ข่าวการใช้อุปกรณ์ฉุกเฉินภายในรถไฟฟ้าผิดวิธีจนเกิดผลกระทบต่อการเดินรถทั้งระบบ มีให้ได้ยินกันเป็นระยะ ดังนั้น เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เรามารู้จักอุปกรณ์เหล่านี้กันสักนิด
อุปกรณ์ฉุกเฉินภายในรถไฟฟ้าทุกขบวน จะมีอยู่ 2 ชนิด ติดตั้งที่บริเวณประตูรถไฟฟ้า
ชนิดแรก คือ คันโยกเปิดประตูกรณีฉุกเฉิน หรือ Passenger Emergency Release เรียกย่อ ๆ ว่า PER เป็นคันโยกสีแดง ติดตั้งอยู่ด้านซ้ายของประตูทุกบาน ทั้งรถไฟฟ้า BTS และ MRT ส่วนของรถไฟฟ้า Airport Rail Link จะเป็นคันโยกสีเขียว มีฝาพลาสติกครอบไว้
คันโยก PER นี้ จะใช้เมื่อต้องการหยุดรถ เช่น มีคนตกชานชาลา หรือต้องการเปิดประตูรถไฟฟ้า เพื่อให้ผู้โดยสารออกจากตัวรถอย่างปลอดภัย แต่ต้องมีเจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้าให้คำแนะนำเท่านั้น หากผู้โดยสารดึง PER โดยไม่มีเหตุอันควร จะส่งผลต่อการเดินรถได้
ชนิดที่สอง คือ ปุ่มติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้า หรือ Passenger Communication Unit เรียกแบบย่อว่า PCU สำหรับรถไฟฟ้า BTS และ MRT จะเป็นปุ่มกดรูปกระดิ่งหรือไมโครโฟน อยู่ด้านล่างของชุด PER ติดตั้งบริเวณประตูเว้นประตู ส่วนของรถไฟฟ้า Airport Rail Link จะเป็นคันโยกสีแดง
เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน เช่น คนเป็นลมหรือเจ็บป่วย ให้ใช้ปุ่มกด PCU นี้ เพื่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะประสานงานให้ความช่วยเหลือทั้งภายในขบวนรถหรือที่สถานีถัดไป โดยรถไฟฟ้ายังสามารถวิ่งได้ต่อไป ไม่หยุดชะงัก
————————————————————
ที่มา : เฟซบุ๊ก ไทยคู่ฟ้า / 5 กรกฎาคม 2562
Link : https://www.facebook.com/154553218343826/posts/681003342365475/