ความท้าทายของเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติที่ไม่มีใครพูดถึง
กรณีกราดยิงสังหารหมู่ชาวมุสลิมในมัสยิด 2 แห่ง (มัสยิดอัล นูร์กลางเมืองไครสต์เชิร์ชและมัสยิดชานเมืองลินวูด) ที่นิวซีแลนด์เมื่อ 15 มีนาคม 2019 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 49 คน บาดเจ็บ 48 คน โดยนาย Brenton Harrison Tarrant ผู้ก่อเหตุอายุ 28 ปีสัญชาติออสเตรเลีย ถูกนำตัวไปขึ้นศาลด้วยข้อหาฆาตกรรมในเช้า 16 มีนาคม 2019[1] นอกจากเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงแนวโน้มการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นของอุดมการณ์ขวาจัดและความรุนแรงในศตวรราที่ 21 ที่เป็นผลจากความเกลียดกลัว “ผู้อพยพ” ยังสะท้อนให้เห็นว่าเหตุรุนแรงดังกล่าวสามารถ “ป้องกันได้” หากหน่วยงานความมั่นคงไม่มองข้าม “สิ่งบอกเหตุ” ที่จำเป็นสำหรับการตรวจจับ สืบสวนและพิสูจน์ทราบเป้าหมาย “Lone Wolf”[2] ซึ่งหน่วยงานด้านการข่าวกรองอาจใช้เป็นกรณีศึกษาต่อไป
แม้การโจมตีมัสยิดดังกล่าวเกิดขึ้นภายในห้วงระยะเวลาน้อยกว่า 6 เดือน หลังจากนาย Robert D. Bowersอายุ 46 ปี บุกเข้ากราดยิงใส่โบสถ์ชาวยิว Tree of Life Congregation ในเมือง Pittsburgh รัฐPennsylvania สหรัฐฯ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 11 คน บาดเจ็บ 6 คน (27 ตุลาคม 2018)[3] แต่ยังไม่สามารถสรุปว่าการก่อการร้ายของกลุ่มขวาจัดในโลกตะวันตกกำลังเพิ่มขึ้น เนื่องจาก 1) เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งเฉพาะการก่อเหตุรุนแรง เช่น การสังหารหมู่ที่เชื่อถือได้เท่านั้น 2) มูลเหตุจูงใจของผู้ก่อเหตุยังไม่ได้มีความชัดเจนทุกกรณี3) ความยากลำบากในการนิยามความหมายของ “การก่อการร้าย” และ 4) การฆาตกรรมที่มีสาเหตุจากการเหยียดผิวที่เกิดขึ้นทุกครั้งไม่ได้มีเจตนาสร้างความหวาดกลัวเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง[4]
การรวบรวมข้อมูลความรุนแรงในประเทศตะวันตกที่เกิดจากการก่อเหตุของ “กลุ่มชาตินิยมผิวขาว” หรือ “กลุ่มก่อการร้ายอิสลาม” ขึ้นอยู่กับการจำแนกแยกแยะแต่ละเหตุการณ์และวิธีการประมาณการก็มีความแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งนี้ กลุ่มต่อต้านการหมิ่นประมาท (The Anti-Defamation League) ซึ่งเป็นกลุ่มอิทธิพล (Pressure Group) ระบุว่าร้อยละ 73 ของความรุนแรงเกี่ยวกับการฆ่าในสหรัฐฯนับตั้งแต่ปี 2009 – 2018เป็นการก่อเหตุของ “พวกขวาสุดโต่ง” และร้อยละ 23 ก่อเหตุโดยพวก “อิสลามสุดโต่ง” ในทางกลับกันฐานข้อมูลของการศึกษาการก่อการร้ายและตอบโต้การก่อการร้าย (Study of Terrorism and Responses to Terrorism – START) รวบรวมโดยมหาวิทยาลัย Maryland เปิดเผยว่าในห้วงเวลาเดียวกันในสหรัฐฯ “กลุ่มนักรบญิฮาด” ก่อเหตุรุนแรงประมาณสองเท่าของ “พวกขวาสุดโต่ง” (ภาพที่ 1)
การมีที่ตั้งอยู่ห่างจากยุโรปหรือสหรัฐฯหลายพันไมล์ และในช่วงกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาไม่เคยประสบเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เกี่ยวข้องกับพวกขวาจัด มิได้เป็นหลักประกันว่านิวซีแลนด์จะปลอดภัยจากเหตุรุนแรง วิดีโอที่เผยแพร่ผ่านบัญชีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ของผู้ก่อเหตุ บ่งชี้ถึงการยึดมั่นกับขบวนการขวาสุดโต่งในระดับโลก และคุ้นเคยกับสัญลักษณ์และสัญญาณรหัสลับ (Shibboleths) ของกลุ่มสุดโต่งทั่วทั้งยุโรป ออสเตรเลียและอเมริกาเหนือ รวมทั้งในระบบนิเวศน์ออนไลน์ของกลุ่มขวาจัด แถลงการณ์เรื่อง “The Great Replacement” จำนวน 74 หน้า ที่เชื่อมโยงถึงผู้ก่อเหตุในช่วงเช้าก่อนการสังหารหมู่บอกเป็นนัยว่าผู้ก่อเหตุเป็น “สาวก” และ “สหาย” ร่วมอุดมการณ์ของกลุ่มผู้นับถือลัทธิคนผิวขาวผู้สูงส่ง (White Supremacist)[5] และอ้างว่าเคยพบปะนาย Anders Behring Breivik[6] ผู้ก่อเหตุสังหารหมู่ชาวนอร์เวย์ ซึ่งให้ความเห็นชอบในการโจมตีครั้งนี้[7]
แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ระบุว่าใครเป็นใครในกลุ่มผู้นิยมลัทธิคนขาวผู้สูงส่ง โดยผู้จัดทำได้รับแรงบันดาลใจจาก Dylann Roof ผู้สังหารชาวแอฟริกัน-อเมริกัน 9 คน ในโบสถ์เมือง South Carolina ในปี2015 เสื้อผ้าและอาวุธของนาย Brenton ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดีและประดับด้วยสัญลักษณ์ของกลุ่มneo-Nazi ที่ใช้กันทั่วโลกรวมทั้งกลุ่มในออสเตรเลีย บนอาวุธปืนมีสัญลักษณ์ของผู้ก่อการร้ายอเมริกันที่เขียนอย่างลวกๆ และเสื้อคลุมติดตราสัญลักษณ์ของ Azov Battalion กลุ่มติดอาวุธ neo-Nazi ของยูเครน ภาพสดจากวิดีโอ (Live Stream) ในรถยนต์ของนาย Brenton เล่นเพลงที่อุทิศแก่ Radovan Karadzic ชาวบอสเนียเชื้อสายเซอร์เบีย ผู้รับผิดชอบการเสียชีวิตของชาวมุสลิมบอสเนียและโครแอทหลายพันคน ระหว่างสงครามเชื้อชาติในคาบสมุทรบอลข่านช่วงทศวรรษ 1990[8]
การแพร่หลายของสื่อสังคมออนไลน์และการเข้าถึงเว็บไซต์เช่น 4chan และ 8chan ซึ่งเป็นที่รวมกลุ่มของพวกขวาสุดโต่งทำให้นาย Brenton หมกมุ่นสนทนากับพวกสุดโต่ง ผู้อ่านแถลงการณ์ของนาย Brentonซึ่งอาศัยอยู่ในนิวซีแลนด์ นอร์เวย์หรือแคนาดาต่างก็ได้รับข้อมูลเช่นเดียวกับผู้อาศัยในอเมริกา เนื่องจากอินเตอร์เน็ตเป็นเครือข่ายไร้พรมแดน เว็บไซต์ 4chan เป็นที่ชุมนุมของพวกขวาจัด ผู้เข้าร่วมกลุ่มอาจไม่เปิดเผยชื่อก็ได้หากต้องการ และการโพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาปลุกปั่นก็จะไม่ถูกปลดออกในทันที แถลงการณ์มีจุดประสงค์ป้องกันมิให้ชาวมุสลิมและผู้มิใช่คนผิวขาวเข้ายึดครองสังคมตะวันตก เรียกร้องให้ประเทศที่มีคนผิวขาวเป็นคนส่วนใหญ่กีดกันผู้อพยพ (crush immigrant) เนรเทศผู้มิใช่คนผิวขาวและให้มีบุตรเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรคนผิวขาว รวมทั้ง “กำจัดผู้รุกราน” และ “ทวงคืนยุโรป” เนื้อหาดังกล่าวสะท้อนคำพูดเชิงโกรธแค้นของนักการเมืองกระแสหลักหลายคนในยุโรปรวมทั้งนาย Matteo Salvini รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของอิตาลีและนาย Viktor Orban นายกรัฐมนตรีฮังการี
ช่วงหลายสัปดาห์ก่อนการสังหารหมู่ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตักเตือนบุคคลเพศชาย อายุ 38 ปี ที่ด้านนอกมัสยิดในนิวซีแลนด์ ซึ่งข่มขู่จะเผาคัมภีร์อัล – กุรอาน ขณะที่ผู้นำชุมชนบอกเล่าว่ากรณีดังกล่าวนับเป็นครั้งล่าสุดที่มีการข่มขู่ชนกลุ่มน้อยทางศาสนา แม้เหตุการณ์ดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการโจมตีมัสยิด แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการโจมตีหรือไม่ เนื่องจากทศวรรษที่ผ่านมารัฐบาลนิวซีแลนด์ไม่เคยบันทึกข้อมูลที่ครอบคลุมถึงอาชญากรรมจากความเกลียดชัง (Hate Crime)[9] และไม่ได้ตอบสนองคำร้องขอของหน่วยงานในชุมชนและระหว่างประเทศ Janet Anderson-Bidois หัวหน้าคณะที่ปรึกษาด้านกฎหมายของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนนิวซีแลนด์เห็นว่า นิวซีแลนด์จำเป็นต้องมีข้อมูลดังกล่าว รวมทั้งจะต้องจัดลำดับความสำคัญและดำเนินการอย่างเร่งด่วน คำถามหลังเกิดเหตุกราดยิงที่น่ากลัวครั้งนี้ คือ หน่วยงานด้านความมั่นคงมองข้าม (พลาด) สัญญาณหรือสิ่งบอกเหตุอะไรและควรจัดสรรทรัพยากรอะไรเพื่อปกป้องชุมชนที่เปราะบาง[10]
Anwar Ghani จากสหพันธ์สมาคมอิสลามแห่งนิวซีแลนด์ (the Federation of Islamic Associations of New Zealand) อ้างหลักฐานจากเกร็ดเรื่องเล่าว่า พฤติกรรมต่อต้านมุสลิมมีแนวโน้มแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญระดับโลกที่มีมุสลิมเข้าไปเกี่ยวข้อง จะเห็นแรงกระตุ้นอาชญากรรมของความเกลียดชังจากสมาชิกส่วนหนึ่งของชุมชน Joris De Bres กรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติ (ปี 2002 และ 2013) เปิดเผยว่าหลังเหตุการณ์ 9/11 ตนเคยขอให้รัฐบาลและตำรวจนิวซีแลนด์สร้างระบบบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับอาชญากรรมที่มีเหตุจูงใจจากความเกลียดชังและเชื้อชาติ และหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอภิปรายในที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในปี 2017 โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกังวลเรื่องการขาดแคลนข้อมูล อีกทั้งได้เรียกร้องให้รัฐบาลรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการร้องเรียนอาชญากรรมที่มีมูลเหตุจูงใจทางเชื้อชาติ
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนนิวซีแลนด์ได้บรรยายสรุปแก่นาย Andrew Little รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและข่าวกรองในช่วงเข้ารับตำแหน่งเมื่อปลายปี 2017 เกี่ยวกับระบบศูนย์ข้อมูลกลางสำหรับบันทึกรายละเอียดอาชญากรรมที่มีมูลเหตุจูงใจจากความเกลียดชังและเหยียดเชื้อชาติ โดยเห็นว่าขั้นตอนและมาตรการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ สิ่งจำเป็นที่รัฐบาลต้องทำก่อน คือ ทำความเข้าใจขนาด ขอบเขต และสถานที่สำคัญที่จะเกิดอาชญากรรมจากความเกลียดชัง เพื่อระบุปัญหาและให้มั่นใจว่ามีทรัพยากรเพียงพอในการป้องกันเหตุรุนแรง ทั้งนี้ นาย Andrew ให้สัมภาษณ์สื่อท้องถิ่นว่า แค่กฎหมายเกี่ยวกับประทุษวาจา (Hate Speech)[11] ของนิวซีแลนด์ยังไม่เพียงพอ ตนกำลังทบทวนกฎหมายนี้กับฝ่ายนิติบัญญัติและพิจารณาแยกกฎหมายการกระทำความผิดฐานอาชญากรรมจากความเกลียดชังด้วย
อ้างอิง :
[1] “นิวซีแลนด์ : ยิงถล่มมัสยิด 2 แห่งในไครสต์เชิร์ช เสียชีวิต 49 คน” เว็บไซต์ BBC ไทย (15 มีนาคม 2019) https://www.bbc.com/thai/international-47579563
[2] ดู “Lone Wolf : ความเป็นไปได้ในการตรวจหาและสะกดรอย” โดย อิทธิ กวีพรสกุล ใน “Lone Wolf” จัดทำและแจกจ่ายโดยโรงเรียนเสนาธิการทหารบก พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2560 หน้า 51-63
[3] “11 Killed in Synagogue Massacre; Suspect Charged With 29 Counts” By Campbell Robertson, Christopher Mele and Sabrina Tavernise The New York Times (Oct. 27, 2018) https://www.nytimes.com/2018/10/27/us/active-shooter-pittsburgh-synagogue-shooting.html
[4] “Is right-wing terrorism on the rise in the West?” The Economist (Mar 18th 2019) https://www.economist.com/graphic-detail/2019/03/18/is-right-wing-terrorism-on-the-rise-in-the-west
[5] กลุ่มที่เชื่อว่าเผ่าพันธุ์คนผิวขาวมีฐานะสูงส่งและเป็นเลิศกว่ากลุ่มเผ่าพันธุ์อื่นและมุ่งต่อต้านคนผิวสี โดยสมาชิกของกลุ่มนี้มักสืบเชื้อสายมาจากชาวยุโรป และต้องการปกป้องรักษาสถานะความมั่งคั่ง อำนาจ และอภิสิทธิของตนในสังคมต่อไป ดูhttps://www.voathai.com/a/nationalist-explainer-ct/3985993.html
[6] ออกเสียงตามภาษานอร์เวย์ว่า อันเดิช เบห์ริง บไรวีก ชาวนอร์เวย์ เกิด 13 กุมภาพันธ์ 2522 ผู้ก่อเหตุระเบิดอาคารสำนักงานนายกรัฐมนตรี กรุงออสโล นอร์เวย์ เมื่อ22 กรกฎาคม 2554 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 8 คน และอีก 2 – 3 ชั่วโมงต่อมาได้ก่อเหตุกราดยิงสังหารหมู่ที่ค่ายสันนิบาตเยาวชนกรรมกรของพรรคแรงงาน บนเกาะอูเตอยา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 69 คน ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น https://th.wikipedia.org/wiki/อนเดอส์_เบห์ริง_เบรวิก
[7] “What do we know about the Christchurch attack suspect?” Lisa Martin, and Ben Smee in Grafton, The Guardian (15 Mar 2019) https://www.theguardian.com/world/2019/mar/15/rightwing-extremist-wrote-manifesto-before-livestreaming-christchurch-shooting
[8] “New Zealand Massacre Highlights Global Reach of White Extremism” By Patrick Kingsley The New York Times (March 15, 2019) https://www.nytimes.com/2019/03/15/world/asia/christchurch-mass-shooting-extremism.html
[9] อาชญากรรมที่มาจากความเกลียดชัง (Hate Crime) หมายถึง การกระทำผิดทางอาญาที่ผู้กระทำมีมูลเหตุจูงใจมาจากอคติ หรือความเกลียดชังต่อคนกลุ่มหนึ่งที่มีเอกลักษณ์บางอย่างแตกต่างไปจากตน ทางด้านศาสนา เชื้อชาติ ภาษา ผิวสี และรสนิยมทางเพศ Nathee Chitsawang, Ph.D. “ความแตกต่างของการก่อการร้ายกับ อาชญากรรมจากความเกลียดชัง (Hate Crime)” https://www.gotoknow.org/posts/609456
[10] “Before mosque attacks, New Zealand failed to record hate crimes for years” Charlotte Greenfield, Praveen Menon REUTERS(MARCH 31, 2019) https://www.reuters.com/article/us-newzealand-shooting-intelligence-anal/before-mosque-attacks-new-zealand-failed-to-record-hate-crimes-for-years-idUSKCN1RB0PW
[11] คือ ถ้อยคำโจมตีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ศาสนา เพศ หรือรสนิยมทางเพศ เป็นต้น วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี https://th.wikipedia.org/wiki/ประทุษวาจา และดู “เปรียบเทียบปัญหาความรับผิดทางอาญาในลักษณะ hate speech ต่อบุคคลสาธารณะทางสื่อสังคม: ศึกษากฎหมายไทย สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ และอินโดนีเซีย” (Comparison of the issue of criminal liability in hate speech to the public figure by the social media: on the laws of Thailand, United States of America, New Zealand and Indonesia) ณัฐวุฒิ เอี่ยมแพร ว.มทรส. (มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) 1(2) : 226-237 (2559)
——————————————————-
อ่านเพิ่มเติมที่
Link : https://www.infoanalysis.info/2019/05/st016_71.html