baghouz ที่มั่นสุดท้ายของกลุ่ม IS นับเป็นการออกแถลงการณ์ครั้งแรกในรอบ 6 เดือนของโฆษก IS ชี้ให้เห็นว่ากลุ่ม IS ให้ความสำคัญกับเหตุโจมตีไคร้สท์เชิร์ชอย่างมาก และพยายามนำกรณีนี้มากระตุ้นให้ผู้สนับสนุนทั่วโลกเร่งลงมือก่อเหตุในพื้นที่เคลื่อนไหวของตนเอง เช่นเดียวกับสื่อของกลุ่มก่อการร้าย AQ และกลุ่ม AL-Shabaab ก็ออกมาร่วมประณามการก่อเหตุดังกล่าว และเรียกร้องให้ชาวมุสลิมออกมาตอบโต้เช่นกัน
ภายหลังเหตุโจมตีไคร้สท์เชิร์ช ปรากฏเหตุการณ์ตามมาที่อาจได้รับแรงกระตุ้นจากกรณีดังกล่าว ได้แก่ เหตุกราดยิงรถรางที่เมือง Utrecht ทางตอนกลางของเนเธอร์แลนด์ (18 มี.ค.62) มีผู้เสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บ 9 คน ส่งผลให้ทางการเนเธอร์แลนด์ต้องยกระดับการเตือนภัยคุกคามก่อการร้ายมาอยู่ที่ระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ทั้งยังปรับเพิ่มมาตรการ รปภ.ท่าอากาศยาน ระบบสาธารณูปโภคสำคัญ มัสยิด และปิดทางเข้า-ออก สถานศึกษา
แม้ว่าในปัจจุบัน การปราบปรามกลุ่มผู้ก่อการร้ายมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก แต่ทิศทางและสถานการณ์ก่อการร้ายของโลกยังไม่มีแนวโน้มจะยุติและบรรเทาลง ประเทศไทยจำเป็นต้องเฝ้าระวังการก่อเหตุจากบุคคลที่มีแนวคิดรุนแรง จากทั้งกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงและกลุ่มหัวรุนแรงขวาจัด ซึ่งในระยะหลังมักก่อเหตุโดยลำพัง หรือเป็นกลุ่มขนาดเล็กที่ติดตามตรวจสอบได้ยาก ซึ่งกลุ่มดังกล่าวอาจเดินทางผ่านหรือใช้ประเทศไทยเป็นพื้นที่อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนไหว หรือเป็นพื้นที่ก่อเหตุโจมตีเป้าหมาย เช่นเดียวกับการก่อเหตุในไคร้สท์เชิร์ช ซึ่งเป็นชาวออสเตรเลียมาก่อเหตุในนิวซีแลนด์ ทั้งยังมีประวัติเดินทางเข้ามาในไทยเมื่อปี 2557 ด้วย นอกจากนี้ ไทยอาจต้องเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังศาสนสถานที่มีความเสี่ยงตกเป็นเป้าหมายโจมตี เพราะตั้งแต่ต้นปี 2562 เกิดเหตุรุนแรงต่อเป้าหมายศาสนสถานและคนต่างศาสนาหลายครั้ง ในแต่ละครั้งจะมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เช่นกรณี การก่อเหตุโจมตีโบสถ์คริสต์ที่เมืองโฮโล เกาะมินดาเนา ฟิลิปปินส์ เมื่อ ม.ค.62
———————————————————–
องค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน
1 เมษายน 2562