เดอะการ์เดียนรายงานถึงการสมัครงานในยุคที่ให้ระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เป็นสิ่งช่วยคัดกรองคนในระดับที่รุกล้ำข้อมูลส่วนบุคคล จากการที่พวกมัน สังเกต และวิเคราะห์ในรายละเอียดเล็กน้อยๆ ทางบุคลิกภาพ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกทางสีหน้าหรือน้ำเสียงแล้วนำมาวิเคราะห์ด้วยอัลกอริทึม กับ AI แต่ทว่าสิ่งนี้ถูกวิจารณ์ว่า ลดทอนความหลากหลายของแรงงาน ลดทอนความเป็นมนุษย์ ระบบ AI ในการสมัครงานยังถูกมองว่าเป็นการสร้าง “กำแพงกั้นแบบสมมุติ” ทำให้ขั้นตอนการสมัครงานเป็นสิ่งที่เข้าถึงไม่ได้
ความจริงอันโหดร้ายของการสมัครงานโดยต้องผ่านการคัดกรองด้วยอัลกอริทึมและระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) นั้นเริ่มมาจากบริษัทขายซอฟต์แวร์อัลกอริทึมและ AI ดังกล่าวที่ชื่อบริษัท Hirevue หัวหน้านักจิตวิทยาของบริษัทนี้คือ นาธาน มอนดรากอน บอกว่าลูกจ้างที่ดีมาจากคุณสมบัติเล็กๆ น้อยๆ หลายหมื่นอย่าง และคุณสมบัติพวกนี้เองก็ถูก ตรวจจับ สังเกตการณ์ และประเมินผลโดยโปรแกรมของพวกเขา
บริษัท Hirevue ขายเครื่องมือตรวจรับคนทำงานด้วย AI ให้กับบรรษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งไม่ว่าจะเป็นยูนิลิเวอร์หรือโกลด์แมนแซค พวกเขามีกระบวนการให้ผู้สมัครงานตอบคำถามมาตรฐานของการสัมภาษณ์งานต่อหน้ากล้อง ในขณะเดียวกันโปรแกรมก็จะทำการตรวจจับและบันทึกลักษณะท่าทางต่างๆ ของผู้ตอบคำถาม ไม่ว่าจะเป็นการวางท่า การแสดงสีหน้า น้ำเสียง และการเลือกใช้คำ
มอนดรากอนบอกว่าจะมีการเก็บรวบรวมวัจนะภาษาและอวัจนภาษาของผู้ตอบคำถามเป็นข้อมูลไว้หลายพันจุด เช่น เมื่อถามว่าคุณจะทำอย่างไรกับเงินหนึ่งล้านดอลลาร์ โปรแกรมจะอ่านตั้งแต่ปฏิกิริยาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแหงนหน้ามองข้างบน การเงียบ การส่งเสียง “อื้ม” หรือ “อ่า” มอนดรากอนอ้างว่าภาษาท่าทางเหล่านี้จะบอกได้ว่าคนเหล่านี้มีความคิดเชิงสร้างสรรค์หรือไม่ โดยที่โปรแกรมจะนำภาษาท่าทางเหล่านี้มาคิดเป็นคะแนนซึ่งจะอ้างอิงเปรียบเทียบกับพนักงานที่ทำงานได้ดีระดับท็อปส์
อย่างไรตามเรื่องนี้ฟังดูไม่น่าเชื่อถือ วิธีการแบบการวิเคราะห์เสียงหรือการอ่าน “การแสดงออกย่อยๆ” ของบุคคลเคยถูกนำมาใช้ในการกำกับควบคุมคนและใช้ในการข่าวกรองแต่ว่าได้ผลสำเร็จน้อยมาก
แต่ Hirevue ก็เป็นเพียงแค่หนึ่งในบริษัทจำนวนมากที่เสนอขายระบบ AI ในการคัดกรองคนเข้าทำงานให้กับบรรษัทต่างๆ บรรษัทเอกชนสัญชาติอังกฤษอย่างเทสโกมีการยื่นสมัครงานมากถึง 3 ล้านตำแหน่งในปี 2559 การยื่นสมัครงานจำนวนมากขนาดนี้ทำให้นายจ้างเริ่มยกเลิกการใช้คนในการตรวจคัดกรองและหันมาใช้ระบบ AI แทน เริ่มต้นตั้งแต่การตรวจสอบคำสำคัญในใบเรซูเมของผู้สมัครงานและในเวลาต่อมาบรรษัทก็เริ่มใส่คำถามและมาตรวัดทดสอบอื่นๆ ลงไปเองด้วย เรื่องนี้ทำให้ภาระของการรับสมัครงานถูกผลักมาที่คนหางานแทนที่จะเป็นนายจ้างคล้ายกับลักษณะแบบเศรษฐกิจยุค “กิ๊กอิโคโนมี” ที่เน้นการจ้างงานเหมาช่วงแบบชั่วคราวและผลักภาระการเตรียมการไปที่ลูกจ้าง ทั้งนี้ยังมีข้อวิจารณ์ว่าระบบ AI ในการสมัครงานเป็นการลดบทบาทการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ลง ทำให้ระบบการสมัครงานที่ยุ่งยากพออยู่แล้วกลายเป็นระบบที่ทำให้เกิดความแปลกแยก
รายงานของเดอะการ์เดียนระบุว่าระบบแบบนี้ทำให้เกิดความน่ากังวลเรื่องการลดทอนความเป็นมนุษย์ และวิทยาการข้อมูลแบบนี้ก็ถูกประกอบสร้างขึ้นมาจากความไม่เท่าเทียมอยู่แล้ว นอกจากนี้การใช้เครื่องมือแบบอัลกอริทึมก็ขาดความโปร่งใส เช่นถ้าหากคุณถูกกีดกันหรือเลือกปฏิบัติโดยอัลกอริทึมคุณจะเรียกร้องให้ชดใช้ในเรื่องนี้ได้จากไหน นอกจากนี้ยังไม่ทีอะไรตรวจสอบได้ว่าระบบอัลกอริทึมหรือ AI เองมีอคติแฝงอยู่ในนั้นหรือไม่ รวมถึงการละเมิดความเป็นส่วนตัวอย่างคำถามที่ว่าโปรแกรมที่มาจากบริษัทเอกชนเหล่านี้จะทำอย่างไรกับข้อมูลส่วนตัวของผู้คนที่ถูกบันทึกไว้ สิ่งเหล่านี้ชวนให้กังวลว่าระบบการสมัครงานแบบใช้ AI จะยิ่งกีดกันคนที่จนกว่า คนที่ไม่ได้มีลักษณะตามขนบธรรมเนียม หรือคนที่เข้าใจเทคโนโลยีน้อยกว่า
มีอดีตคนทำงานแผนกทรัพยากรบุคคลชื่อ ฮีตเธอร์ ดาวีส์ ที่ปัจจุบันเป็นหนึ่งในคนจัดงานให้กับกลุ่มคริสเตียนต่อต้านปัญหาความยากจน (Christians Against Poverty) จากลอนดอนวิพากษ์วิจารณ์ระบบ AI ในการสมัครงานว่ามันเป็นการสร้าง “กำแพงกั้นแบบสมมุติ” ขึ้น ทำให้คนรู้สึกว่าขั้นตอนการสมัครงานเป็นสิ่งที่เข้าถึงไม่ได้
มีคนอื่นๆ ที่วิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น โรเบิร์ต อดีตคนงานซ่อมท่อประปาที่พยายามหางานชั่วคราว วิจารณ์ว่ามันลดทอนความเป็นมนุษย์ในแง่ที่ว่าพวกเขาไม่สามารถพบปะนายจ้างได้ ขณะที่แฮร์รี อายุ 24 ปี ที่กำลังหางานอะไรก็ได้ทำก็เล่าถึงสิ่งที่เขาต้องเผชิญว่าเขาต้องทำแบบทดสอบทั้งบุคลิกภาพไปจนถึงคณิตศาสตร์และผู้สมัครมักจะถูกปฏิเสธโดยทันทีจากระบบคำนวณอัตโนมัติ แฮร์รีมองว่าปัญหาของระบบแบบนี้คือมันน่าท้อใจ และมันไม่บอกให้รู้ว่าคุณทำอะไรผิด ทำให้คนสมัครงานรู้สึกว่าตัวเองติดอยู่ภาวะจนตรอก คนที่สมัครไม่ผ่านรู้สึกว่าพวกเขาต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่หมดในทุกๆ ครั้ง
กลุ่มองค์กรด้านการจ้างงานกล่าวว่าปัญหาจากเรื่องนี้ยังสะท้อนความเลวร้ายของวัฒนธรรมการจ้างงานในรูปแบบต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น ลินดา เพนนิงตัน คนทำงานองค์กรเรื่องการจ้างงานในครอยดอนบอกว่าการตรวจสอบเรซูเมแบบอัตโนมัติยิ่งเน้นย้ำปัญหาการกีดกันคนหางานที่มีอายุมากจากการกำหนดให้มีประสบการณ์ในแบบที่ไม่ตรงกับงานที่พวกเขาทำก่อนหน้านี้ ขณะที่เคอร์ตี แมคฮิวจ์ ประธานสมาคมบริการที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน (ERSA) ระบบแบบนี้จะกีดกันคนที่ไม่มีคุณสมบัติตรงตามขนบโดยอัตโนมัติอย่างไม่ได้คิดอะไรให้ไกลกว่านั้น
แม้กระทั่งคนที่เคยประสบความสำเร็จจากการจ้างหรือทำงานเป็นคนตรวจคัดกรองคนจ้างงานเอง พวกเขาบอกว่าระบบอัตโนมัติแบบนี้มันจะทำให้พลาดจะได้รับผู้สมัครงานที่ “มีพรสวรรค์แต่ดูนิ่งๆ” หนึ่งในคนที่เคยตกการสัมภาษณ์งานมาแล้วกว่า 86 ครั้ง เดบอราห์ คาลเดรา บอกว่าเธอไม่เชื่อใจในระบบอัตโนมัติของการจ้างงานอีกแล้วเพราะมันทำให้ “ไม่มีการสนทนาหรือและเปลี่ยนกันอย่างแท้จริง” โดยที่คาลเดรามีผลการเรียนดีและมีกิจกรรมนอกหลักสูตร แต่เนื่องจากเธอไม่ใช่คนที่มั่นใจในตัวเองทำให้เธอแสดงออกแบบลังเลต่อหน้าคอมพิวเตอร์ตรวจจับ “สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดทั้งมวลมันทำให้เป็นมนุษย์ลดลง ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวล อะไรที่ทำให้คนเราใช้แค่เครื่องจักรอัตโนมัติในเวลาที่ประเมินค่าบุคคล”
อย่างไรก็ตามเริ่มมีคนที่พยายามต่อสู้กับระบบอัตโนมัติแบบนี้จากใต้ดิน เช่น การสร้างโปรแกรมเทียมขึ้นมาเพื่อข้ามกระบวนการทดสอบของ AI หรือไม่เช่นนั้นก็มีการเอาคำที่ระบบตรวจสอบชอบใส่ลงไปในเรซูเมอย่างลับๆ ด้วยการพิมพ์ลงเป็นตัวอักษรสีขาว อย่างคำว่า “อ็อกฟอร์ด” หรือ “เคมบริดจ์” ซึ่งเป็นชื่อมหาวิทยาลัยชื่อดังเพื่อให้ผ่านระบบตรวจจับอัตโนมัติได้ นอกจากนี้ยังมีบริษัทบางส่วนที่เก็บข้อมูลจากคนหางานและอดีตลูกจ้างเรื่องวิธีการรับสมัครคนเข้าทำงานเพื่อขายแบบทดสอบให้คนเอาไปฝึกซ้อมได้
ถึงแม้จะเป็นเรื่องยากที่จะระบุได้ว่ามีจำนวนบริษัทที่ใช้งานระบบคัดเลือกคนเข้าทำงานด้วย AI มากเท่าใดแล้ว กาย ธอร์ตัน ประธานบริษัทที่ Practice Aptitude Tests ที่ขายแบบทดสอบฉบับฝึกซ้อมการรับคนเข้าทำงานก็บอกว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเริ่มมีบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางในอังกฤษนำระบบ AI มาใช้ในการรับสมัครงานมากขึ้น
จากการที่คริสตินา โคลคลอกจ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการทำให้เป็นดิจิทัลกับแรงงานของกลุ่มสหภาพแรงงานระดับโลกยูเนียนเน็ตเวิร์กอินเตอร์เนชันแนล (UNI) บอกว่า กำลังมีการเคลื่อนไหวในระดับประชาชนและระดับการเมืองจากการที่ UNI และองค์กรอื่นๆ กำลังพยายามร่างกฎบัตรเพื่อกำกับดูแลการตัดสินใจโดยอาศัย AI ให้เข้าไปอยู่ในข้อตกลงการต่อรองด้วย นอกจากนี้อีกไม่นานจะมีการอัพเดทกฎหมายคุ้มครองข้อมูลของสหภาพยุโรปที่เรียกว่า GDPR โดยจะระบุให้บริษัทต้องเปิดเผยว่ามีการตัดสินใจใดๆ บ้างที่มาจากระบบอัตโนมัติแล้ว “ส่งผลกระทบต่อบุคคลอย่างมีนัยสำคัญ” นอกจากนี้ผู้สมัครงานยังจะสามารถท้าทายการตัดสินใจนี้หรือเรียกร้องให้มีการแทรกแซงจากมนุษย์ได้
ทั้งนี้ ซานดรา วอชเตอร์ นักกฎหมายและนักวิจัยด้านจริยธรรมข้อมูลของมหาบันอินเทอร์เน็ตอ็อกฟอร์ดกล่าวว่า กลุ่มบรรษัทอาจจะมีการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย GDPR ที่ไม่ครอบคลุมมากพอในการทำให้บรรษัทไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลได้เช่นการที่ให้บุคคลมีส่วนร่วมในกระบวนการอัตโนมัติเพียงเล็กน้อย อีกทั้งการใช้เรื่อง “สิทธิในการอธิบาย” ที่ให้บริษัทอธิบายเกี่ยวกับการตัดสินใจของระบบอัตโนมัติก็ไม่มีข้อผูกมัดทางกฎหมาย บวกกับความซับซ้อนทางเทคนิคของโปรแกรมก็ทำให้นักการเมืองฝ่ายนิติบัญญัติมีความยากลำบากในการตรากฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมถึงเรื่องลิขสิทธิ์ของบริษัทที่ทำให้เข้าถึงระบบการทำงานภายใน AI เหล่านี้ได้ยากด้วย
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า GDPR จะได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย วอชเตอร์บอกว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่ GDPR หันมาเจาะจงเรื่องเกี่ยวกับการจ้างงานโดยเฉพาะ การรับรู้ปัญหานี้จะเปิดโอกาสให้คนที่กำลังหางานมีอำนาจในกระบวนการมากขึ้น “ผู้คนเริ่มมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับระบบนี้มากขึ้นและอาจจะใช้สิทธิในการท้าทยการตัดสินใจนี้” วอชเตอร์กล่าว
———————————————————–
ที่มา : ประชาไท / 13 พฤษภาคม 2562
Link : https://prachatai.com/journal/2019/05/82453