เมื่อ 4 เม.ย.62 รัฐสภาออสเตรเลียผ่านร่างกฎหมายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา Sharing of Abhorrent Violent Material เพื่อรับมือกับการเผยแพร่เนื้อหาที่มีความรุนแรงในสื่อสังคมออนไลน์ ภายหลังเหตุการณ์ นาย Brenton Harrison Tarrant ชาวออสเตรเลีย ก่อเหตุกราดยิงมัสยิด 2 แห่ง ในเมืองไคร้สท์เชิร์ช นิวซีแลนด์ เมื่อ 15 มี.ค.62 และทำการถ่ายทอดสดผ่านสื่อฯ ส่งผลให้ออสเตรเลียเป็นผู้นำในการผลักดันให้บริษัทผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ต้องรับผิดชอบและป้องกันไม่ให้ผู้ก่อการร้ายใช้พื้นที่สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือแสดงความเกลียดชัง
กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้บริษัทผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ Facebook, Alphabet’s Google ซึ่งเป็นเจ้าของ Youtube หรือ Twitter รับผิดชอบในการถอนวิดิโอที่มีเนื้อหาความรุนแรงเกี่ยวกับการก่อการร้าย การฆาตกรรม การพยายามฆ่า การทรมาน ข่มขืน และลักพาตัวในทันที หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับสูงสุดถึง 10.5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือร้อยละ 10 ของรายได้ต่อปีของบริษัท ขณะที่ผู้บริหารของบริษัทอาจมีโทษจำคุก 3 ปี หรือมีโทษปรับสูงสุด 2.1 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือทั้งจำ ทั้งปรับ นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดให้บริษัทผู้ให้ บริการสื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลกต้องแจ้งตำรวจสหพันธ์ออสเตรเลียภายในเวลาที่เหมาะสม หากตรวจพบการเสนอความรุนแรงผ่านสื่อที่บริษัทรับผิดชอบ ทั้งนี้ นายสก๊อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย จะผลักดันแนวทางดังกล่าวในวาระการประชุมผู้นำกลุ่ม G20 ที่ญี่ปุ่น (มิ.ย.62)
ในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ว่าออสเตรเลียอาจละเมิดกฎหมายของสหรัฐฯ ที่ห้ามบริษัทแบ่งปันข้อมูลบางประเภทต่อหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายนอกสหรัฐฯ ขณะที่บริษัทสื่อมวลชนขนาดใหญ่และสภานักกฎหมายในออสเตรเลียกังวลว่า การเสนอข่าวของสื่อมวลชนเกี่ยวกับความรุนแรงอาจกลายเป็นความผิดทางอาญา
ต่อแนวทางการปฏิบัติของออสเตรเลีย ประเทศไทยสามารถนำมาศึกษาเกี่ยวกับมาตรการควบคุมสื่อสังคมออนไลน์ ที่มีการเผยแพร่เนื้อหาความรุนแรง หรือเหตุการณ์ก่อการร้าย ที่อาจก่อให้เกิดความหวาดกลัวและเกลียดชัง ตลอดจนแนวทางการดำเนินงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นกรณีเปรียบเทียบ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
—————————————————————
องค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน
19 เมษายน 2562