ภาพธงญิฮาด (ที่มา: wikipedia)
2 พ.ค. 2562 หลังจากที่ศรีลังกาเพิ่งเผชิญกับการก่อการร้ายครั้งร้ายแรงหลายวันที่ผ่านมา งานวิจัยของมหาวิทยาลัยรัฐนอร์ทแคโรไลนาประเมินว่ากลุ่มก่อการร้ายอาจพยายามเกณฑ์ผู้หญิงเข้าเป็นพวกเพิ่มมากขึ้น หลังมีการค้นคว้าข้อมูลในวงกว้างที่ประเมินจากลักษณะการก่อการร้ายที่ผู้หญิงมีส่วนร่วมก่อเหตุด้วยแรงจูงใจจากแนวคิดสงครามศาสนา อีกทั้งเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองยังเปิดเผยอีกว่ามีผู้อุทิศตัวทางศาสนาที่เป็นผู้หญิงรายอื่นๆ เตรียมการก่อเหตุกับวัดของชาวพุทธในศรีลังกาด้วย
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัฐนอร์ทแคโรไลนาอาศัยข้อมูลจากโครงการเวสต์เทิร์นญิฮาดิซึ่ม โครงการของมหาวิทยาลัยแบรนไดส์ รัฐแมสซาชูเซตต์ ที่ทำการศึกษาวิจัยแนวคิดสงครามศาสนาของกลุ่มก่อการร้ายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มอัลกออิดะฮ์ และค้นพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างชายกับหญิงทั้งในแง่ปูมหลังและบทบาทในกลุ่มก่อการร้าย
นักวิจัยทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบจากกลุ่มตัวอย่างหญิง 272 คน และชาย 266 คน โดยมีการจำกัดตัวแปรควบคุมอย่างเชื้อชาติ ประเทศที่อยู่อาศัยและอายุในช่วงที่ถูกกล่อมเกลาให้กลายเป็นหัวรุนแรง และพบสถิติที่น่าสนใจอย่างเรื่องปูมหลังที่พบว่าหญิงที่ถูกกล่อมเกลาให้เข้าร่วมกลุ่มก่อการร้ายนั้นมีร้อยละ 2 เท่านั้นที่เคยมีประวัติอาชญากรรมมาก่อน เมื่อเทียบกับชายที่มีอัตราส่วนร้อยละ 19 สถิติยังแสดงให้เห็นว่าชายที่เข้าร่วมกลุ่มก่อการร้ายมีร้อยละ 14 ที่เป็นคนว่างงานในช่วง 6 เดือนก่อนหน้านั้น ขณะที่ผู้หญิงร้อยละ 42 เป็นคนว่างงานช่วง 6 เดือนก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมกลุ่มก่อการร้าย
ซาราห์ เดสมาไรส์ ผู้ช่วยศาตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยรัฐนอร์ทแคโรไลนา หนึ่งในคนร่วมเขียนงานวิจัยกล่าวว่าข้อมูลที่พวกเขาศึกษายังบ่งชี้ให้เห็นว่ากลุ่มก่อการร้ายอาจจะเกณฑ์ผู้หญิงไปเข้าร่วมมากขึ้น หนึ่งในข้อมูลที่บ่งชี้ในเรื่องนี้คือการที่กลุ่มตัวอย่างผู้หญิงที่ถูกเกณฑ์เข้าไปในกลุ่มก่อการร้ายร้อยละ 34 เป็นคนที่เกิดก่อนปี 2533 ส่วนกลุ่มตัวอย่างชายมีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่เป็นคนเกิดก่อนปี 2533
งานวิจัยนี้ยังระบุถึงเรื่องบทบาทที่ผู้หญิงได้รับมอบต่างออกไปในการปฏิบัติการก่อการร้ายด้วย คริสตีน บรูกห์ ผู้นำการเขียนงานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่าผู้หญิงมีส่วนร่วมในการวางแผนและการปฏิบัติการก่อการร้ายน้อยกว่าชายที่ร้อยละ 52 ต่อร้อยละ 76 ส่วนใหญ่แล้วผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่มก่อการร้ายมักจะได้รับบทบาทตามบรรทัดฐานทางเพศแบบประเพณีนิยมมากกว่า ทั้งนี้บรูกห์ก็บอกว่า “การที่ความแตกต่างเหล่านี้เห็นได้ชัดเจนมากแต่ก็ไม่เคยมีใครค้นพบมันมาก่อนแสดงให้เห็นว่าพวกเราแค่ค้นพบสิ่งที่อยู่ระดับผิวเผินเท่านั้น”
งานวิจัยในเรื่องนี้มีชื่อเต็มว่า “Gender in the Jihad: Characteristics and Outcomes among Women and Men Involved in Jihadism-Inspired Terrorism,” ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารด้านการประเมินและการจัดการภัยคุกคาม (Journal of Threat Assessment and Management)
—————————————————————-
ที่มา : ประชาไท / 3 พฤษภาคม 2562
Link : https://prachatai.com/journal/2019/05/82307