หลายครั้งปรากฎเอกสารราชการที่แสดงชั้นความลับจากหน่วยงานของรัฐต่างๆ ถูกนำออกเผยแพร่สาธารณะ โดยเฉพาะบน social network ตัวอย่างจากกรณีแรกเป็นหนังสือราชการถึงบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนังสือราชการนั้น ซึ่งเป็นการนำออกเผยแพร่ด้วยตัวของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเอง โดยแยกออกเป็นบุคคลทั่วไป ได้แก่ หนังสือราชการชั้นลับจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แสดงในการแถลงข่าว (ภาพจากสำนักข่าวทีนิวส์ เมื่อ 23 พฤษภาคม 2562) ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้อง กับบุคคลที่เคยรับราชการ ได้แก่ หนังสือราชการชั้นลับจากสำนักงาน ป.ป.ช. ถึงนายสุขวิช รังสิตพล เผยแพร่บน Facebook ของฐิฏา มานิตกุล ผู้พันปราง บุตรของ นายสุขวิชฯ
ส่วนกรณีท้ายสุดเป็นเอกสารราชการที่นำออกเผยแพร่โดยบุคคลอื่นที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น เอกสารชั้นลับมากประกอบการประชุมธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งนายพิชัย นรินพทะพันธุ์ นำมาแสดงในรายการทุบประเด็น ทางสถานีโทรทัศน์ไบรท์ ทีวี เมื่อ 19 มิถุนายน 2562 เป็นต้น
เอกสารราชการนับเป็นข้อมูลข่าวสารราชการประเภทหนึ่ง เมื่อถูกกำหนดชั้นความลับ หน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของเรื่อง หรือเกี่ยวข้อง หรือมีอยู่ในการครอบครอง ดูแล ต่างต้องดำเนินการกับเอกสารดังกล่าวตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 และระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นระเบียบปฏิบัติระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันต่อข้อมูลข่าวสาร หรือสิ่งที่เป็นความลับ หรือมีความสำคัญของทางราชการ แต่ระเบียบเหล่านี้ไม่ได้ระบุครอบคลุมถึงบุคคลทั่วไปหรือเอกชน ทำให้ประเมินว่า การแสดงชั้นความลับบนเอกสารในกรณีนายธนาธรฯ และกรณีนายสุขวิชฯ เจ้าหน้าที่รัฐผู้มีอํานาจกําหนดชั้นความลับจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงาน ป.ป.ช. คงคํานึงถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น หากเอกสารราชการนั้นถูกเปิดเผยหรือรั่วไหล แต่กระนั้นก็ตาม การแสดงชั้นความลับบนเอกสารราชการถึงบุคคลทั่วไปสะท้อนถึงการขาดความตระหนักว่า ระเบียบราชการมิได้กำหนดขึ้นสำหรับให้บุคคลทั่วไปถือปฏิบัติเหมือนเช่นกฎหมาย อย่างไรก็ดี การที่ผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องโดยตรงกับเอกสารราชการที่มีชั้นความลับเหล่านั้น ทำการเปิดเผยต่อสาธารณะด้วยตนเองเช่นนี้ เชื่อได้ว่า หน่วยงานของรัฐก็ยังไม่เคยกำหนดวิธีดำเนินการใดต่อกรณีดังกล่าวเอาไว้เลย
สำหรับกรณีท้ายสุด เนื่องจากธนาคารกรุงไทยเป็นรัฐวิสาหกิจในรูปแบบของสถาบันการเงินในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง จึงต้องถือปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการทั้ง 2 ระเบียบ ดังนั้น กรณีนายพิชัยฯ นำเอกสารที่แสดงชั้นลับมากของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ไปเปิดเผยเป็นสาธารณะ ถือว่าเป็นการรั่วไหลของข้อมูลข่าวสารลับของราชการ เพราะนายพิชัยฯ มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีดังกล่าว และตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับเพียงแต่กำหนดให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยเร็ว เพื่อหาผู้กระทําผิดและดําเนินการทางวินัยและ/หรืออาญาต่อไปเท่านั้น
ด้วยประเทศไทยมีเพียงพระราชบัญญัติคุ้มครองความลับในราชการ พ.ศ.2483 ที่มีสาระใช้ปฏิบัติในทางทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายหลักเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการและการคุ้มครอง ดูแลให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ดังนี้ การแสดงชั้นความลับจึงเป็นวิธีการหนึ่งในการคุ้มครอง ดูแลข้อมูลข่าวสารราชการ แต่ต้องพิจารณาเนื้อหาของข้อมูลข่าวสารลับ และระดับชั้นความลับต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล การกําหนดให้เป็นข้อมูลข่าวสารลับทั้งที่ไม่สมควร หรือ กําหนดชั้นความลับสูงเกินจำเป็น อาจทําให้ผู้เกี่ยวข้องละเลยความสําคัญข้อมูลข่าวสารลับและลดความสนใจที่จะคุ้มครองดูแล ในทางตรงกันข้าม หากไม่กําหนดชั้นความลับตามควรหรือกําหนดชั้นความลับต่ำกว่าที่ควร ก็อาจก่อให้เกิดการรั่วไหลไปยังบุคคลที่ไม่มีอํานาจหน้าที่หรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้โดยง่าย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรระวังเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารลับของทางราชการตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 อยู่ที่เนื้อหาข้อ 50 “ในกรณีที่ข้อมูลข่าวสารลับใดไม่มีเครื่องหมายแสดงชั้นความลับไว้ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องสามารถเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นได้เว้นแต่ เจ้าหน้าที่นั้นได้รู้หรือควรจะรู้ข้อเท็จจริงว่าข้อมูลข่าวสารนั้นได้มีการกําหนดชั้นความลับไว้แล้ว” เพราะการพิสูจน์เจตนาของบุคคลเป็นสิ่งที่กระทำได้ยากและต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการอีกด้วย