ผู้เขียน :
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้คนส่วนมากมีเครื่องมือและโอกาสเท่าเทียมกันในการบรรลุจุดมุ่งหมาย ทั้งในเชิงสร้างสรรค์และทำลายล้างได้อย่างไม่น่าเชื่อ ความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ความเชื่อมโยง(connectivity) ของสิ่งต่างๆ ได้สร้างข้อได้เปรียบแก่ผู้ก่อการร้ายและพวกหัวรุนแรงสุดโต่ง ปฏิบัติการก่อการร้ายในอนาคตจะเป็นไปในโลกกายภาพ (physical world) และโลกเสมือน (virtual world) ตั้งแต่การชักชวนสมาชิกเข้าร่วม (recruitment) ไปจนถึงการลงมือปฏิบัติการ (implementation) ในแต่ละปีกลุ่มก่อการร้ายจะยังคงสังหารผู้คนจำนวนมากด้วยระเบิดหรือวิธีการอื่นๆ พวกหัวรุนแรงสุดโต่งจะมีทักษะทางเทคนิคเพิ่มขึ้นโดยพัฒนากลยุทธ์การชักชวน ฝึกอบรมสมาชิกและปฏิบัติการบนโลกเสมือน การเชื่อมโยงของเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลกจะทำให้เกิดความเข้าใจและเห็นการโจมตีทางไซเบอร์มากขึ้นในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน[1]
แม้ผู้ก่อการร้ายจำนวนหนึ่งมีความได้เปรียบ แต่เทคโนโลยีการสื่อสารทำให้ผู้ก่อการร้ายมีความเปราะบาง (ผู้ก่อการร้ายกลุ่มเล็กๆทั่วโลกอาศัยความได้เปรียบในโลกเสมือนเคลื่อนไหวดำเนินกิจกรรมทำลายล้าง ซึ่งยากที่จะตรวจพบ) แต่พวกเขาจำเป็นต้องกินอาหารและมีที่อยู่อาศัยในโลกกายภาพเพื่อใช้โทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ ในยุคดิจิตอลหน่วยงานความมั่นคงสามารถตรวจหาว่า ผู้ก่อการร้ายแยกการใช้เวลาอย่างไรในโลกเสมือนและกายภาพ แม้ผู้ก่อการร้ายมีความได้เปรียบในบางด้าน แต่สุดท้ายก็ทำพลาดและมีคนติดร่างแห ซึ่งทำให้การก่อความรุนแรงมีความยากลำบากมากขึ้น เชื่อว่าในอนาคตผู้ก่อการร้ายจะเปลี่ยนไปปฏิบัติการในโลกเสมือนมากขึ้นโดยผสานควบคู่กับโลกกายภาพ
ผู้ก่อการร้ายในอนาคตจะพบว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งจำเป็นแต่มีความเสี่ยงสูงมาก การเสียชีวิตของโอซามา บินลาเดน ผู้นำอัล-ไคดา ในปี 2011 ถือเป็นการสิ้นสุดยุคสมัยของการอยู่อาศัยในถ้ำอย่างแท้จริงของผู้ก่อการร้ายที่แยกตัวออกจากระบบนิเวศน์เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างน้อยเป็นเวลา 5 ปี โอซามาหลบเลี่ยงการถูกจับกุมโดยใช้ชีวิตแบบ off-line เพื่อความปลอดภัยเขาซ่อนตัวอยู่ในคฤหาสน์ใน Abbottabad ปากีสถาน โดยไม่ได้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์ แต่มีผลทำให้อิทธิพลและการเข้าถึงอัล-ไคดาลดลงอย่างมาก โอซามาใช้วิธีการสื่อสารข้อมูลด้วย flash drives, hard drives และ DVDs อุปกรณ์ดังกล่าวทำให้สามารถติดตามการปฏิบัติการของเครือข่ายอัล-ไคดาทั่วโลกและเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสำหรับคนนำสาร (couriers) ในการเคลื่อนย้ายข้อมูลจำนวนมากระหว่างโอซามาและเซลปฏิบัติการทั่วโลก ตราบเท่าที่โอซามายังคงหลบหนี ข้อมูลในอุปกรณ์จะปลอดภัยและไม่มีใครสามารถเข้าถึงได้ แต่เมื่อทีมหมายเลข 6 ของหน่วย SEAL กองทัพเรือสหรัฐฯจู่โจมบ้านพักของโอซามาและตรวจยึดอุปกรณ์ต่างๆ ไม่เพียงได้ตัวผู้ก่อการร้ายซึ่งเป็นที่ต้องตัวมากที่สุดในโลกเท่านั้น ยังได้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับบุคคลที่โอซามาเคยติดต่อด้วย
สถานการณ์ก่อการร้ายที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดในยุคดิจิตอลคือ ฉากทัศน์ (scenario) การก่อการร้ายที่คล้ายคลึงกับการโจมตีเมืองมุมไบของอินเดียเมื่อพฤศจิกายน 2008 โดยผู้ก่อการร้าย 10 คน สวมผ้าปิดหน้าพร้อมอาวุธปืน AK-47 รวมทั้งระเบิดขว้าง โจมตีเป้าหมายสถานีรถไฟ ศูนย์ศาสนาและวัฒนธรรมชาวยิว ร้านคาเฟและโรงแรมหรูระดับ 5 ดาว 2 แห่งในเมืองศูนย์กลางทางการเงินของอินเดียนานเกือบ 3 วัน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 164 คน บาดเจ็บอีกกว่า 300 คน ผู้ก่อการร้าย 9 ใน 10 คนถูกสังหาร มีเพียงนายโมฮัมเหม็ด อัชมาล อาเมียร์ คาซับ อายุ 21 ปี ถูกจับกุมดำเนินคดีและรับสารภาพในข้อหาอุกฉกรรจ์ 86 กระทง ทางการปากีสถานยังเพิ่งตั้งข้อหาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้อีก 7 คน นักวิเคราะห์เชื่อว่าสาเหตุการก่อการร้ายครั้งนี้มาจากปัญหาความขัดแย้งเรื้อรังในรัฐชัมมูและแคชเมียร์ ซึ่งอินเดียและปากีสถานแย่งกันครอบครอง[2]
ปฏิบัติการก่อการร้ายมุมไบ (26/11) ดังกล่าว ผู้ก่อการร้ายอาศัยอุปกรณ์เทคโนโลยีพื้นฐานสำหรับสินค้าผู้บริโภคได้แก่ โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อ Blackberrys แผนที่ Google Earth และการสื่อสารทางเสียงผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต (Voice Over IP) เพื่อประสานงาน อำนวยการโจมตีและสื่อสารระหว่างศูนย์ศูนย์บัญชาการในปากีสถาน โดยผู้สั่งการสามารถติดตามข่าวสารและการปฏิบัติการทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และอำนวยการปฏิบัติทางยุทธวิธีแบบทันท่วงที (real-time) เทคโนโลยีทำให้การโจมตีครั้งนี้มีความรุนแรงอย่างมาก แต่เมื่อสถานการณ์ยุติและผู้ก่อการร้ายที่รอดชีวิตถูกจับกุม ข้อมูลข่าวสารของผู้ถูกจับกุมและอุปกรณ์ของผู้ร่วมปฏิบัติการให้เบาะแสร่องรอยทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สืบสาวไปถึงบุคคลและสถานที่สำคัญในปากีสถานซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน[3]
สำหรับเหตุระเบิดที่กรุงเทพฯเช้าวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2019 คนกรุงเทพฯต้องเผชิญกับความวุ่นวายและความไม่สบายใจ เมื่อเกิดเหตุลอบวางระเบิดอย่างน้อย 9 จุด ใน 5 พื้นที่ ทำให้มีผู้บาดเจ็บเล็กน้อย 7 คน นับเป็นเหตุป่วนกรุงฯครั้งแรกในรอบ 2 ปีครึ่ง หลังจากไทยผ่านการเลือกตั้งและได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว[4]เมื่อควันระเบิดจาง แต่สังคมไทยยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุและมีความมุ่งหมายอะไร หลักฐานเชิงประจักษ์ที่นำไปสู่การออกหมายจับผู้ต้องสงสัย 2 คนที่มีพื้นเพมาจากจังหวัดนราธิวาส ทำให้เกิดสมมุติฐานที่ว่าเหตุระเบิดและไฟไหม้ดังกล่าว อาจเป็นการขยายพื้นที่การปฏิบัติการของกลุ่มบีอาร์เอ็น[5] ขณะที่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติระบุว่าแผนประทุษกรรมของผู้ก่อเหตุ “ไม่เหมือนกับโจรไทย” ส่วน อดีต รองแม่ทัพภาค 4 บอกผลงานของบีอาร์เอ็น[6]
เหตุการณ์นี้อาจไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการปฏิบัติการนอกพื้นที่ชายแดนใต้ ในวันส่งท้ายปีเก่าในปี 2006 ต่อเนื่องไปถึงกลางดึก มีเหตุระเบิด 8 จุดในกรุงเทพฯและนนทบุรีทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 รายและบาดเจ็บกว่า 15 ราย ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ต้องประกาศยกเลิกงานฉลองปีใหม่กลางคันทั้งที่มีผู้คนรอเคาท์ดาวน์อย่างหนาแน่น ข้อมูลการสอบสวนของตำรวจบ่งชี้ว่าผู้ต้องสงสัยเป็นกลุ่มจากชายแดนภาคใต้ แต่การสอบสวนยุติไปโดยไม่มีการดำเนินคดีกับใคร ผู้เขียน[7]เคยสัมภาษณ์คนในกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ยอมรับว่าตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการในครั้งนั้น การตัดสินใจไม่ดำเนินคดีกับใครอาจมาจากรัฐบาลของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ในขณะนั้นที่อาจเกรงว่าเรื่องนี้จะยิ่งสร้างความตระหนกให้กับประชาชน[8]
บทเรียนการก่อการร้ายในมหานครมุมไบของอินเดีย ซึ่งมีประชากรหนาแน่นอับดับ 4 ของโลก อาจใช้เป็นกรณีศึกษาสำหรับหน่วยข่าวกรองและหน่วยงานความมั่นคงของหลายประเทศที่มีเมืองสำคัญขนาดใหญ่ ในช่วงกลางตุลาคม 2008 สหรัฐฯได้แจ้งข่าวสารแก่รัฐบาลอินเดียว่า ข่าวกรองที่รวบรวมได้ในปากีสถานแจ้งเตือนว่า “ผู้ก่อการร้ายกำลังจะโจมตีเป้าหมายโรงแรมและศูนย์กลางธุรกิจในเมืองมุมไบ” แหล่งข่าวที่แจ้งเตือนเชื่อถือได้ แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดจำเพาะเกี่ยวกับผู้โจมตีและวิธีการ อาวุธที่ใช้และเป้าหมาย การขาดรายละเอียดทำให้ยากที่จะจัดลำดับความสำคัญ มอบหมายสั่งการเฝ้าระวังป้องกันเมืองขนาดใหญ่ จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยข่าวกรองและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่จะพิสูจน์ทราบโอกาสมากที่สุดของการโจมตีว่า จะเกิดขึ้นเมื่อใด (when) ที่ไหน (where) และอย่างไร (how)
[1] ERIC SCHMIDT and JARED COHEN (2013), The new digital age: Reshaping the future of people, nations and business. NEW YORK, US: VINTAGE BOOKS. p. 151-154
[2] ผู้สนใจรายละเอียดข้อมูลการวิเคราะห์อ่านได้ใน
– Sarah Miller Beebe and Randolph H. Pherson, (2014) Cases in Intelligence Analysis Structured Analytic Techniques in Action, Second Edition US SAGE Publications Inc.
– เหตุโจมตีในมุมไบ พ.ศ. 2551 วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี https://th.wikipedia.org/wiki/เหตุโจมตีในมุมไบ_พ.ศ._2551
– 1 ปีย้อนคดีโจมตีมุมไบ บวร โทศรีแก้ว ไทยรัฐ 30 พ.ย. 2552 https://www.thairath.co.th/content/49860
– มุมไบ : การก่อการร้ายระลอกใหม่ ศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ไทยโพสต์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 4419 วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม 2551 http://www.drprapat.com/มุมไบ-การก่อการร้ายระล/
[3] อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 1 p. 169-170
[4] ระเบิด กทม. : ย้อนอดีต 5 ปีระเบิดใหญ่ ล้วนชี้นิ้วไป “การเมือง” ชัยยศ ยงค์เจริญชัย ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย 3 สิงหาคม 2019https://www.bbc.com/thai/49220380
[5] จังหวัดชายแดนภาคใต้ : กระดุม 5 เม็ดในการแก้ไขปัญหาไฟใต้ รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิจัยอิสระด้านการจัดการความขัดแย้ง BBC ไทย 10 สิงหาคม 2019 https://www.bbc.com/thai/thailand-49290602
[6] ระเบิดกรุงเทพฯ : ผบ.ตร. ระบุ แผนประทุษกรรม “ไม่เหมือนกับโจรไทย” ส่วน อดีต รองแม่ทัพภาค 4 บอกผลงานบีอาร์เอ็น BBC ไทย 8 สิงหาคม 2019https://www.bbc.com/thai/thailand-49274203
[7] รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช เป็นนักวิจัยอิสระด้านการจัดการความขัดแย้ง ขณะนี้กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย
[8] อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 5
——————————————————–
Link : https://www.infoanalysis.info/2019/08/o2o-achilles-heel-2.html