เอเอฟพี/เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ – กลายเป็นที่ฮือฮาบวกกับความไม่พอใจเกิดขึ้นเมื่อพบว่า ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในภาคใต้ซึ่งมีประชากรมุสลิมส่วนมากถูกรัฐบาลไทยออกคำสั่งให้ทำการส่งภาพถ่ายไปให้ทางการเพื่อใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้า ( facial recognition software) ในการขุดรากถอนโคนกลุ่มผู้ก่อการไม่สงบ หากผู้ใช้รายใดไม่ทำตามจะถูกสั่งตัดสัญญาณมือถือ หมดเขตลงทะเบียน 31 ต.ค นี้ แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนมุสลิม สถาบันข้ามวัฒนธรรม( Cross Cultural Foundation) ออกมาโต้วานนี้(25 มิ.ย) ถือเป็นการเลือกปฎิบัติ และเทคโนโลยีนี้ยังมีปัญหาเป็นต้นว่า ในสหรัฐฯ เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าของแอมะซอนที่เสนอให้ทางตำรวจสหรัฐฯใช้ทำงานผิดพลาด ระบุใบหน้าของสมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯ 28 คนเป็นผู้ต้องหากระทำความผิด
เอเอฟพีรายงานวันนี้(26 มิ.ย)ว่า ทางรัฐบาลไทยใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจดจำใบหน้า (facial recognition software )ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ที่มีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนมุสลิมเชื้อสายมาเลย์เป็นตัวการลอบวางระเบิดทำให้ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนับครั้งไม่ถ้วน แต่ทว่าคำสั่งให้ประชาชนที่อาศัยในภาคใต้และมีโทรศัพท์มือถือต้องลงทะเบียนกับทางการด้วยการส่งรูปถ่ายไปให้นั้นสร้างความไม่พอใจ
ซึ่งทางโฆษกกองทัพได้ออกมากล่าวปกป้องในวันพุธ(26) ชี้ว่า นโยบายการใช้ระบบจดจำใบหน้าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อต้องการถอนรากถอนโคนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์จุดระเบิด
ทั้งนี้พบว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แก่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส นับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมาอยูในความไม่สงบจากฝีมือของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเชื้อสายมาเลย์ ซึ่งความรุนแรงในภูมิภาคได้คร่าชีวิตคนไปแล้วกว่า 7,000 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนชาวมุสลิมและชามพุทธในพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้ทำการจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าอาจเป็นกลุ่มกบฎโดยที่ไม่ใช้หมายมาแล้วเมื่อครั้งอดีต
แต่ในเวลานี้บริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคมได้รับคำสั่งจากกองทัพให้ผู้ใช้จำนวนร่วม 1.5 ล้านคนในภาคใต้ต้องส่งรูปถ่ายของตัวเองเพื่อลงทะเบียนสำหรับจุดประสงค์การตรวจจับใบหน้าโดยเฉพาะ สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมากเนื่องมาจากเส้นตายของการส่งรูปเพื่้อลงทะเบียนนั้นใกล้เข้ามา
โฆษกกองทัพภาค 4 กล่าวว่า ถือเป็นความจำเป็นที่ต้องระบุตัวผู้ลงมือก่อเหตุที่แอบใช้โทรศัพท์มือถือจุดชนวนระเบิด “ในกรณีที่คนร้ายใช้โทรศัพท์มือถือจุดชนวนระเบิด ทางเราจะสามารถแกะรอยคนร้ายได้”
เอเอฟพีชี้ว่า อ้างอิงจากโฆษกกองทัพภาคที่ 4 พบว่าการลงทะเบียนส่งภาพถ่ายจะหมดเขตลงในวันที่ 31 ต. ค นี้ และผู้ที่พลาดไม่ส่งภายในกำหนดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และอีก 4 เขตของจังหวัดสงขลาจะต้องถูกลงโทษด้วยการถูกตัดสัญญาณโทรศัพท์
ในวันอังคาร (25) นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาย้ำถึงนโยบายใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าว่า จะช่วยให้มี “หลักฐาน” ระบุตัวตนแท้จริงของผู้ใช้โทรศัทพ์มือถือ ประยุทธ์กล่าวว่า “ประชาชนในภาคใต้ไม่บ่น…เพราะพวกเขารู้ว่า มันจะช่วยลดความรุนแรงลง”
อย่างไรก็ตาม ประชาชนชาวมุสลิมในที่ภาคใต้และกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างออกมากล่าวหารัฐบาลไทยมาตลอดว่า ทางการใช้ความรุนแรงกับประชาชนชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ในพื้นที่ ทำให้คนเหล่านี้รู้สึกตกเป็นเป้าในบ้านของตัวเอง
กลุ่มสิทธิมนุษยชนมุสลิม สถาบันข้ามวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation) ออกแถลงการณ์เมื่อวานนี้ (25) ว่า “การใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าที่มีข้อผิดพลาดจะนำไปสู่การใช้ชาติพันธุ์เป็นตัวกำหนดสำคัญ และนำไปสู่การจับกุมที่ผิดพลาด” และเสริมต่อว่า “ความเสี่ยงของการกีดกันทางเชื้อชาติอาจส่งผลต่อความไว้ใจตำรวจในพื้นที่”
เอเอฟพีชี้ว่า คำสั่งที่ออกมานี้ไม่ได้ถูกบังคับใช้กับคนในภาคอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม โฆษกกองทัพภาคที่ 4 ย้ำว่า สำหรับผู้ใช้มือถือที่ไม่ได้ลงทะเบียนซิมการ์ดจากภาคอื่นๆที่เดินทางมายัง 3 จังหวัดชายแดนใต้จะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือใช้
สำหรับเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าในสหรัฐฯยังคงเป็นที่ถกเถียง ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา “ซานฟรานซิสโก” กลายเป็นเมืองแรกในสหรัฐฯที่ประกาศห้ามหน่วยงานประจำเมือง 53 หน่วยงานรวมถึงตำรวจซานฟรานซิสโกใช้เทคโนโลยีที่ว่านี้ และในเดือนนี้เมืองโอ๊คแลนด์ที่มีพื้นที่ติดกับซานฟรานซิสโกอยู่ในขั้นพิจารณาการห้ามใช้การตรวจจับใบหน้าเช่นเดียวกัน
โดยประธานสภาเมืองโอ๊กแลนด์ รีเบคกา แคปแลน (Rebecca Kaplan) เป็นผู้เสนอญัตติการห้ามใช้เทคโนโลยีการตรวจจับใบหน้าด้วยตัวเอง อ้างอิงการรายงานของสื่อซานฟรานซิสโก sfgate ในวันจันทร์ (24)
โดยแคปแลนได้อ้างว่า เทคโนโลยีนี้ยังมีปัญหา “ระบบการจดจำใบหน้าขึ้นอยู่กับฐานข้อมูลที่มีอคติ ที่มีอัตราความผิดพลาดระดับสูง และปราศจากมาตรฐานในการใช้ซึ่งมาสู่การระบุที่ผิดพลาดและควบคุมข้อมูล”
ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมามีการทดสอบซอฟต์แวร์เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าของแอมะซอน บริษัทค้าทางออนไลน์ชื่อดังของสหรัฐฯ ที่มีชื่อว่า“Rekognition software” เกิดปัญหาผิดพลาดระบุใบหน้าสมาชิกสภาคองเกรส 28 คนเป็นใบหน้าคนร้าย
โดยทางองค์กร สหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน ACLU เป็นผู้ทำการทดสอบ เกิดขึ้นหลังมีรายงานว่า ทางแอมะซอนพยายามที่จะขายเทคโนโลยีตัวนี้ให้กับหน่วยงานตำรวจของสหรัฐฯ
ในการทดสอบทาง ACLU ได้ใช้ระบบเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าของแอมะซอนทำการสแกน โดยทางกลุ่มได้สร้างดาต้าเบสขึ้่นมาที่มีภาพของผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมจำนวน 25,000 คน และฐานข้อมูลใบหน้าทุกคนของสมาชิกสภาล่างสหรัฐฯและสภาบนสหรัฐฯ
และผลปรากฎว่า ซอฟต์แวร์ตรวจจับทำงานผิดพลาด ระบุใบหน้าสมาชิกรัฐสภาคองเกรส 28 คนเป็นใบหน้าผู้ถูกจับกุมตัว โดยจากทั้งหมด 28 คนพบว่า มี 11 คนเป็นกลุ่มชนที่ไม่ใช่ผิวขาว ถือเป็นความผิดพลาด ถึงแม้ว่าในสภาคองเกรสจะมีสมาชิกที่ไม่ใช่ผิวขาวอยู่แค่ 20% นอกจากนี้ในกลุ่มที่ถูกระบุผิดพลาด มีสมาชิกคอคัสผิวดำ 6 คนรวมอยู่ในนั้น และผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนชื่อดังที่เป็นสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ จอห์น ลูอิซ (John Lewis) ยังถูกระบุว่าเป็นคนร้าย หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนรายงานวันที่้ 26 ก.ค 2018
นอกจากนี้ ในการศึกษาขององค์กรอิเล็กทรอนิก ฟรอนเทียร์ ฟาวเดชัน (Electronic Frontier Foundation) ที่ออกรายงานในวันที่ 15 ก.พ 2018 ชี้ว่า ระบบจดจำใบหน้านั้นคุกคามต่อเสรีภาพบุคคล และมีอคติต่อกลุ่มชนผิวสี โดยระบุว่า เทคโนโลยีนี้ตรวจจับผิดพลาดในกลุ่มแอฟริกันอเมริกัน ผู้หญิง และคนอายุน้อย เป็นอัตราที่สูงกว่ากลุ่มชายผิวขาวอายุมาก
————————————————————————
ที่มา : MGR Online / 26 มิถุนายน 2562
Link : https://mgronline.com/around/detail/9620000060916