ก่อนหน้านี้หนึ่งในคำแนะนำในการตรวจสอบเว็บไซต์ฟิชชิ่ง (Phishing – เว็บไซต์ปลอมที่ทำขึ้นมาหลอกขโมยข้อมูล) คือการดูว่าเว็บไซต์ดังกล่าวนั้นใช้การเชื่อมต่อแบบที่มีการเข้ารหัสลับข้อมูลหรือไม่ ซึ่งสามารถสังเกตได้ง่ายโดยการเชื่อมต่อจะเป็นแบบ HTTPS และมีไอคอนรูปกุญแจอยู่ตรงแถบที่อยู่เว็บไซต์ สาเหตุของข้อแนะนำนี้เกิดจากในสมัยก่อนนั้นการขอใบรับรองดิจิทัลเพื่อให้เว็บไซต์สามารถใช้ HTTPS ได้นั้นมีราคาแพงและมีเงื่อนไขการขอที่ค่อนข้างเข้มงวด ส่วนใหญ่จึงมีเฉพาะเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการเงินหรือเว็บไซต์ที่มีการรับส่งข้อมูลสำคัญที่มีการใช้งาน HTTPS ไม่ค่อยพบเว็บไซต์ฟิชชิ่งที่ใช้เทคนิคนี้เท่าไหร่นักเนื่องจากยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังค่าใช้จ่ายในการขอใบรับรองดิจิทัลเพื่อทำเว็บไซต์ให้รองรับ HTTPS นั้นเริ่มถูกลง (หรือแม้กระทั่งสามารถขอได้ฟรี) จึงเริ่มมีการพบเว็บไซต์ฟิชชิ่งที่ใช้ HTTPS เพิ่มมากขึ้น (ข่าวเก่า https://www.thaicert.or.th/newsbite/2019-04-17-01.html) เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 บริษัท PhishLabs ได้เปิดเผยสถิติเว็บไซต์ฟิชชิ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 พบว่าเกินครึ่ง (58%) ใช้ HTTPS แล้ว และมีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลดังกล่าวน่าจะพอสรุปได้ว่าปัจจุบันคำแนะนำให้ตรวจสอบว่าเว็บไซต์ใช้การเชื่อมต่อแบบ HTTPS หรือไม่นั้นไม่สามารถใช้ยืนยันได้อีกต่อไปแล้ว
ในทางเทคนิคแล้ว เว็บไซต์ที่ใช้การเชื่อมต่อแบบ HTTPS นั้นหมายความว่าข้อมูลที่รับส่งระหว่างผู้ใช้กับตัวเว็บไซต์นั้นถูกเข้ารหัสลับไว้ บุคคลอื่นไม่สามารถดักอ่านหรือแก้ไขข้อมูลที่อยู่ระหว่างทางได้ อย่างไรก็ตาม การรับส่งข้อมูลอย่างปลอดภัยนั้นไม่ได้เป็นการยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งให้กับผู้ให้บริการตัวจริงหรือส่งไปยังเว็บไซต์ที่ถูกต้องแต่อย่างใด ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อเว็บไซต์ฟิชชิ่ง ผู้ใช้ควรตรวจสอบโดเมนและที่อยู่ของเว็บไซต์ให้ถูกต้องทุกครั้งก่อนกรอกข้อมูลหรือดำเนินการใด ๆ
————————————————–
ที่มา : ThaiCERT / 25 มิถุนายน 2562
Link : https://www.thaicert.or.th/newsbite/2019-06-25-01.html?fbclid=IwAR239erpfKzpwEpS2IUAX0Zv4hxQhXfWnpEP4dEKyG0-3i7VfVC7UY7nbNM#2019-06-25-01