ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีคดีอาชญากรรมจากการใช้ปืนต่ำที่สุดในโลก เมื่อปี 2557 มีผู้เสียชีวิตจากปืนเพียง 6 ราย ผิดกับในสหรัฐฯ ที่มีผู้เสียชีวิตจากปืนถึง 33,599 ราย ญี่ปุ่นมีเคล็ดลับอะไร ยอดผู้เสียชีวิตจากปืนถึงต่ำมาก
ผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานว่า ในญี่ปุ่นผู้ต้องการซื้อปืน ต้องใช้ความอดทนและความมุ่งมั่นอย่างมาก พวกเขาต้องไปเข้าชั้นอบรมตลอดทั้งวัน ต้องสอบให้ผ่านหลักสูตรทั้งข้อเขียนและภาคปฏิบัติ ต้องได้คะแนนในภาคปฏิบัติอย่างน้อย 95% และ ต้องผ่านการทดสอบสุขภาพจิตและการใช้ยาเสพติด
ต่อจากนั้น ตำรวจจะตรวจสอบประวัติอาชญากรรมอย่างละเอียด ดูเรื่องความสัมพันธ์กับกลุ่มสุดโต่ง ตรวจประวัติญาติพี่น้องและเพื่อนในที่ทำงานอีก
นอกจากมีอำนาจงดออกใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืนแล้ว ตำรวจญี่ปุ่นยังมีอำนาจในการตรวจค้นและยึดอาวุธด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ญี่ปุ่นยังห้ามการจำหน่ายและครอบครองปืนพก อนุญาตเพียงปืนลูกซองและปืนลมเท่านั้น
กฎหมายยังกำหนดจำนวนร้านจำหน่ายปืนไว้ที่ 3 แห่งต่อจังหวัดในกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศ ลูกค้าที่จะซื้อกระสุนใหม่ ต้องนำปลอกกระสุนจากกระสุนที่ซื้อไปครั้งก่อนมาเปลี่ยนใหม่
ผู้ครอบครองอาวุธจะต้องแจ้งให้ตำรวจทราบว่าเก็บปืนกับกระสุนไว้ที่ไหน และอุปกรณ์ทั้งสองอย่างจะต้องแยกเก็บไว้คนละส่วน โดยมีกุญแจล็อก ตำรวจจะเข้าตรวจสอบปืนปีละครั้ง และหลังจากสามปี ใบอนุญาตครอบครอบอาวุธจะหมดอายุลง ซึ่งหมายความว่าคุณจะต้องเข้าอบรมอีกครั้ง และต้องสอบให้ผ่านอีกครั้งด้วย
นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมเหตุกราดยิงแทบไม่เคยเกิดขึ้นในญี่ปุ่น แต่ถ้าเกิดเหตุสังหารหมู่ทีไร ผู้ลงมือมักใช้มีดเป็นอาวุธแทน
ประเทศในฝันของฉัน
กฎหมายควบคุมการใช้อาวุปืนฉบับปัจจุบันของญี่ปุ่น เริ่มนำออกใช้เมื่อปี 2501 แต่แนวคิดของกฎหมายนี้ ย้อนหลังไปได้หลายร้อยปี
เอียน โอเวอร์ตัน ผู้อำนวยการบริหาร Action on Armed Violence หน่วยงานที่ศึกษาวิจัยและรณรงค์เพื่อลดความรุนแรงจากการใช้ปืนบอกว่า ญี่ปุ่นเริ่มออกมาตรการที่เข้มงวดเรื่องการใช้ปืน นับตั้งแต่ที่มีการนำปืนเข้าประเทศ ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกในโลกที่มีกฎหมายควบคุมการใช้ปืน และดูเหมือนมันเป็นการวางรากฐานให้ตระหนักว่าปืนไม่ควรเข้ามามีบทบาทในสังคมพลเรือน
ตามประวัติย้อนหลังไปถึงเมื่อปี 2228 มีบันทึกว่า ผู้ที่นำอาวุธปืนส่งคืนให้กับทางการจะได้รับรางวัลตอบแทน ซึ่งโอเวอร์ตันชี้ว่านี่อาจถือได้ว่าเป็นนโยบายเรียกคืนอาวุธปืนนโยบายแรกของโลกก็เป็นไปได้
นโยบายนี้ส่งผลให้ยอดผู้ครอบครองอาวุธปืนมีเหลือน้อยมาก สถิติจากการสำรวจของสมอลล์อาร์มระบุว่า เมื่อปี 2550 สัดส่วนการครอบครองอาวุธปืนในญี่ปุ่นอยู่ที่ 0.6 กระบอกต่อประชากร 100 คน ในอังกฤษและเวลส์อยู่ที่ 6.2 กระบอก และในสหรัฐฯ อยู่ที่ 88.8 กระบอก
โอเวอร์ตันเห็นว่าจำนวนปืนในครอบครองเป็นตัวแปรที่สำคัญต่อความรุนแรงในสังคม ในสังคมที่มีปืนน้อย ความรุนแรงก็น้อยลงตามไปด้วย
ในญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่ตำรวจแทบไม่ค่อยได้ใช้ปืน พวกเขาใช้การต่อสู้ป้องกันตัวมากกว่า พวกเขาเรียนการต่อสู้ถึงขั้นเป็นนักยูโดสายดำ พวกเขาใช้เวลาฝึกเคนโด้บ่อยกว่าและนานกว่าฝึกการใช้อาวุธปืน
แอนโทนี แบทู ผู้สื่อข่าวในญี่ปุ่นบอกว่า ตำรวจญี่ปุ่นตอบโต้ความรุนแรงด้วยวิธีที่ไม่รุนแรง ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยลดความรุนแรงลงได้มาก และเมื่อปี 2557 ตำรวจญี่ปุ่นทั่วประเทศยิงปืนออกไปเพียง 6 นัดเท่านั้น วิธีที่พวกเขานิยมใช้คือใช้ฟูกแบบญี่ปุ่นประกบและพันรอบตัวผู้ที่ใช้ความรุนแรงหรือคนเมา จากนั้นก็นำพวกเขาไปสงบสติอารมณ์ที่สถานีตำรวจ
โอเวอร์ตันเปรียบเทียบวิธีแบบญี่ปุ่นกับวิธีแบบอเมริกัน โดยชี้ว่าในกรณีแบบอเมริกันนั้นเป็นการ “ติดอาวุธให้ตำรวจ” เขาบอกว่า “หากตำรวจหลายนายต่างพร้อมชักปืนออกมาทันควันเมื่อเจอกับเหตุร้าย มันก็จะกลายเป็นการประลองการใช้อาวุธแบบย่อย ๆ ระหว่างตำรวจกับคนร้าย”
เจค อเดลสไตน์ ผู้สื่อข่าวซึ่งเคยร่วมฝึกการยิงปืนในญี่ปุ่นเล่าให้ฟังว่าครั้งหนึ่ง เคยไปฝึกซ้อมยิง แล้วปลอกกระสุนหายไปหนึ่งนัด เนื่องจากไปตกอยู่ข้างหลังเป้า ทำให้ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้ออกจากสถานที่ฝึกซ้อม จนกว่าจะหากระสุนนัดนั้นเจอ
แบทูชี้ว่า ที่ผ่านมาในญี่ปุ่นไม่มีคนออกมาเรียกร้องให้ผ่อนปรนมาตรการควบคุมอาวุธปืน ทั้งนี้มาจากความรู้สึกตั้งแต่หลังสงคราม ที่คนในประเทศต้องการความสงบและสันติ เพราะพวกเขาเห็นว่าสงครามเป็นเรื่องโหดร้าย และจะไม่ก่อสงครามอีกเด็ดขาด
“คนคาดหวังว่าสันติภาพจะยั่งยืนตลอดไปและเมื่อวัฒนธรรมดังกล่าวหยั่งรากลึกในประเทศแล้ว คนก็ไม่เห็นว่าจำเป็นต้องพกพาอาวุธหรือออกมาเรียกร้องและสร้างความวุ่นวาย”
อย่างไรก็ตาม นโยบายล่าสุดของรัฐบาลในการขยายบทบาทของกองกำลังป้องกันตนเองให้สามารถออกไปปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพได้ในต่างประเทศทำให้คนญี่ปุ่นส่วนหนึ่งเป็นห่วง
โคอิชิ นากาโน ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ชี้ว่า มันเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาได้
“บางทีรัฐบาลอาจพยายามทำให้การตายเป็นครั้งคราว ในกองกำลังป้องกันตนเองเป็นเรื่องปกติ หรือ บางทีอาจพยายามทำให้การใช้อาวุธเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ น่ายกย่อง”
เอียน โอเวอร์ตันเห็นว่า การบอกปัดเรื่องการใช้อาวุธปืนจนเรื่องนี้เกือบจะกลายเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมญี่ปุ่นนั้น หมายความว่าญี่ปุ่น “ใกล้จะเป็นสถานที่ที่ดีเลิศ” แต่เขาชี้ว่าไอซ์แลนด์ก็เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จประเทศหนึ่ง ที่มีคดีอาชญากรรมจากการใช้ปืนต่ำมาก ทั้งที่มีจำนวนผู้ครอบครอบอาวุธปืนสูงกว่า
เฮนเรียตตา มัวร์ จากสถาบันเพื่อความยั่งยืนของโลก สังกัดมหาวิทยาลัยลอนดอน ชื่นชมคนญี่ปุ่นที่ไม่ได้มองเรื่องการครอบครองอาวุธปืนเป็นเรื่องสิทธิพลเมือง และการปฏิเสธแนวคิดที่ว่า ปืนเป็น “เครื่องมือสำหรับปกป้องทรัพย์สินของตนจากผู้อื่น”
อย่างไรก็ตามสำหรับพวกยากูซ่า การควบคุมการใช้ปืนอย่างเข้มงวดสร้างปัญหาให้กับพวกเขา แม้ว่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา คดีอาชญากรรมจากการใช้ปืนโดยแก๊งยากูซาลดลงอย่างมาก แต่ผู้ที่ยังจำเป็นต้องครอบครองปืนก็หาวิธีที่แยบยลในการลักลอบนำเข้าปืน
ทาเฮอิ โอกาวะ อดีตนายตำรวที่เกษียณแล้วเล่าให้ฟังว่าเคยตรวจพบหลายครั้งว่าว่ามีกลุ่มอาชญากรรมซ่อนปืนไว้ในปลาทูน่า เพื่อให้ดูเหมือนว่าเป็นปลาทูน่าแช่แข็ง
————————————————————-
ที่มา : BBC Thai / 10 มกราคม 2017
Link : https://www.bbc.com/thai/features-38564099