ความชัดเจนของข้อมูลประวัติส่วนบุคคลนับว่ามีส่วนสำคัญสำหรับการใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคม เพราะหากพบข้อมูลประวัติว่าเคยกระทำความผิดหรือเคยได้รับโทษตามกฎหมายแล้ว ข้อมูลดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อผู้เป็นเจ้าของประวัติในแง่ใดแง่หนึ่ง เมื่อต้องนำมาใช้ประกอบการพิจารณา อย่างเช่น การบรรจุ แต่งตั้ง หรือว่าจ้างให้เข้ามาปฏิบัติงาน โดยเฉพาะในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีหลักการใช้ดุลพินิจถึงคุณสมบัติหรือความมีศีลธรรมอันดีตามแต่ที่หน่วยงานของรัฐนั้นกำหนดไว้เป็นการภายใน ถึงแม้จะมีการเอื้อโอกาสในทางกฎหมายและระเบียบราชการสำหรับผู้มีประวัติฯ ก็ตาม
กฎหมายและระเบียบราชการที่สำคัญ ซึ่งเอื้อโอกาสสำหรับผู้มีประวัติการกระทำความผิดตามกฎหมายหรือถูกพิพากษาให้ได้รับโทษ ได้แก่
1. พระราชบัญญัติล้างมลทิน จากขบวนการกระทำความผิดกฎหมาย วินัยทางราชการ จนกระทั่งได้รับการพิจารณา พิพากษาลงโทษนั้น สามารถแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนแรก คือ การกระทำความผิดจนถูกพิจารณาลงโทษ
ส่วนหลัง คือ การได้รับโทษตามกฎหมายหรือพ้นโทษมาแล้ว หรือถูกลงโทษจากความผิดต่าง ๆ ในส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ
การประกาศพระราชบัญญัติล้างมลทินนี้ก็เพื่อใช้กับขบวนการกระทำความผิดส่วนหลังเท่านั้นคือ การลบข้อมูลการได้รับโทษของผู้กระทำความผิดเสมือนไม่เคยได้รับโทษมาก่อน โดยที่ผู้กระทำความผิดนั้นได้รับโทษมาครบถ้วนแล้วหรือที่พ้นโทษไปแล้ว แต่สำหรับข้อมูลขบวนการกระทำความผิดส่วนแรกยังคงมีอยู่ ตัวอย่างเช่น ยังคงมีประวัติอาชญากรรมอยู่ที่กองทะเบียนประวัติอาชญากรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า เคยกระทำผิด แต่มีหมายเหตุว่าได้รับการล้างมลทินแล้ว สำหรับหน่วยงานของรัฐ บุคคลที่ล้างมลทินแล้วสามารถสอบเข้ารับราชการได้ เพราะตามคุณสมบัติของผู้จะสอบเข้ารับราชการ ต้องไม่เป็นผู้ที่ถูกศาลพิพากษาว่าต้องโทษมาก่อน แต่ในทางปฏิบัติ การตีความของแต่ละหน่วยงานของรัฐอาจแตกต่างกันตามดุลพินิจและคุณสมบัติที่กำหนดไว้ เพราะความผิดบางประเภทที่กระทำอาจทำให้ขาดคุณสมบัติหรือเป็นข้อบกพร่องที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี เช่น กระทำผิดด้วยคดีเกี่ยวกับเพศ ยาเสพติด (ในฐานะผู้ค้า) หรือเกี่ยวกับการยักยอกทรัพย์ เป็นต้น ความผิดเหล่านี้อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ไม่รับบรรจุ แต่งตั้ง หรือว่าจ้างของทางราชการ
เกี่ยวกับพระราชบัญญัติล้างมลทินนี้ ประเทศไทยมีการประกาศมาแล้ว 8 ฉบับ ล่าสุดคือ พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 ขอบเขตของพระราชบัญญัติล้างมลทินมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากที่ต้องศึกษา ซึ่งสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้จาก web page หลายแห่ง เช่น สำนักงาน ก.พ.(http://www.ocsc.go.th/discipline/) ตอบข้อหารือเกี่ยวกับวินัยข้าราชการพลเรือนตามพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ (ตั้งแต่ พ.ศ.2541-2545) หรือสถาบันพระปกเกล้า (http://wiki.kpi.ac.th/index.php) ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า เป็นต้น
2. ระเบียบว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เนื่องจากทะเบียนประวัติอาชญากรนับเป็นอีกฐานข้อมูลประวัติเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ศาลทำการเก็บข้อมูลจากการจัดพิมพ์ลายนิ้วมือ ลักษณะคดีความผิด และรายละเอียดข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ นามสกุล ฯลฯ ของผู้ถูกกล่าวหา ผู้ต้องหา จำเลย ผู้ต้องขัง ผู้ต้องกักขัง ผู้ถูกกักกัน ผู้รับการอบรม และศพ โดยส่งข้อมูลทั้งหมดเข้าสู่สารบบหรือฐานข้อมูลประวัติอาชญากรของกองทะเบียนประวัติอาชญากร และศูนย์พิสูจน์หลักฐาน หรือพิสูจน์หลักฐานจังหวัด อย่างไรก็ดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กำหนดหลักเกณฑ์การนำข้อมูลออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรด้วยการคัดแยกแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือและเอกสารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกำหนดไว้ในระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ.2554 ดังนี้
2.1 มีหลักฐานชัดเจนว่าเสียชีวิตแล้ว
2.2 ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
2.3 คดีที่พนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง หรือสั่งยุติการดำเนินคดีอาญาตามระเบียบว่าด้วยการดำเนินคดีของพนักงานอัยการ
2.4 ศาลสั่งยกฟ้องหรือไม่ประทับรับฟ้อง
2.5 ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง
2.6 พนักงานอัยการถอนฟ้องในชั้นศาล
2.7 เมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำความผิดยกเลิกความผิดนั้น
2.8 มีกฎหมายยกเว้นโทษ
2.9 มีคำพิพากษาของศาลให้รื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ว่า บุคคลนั้นไม่ได้กระทำความผิด
2.10 เป็นคดีลหุโทษหรือคดีที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าลหุโทษ หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก หรือความผิดตามกฎหมายอื่น ๆ ที่กำหนดให้มีโทษปรับสถานเดียว ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำการเปรียบเทียบปรับ หรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษปรับสถานเดียว
2.11 คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำผิด โดยศาลไม่ได้มีคำพิพากษาลงโทษถึงจำคุก หรือมีการเปลี่ยนโทษเป็นวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน เช่น เด็กหรือเยาวชนที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษปรับหรือมีคำสั่งให้ว่ากล่าวตักเตือน แล้วปล่อยตัวไป โดยไม่กำหนดเงื่อนไขการคุมความประพฤติเด็กหรือเยาวชนพ้นระยะเวลาการฝึกและอบรมตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลด้วยดีแลศูนย์ฝึก และอบรมเด็กหรือเยาวชนได้ออกใบบริสุทธิ์ให้เด็กหรือเยาวชนที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้รอการลงโทษ หรือรอการกำหนดโทษ โดยกำหนดเงื่อนไขการควบคุมความประพฤติ หรือภายหลังปล่อย แต่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้กำหนดเงื่อนไขการควบคุมความประพฤติต่อและสามารถพ้นการคุมความประพฤติด้วยดีตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด เป็นต้น
2.12 คดีตามกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่ออนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ให้ปล่อยตัวผู้ผ่านการฟื้นฟูสมรรถผู้ติดยาเสพติดแล้ว
ทั้งยังเพิ่มหลักเกณฑ์ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ดังนี้
2.13 คดีความผิดทุกประเภท ซึ่งศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษปรับสถานเดียว
2.14 คดีที่เป็นไปตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 หรือที่แก้ไขเพิ่มเติม
2.15 คดีเกี่ยวกับมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 86 และมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 หรือที่แก้ไขเพิ่มเติม
2.16 คดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่า ข้อกล่าวหาใด ไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหานั้นเป็นอันตกไป ซึ่งเป็นไปตามหมวด 8 มาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 หรือที่แก้ไขเพิ่มเติม
และได้แก้ไขหลักเกณฑ์ครั้งหลังสุดตามระเบียบว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 โดยระบุห้ามมิให้เปิดเผยข้อมูลประวัติอาชญากรที่คัดแยกออกจากสารบบไปแล้วตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ เช่น กฎหมายว่าด้วยศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว กฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เป็นต้น โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกพื้นที่จะได้นำระเบียบนี้ไปปฏิบัติ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้กลับมามีที่ยืนในสังคมและประกอบอาชีพที่สุจริตต่อไปได้
—————————————————————————————————————————————-
ผู้เขียน โดย : เกลียวพันธ์ ลีละศร
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการรักษาความปลอดภัย