เคยไหมที่จู่ ๆ ก็มีคนรู้ข้อมูลบางเรื่องของเราจากโลกออนไลน์ ทั้ง ๆ ที่เรามั่นใจว่าปกปิดไว้อย่างดีแล้ว? เชื่อว่าหลายคนอาจจะเคยพบกับเหตุการณ์นี้ด้วยตัวเองจนเกิดข้อสงสัยขึ้นมา
เมื่อไม่นานมานี้มีผู้ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์แห่งหนึ่งได้โพสต์เล่าว่า เธอบังเอิญไปรับรู้รายละเอียดการสั่งซื้อสินค้าของคนรู้จักภายในแอปพลิเคชันหนึ่งได้ ทั้งที่คนรู้จักนั้นใช้นามแฝงในการสั่งซื้อแล้วก็ตาม จนสุดท้ายพบว่า ภายในแอปพลิเคชันมีการตั้งค่าพื้นฐานของข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้เป็นสาธารณะ
“ข้อมูลส่วนตัว” ทำอย่างไรไม่ให้รั่วไหลในโลกออนไลน์?
หลายท่านคงสงสัยว่าจะทำอย่างไรให้ข้อมูลส่วนตัวของเราไม่ถูกเปิดเผยแก่คนอื่น ๆ ที่อาจเป็นคนรู้จักหรืออาจเป็นผู้ไม่หวังดี ขั้นตอนที่สำคัญที่สุด 2 ขั้นตอนที่ควรทำและศึกษารายละเอียดอย่างรอบครอบก่อนทำการเลือกใช้แอปพลิเคชัน หรือ แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ได้แก่
1) อ่านนโยบายการใช้ข้อมูลบนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันอย่างละเอียด
นโยบายการใช้เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันจะแสดงให้เห็นถึงข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการของแต่ละแพลตฟอร์มว่ามีกฎข้อบังคับการใช้งานอย่างไร รวมทั้งเรื่องของนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลว่าบริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มนั้น ๆ มีการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไรและเก็บข้อมูลของเราเพื่อประโยชน์อะไร รวมทั้งเรื่องการจำกัดความรับผิดชอบจากการใช้งานในกรณีใดบ้าง ส่วนใหญ่แล้วบริษัทผู้ให้บริการจะสอบถามความยินยอมข้อตกลงดังกล่าวในขั้นตอนการสมัครเข้าใช้บริการ ซึ่งขั้นตอนนี้ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญขั้นตอนหนึ่งในการใช้งานเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มใด ๆ ก็ตาม
จาก รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2561 โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA พบว่า มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 63.3% เคยอ่านข้อตกลงเรื่องสิทธิและความรับผิดชอบหรือนโยบายการใช้ข้อมูล แต่ในกลุ่มผู้ที่ตอบว่าเคยอ่านข้อตกลง มีเพียง 12.3% เท่านั้นที่อ่านอย่างละเอียด อีก 36% จะอ่านเฉพาะหัวข้อที่สำคัญ ในขณะที่ 51.7% อ่านเป็นบางส่วนเท่านั้น ในส่วนนี้เองที่อาจทำให้ผู้ใช้งานไม่ทราบถึงรายละเอียดการนำข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ไปใช้และมีข้อจำกัดอย่างไร
2) สำรวจข้อมูลการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันอย่างละเอียด
หลังจากอ่านนโยบายการใช้ข้อมูลบนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันอย่างละเอียดแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการเริ่มใช้งานเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ก่อนการใช้งานเราควรศึกษาและสำรวจการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวอย่างละเอียดก่อนว่ามีข้อมูลส่วนใดที่จะเปิดเผยสู่สาธารณะและเราจะยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนนั้นหรือไม่ ซึ่ง ผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2561 พบว่า คนไทย 31% ไม่กังวลกับการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวให้คนทั่วไปได้เห็น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล อายุ หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล รูปภาพ ข้อมูลเกี่ยวกับฉัน ที่ล้วนแต่เป็นข้อมูลที่มักถูกนำไปใช้ในการหาประโยชน์ต่าง ๆ ได้ทั้งสิ้น เพื่อความปลอดภัยเราควรตรวจดูการตังค่าความเป็นส่วนตัวของทุกแพลตฟอร์มที่เราเลือกใช้บริการนั่นเอง
———————————————————
ที่มา : ETDA / 28 พฤษภาคม 2562
Link : https://www.etda.or.th/content/online-data-privacy.html?fbclid=IwAR3ptmqvIIFdTuzMnW7_lIlH6py2za07OBAeTLW2tvr4sIXcLQ4bOnhbEik